ไขปริศนา “คำชะโนด” เกาะต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เคยจมน้ำ
มาจนถึงวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก”คำชะโนด” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งบ้านโนนเมือง ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานีที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวังนาคินทร์และฉากหลังของเรื่องลี้ลับมากมาย
เช่น “ผีจ้างหนัง” เปรียบเสมือนดินแดนอันเป็นหมุดหมายปลายทางของนักแสวงบุญและเสี่ยงโชคที่ต้องมาเยือนสักครั้งในชีวิต หลังม่านแห่งเชื่อ คำชะโนดคือป่าที่มีลักษณะเหมือนเกาะกลางน้ําที่เต็มไปด้วยต้นชะโนดซึ่งชาวบ้านที่นี่นับถือ แต่ไม่ค่อยมีใครได้ทำความรู้จักกับต้นไม้ชนิดนี้มากนัก เราจึงขอพาทุกท่านไปรู้จักกับต้นชะโนดแห่งคำชะโนดให้มากยิ่งขึ้น
คำชะโนด ชื่อเรียกที่คนเรียกันติดปากนั้นมาจาก 2 คำ คือ คำว่า”คำ”ในภาษาอีสานมาจากคำว่า”น้ำคำ” หมายถึงสถานที่ที่มีลักษณะอุดมสมบูรณ์ มีน้ำซับไหลอยู่ใต้ดินจนผุดออกมาเป็นปริมาณมากให้เห็นเป็นบ่อบนผิวดิน ผู้คนเรียกบ่อน้ำซับที่ไหลออกมาแห่งนี้ว่า”บ่อคำชะโนด” เชื่อว่าเป็นทางเชื่อมต่อสู่โลกบาดาลที่ปกครองโดยพญานาคราชเจ้าปู่ศรีสุทโธและเจ้าย่าศรีปทุมมานาคราชเทวี ส่วนคำว่า”ชะโนด” คือชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ทั่วทั้งเกาะแห่งนี้
ชะโนด เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ปาล์ม หรือ Arecaceae มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Taraw palm หรือ Ceylon oak มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Livistona saribus (Lour.) Merr. ex Cheval. เป็นต้นไม้พื้นถิ่นที่พบอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมถึงทั่วเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และแหลมปลายสุดของทวีปแอฟริกา ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีชื่อเรียกในท้องถิ่นนั้นๆ หลากหลายชื่อ เช่น ค้อพรุ หรือ จะทัง (สุราษฎร์ธานี) ค้อสร้อย (กรุงเทพฯ) ซือแด (ประเทศมาเลเซีย-นราธิวาส) และร็อก (ตรัง) ซึ่งเป็นชื่อที่นิยมใช้รองลงมาจากชื่อ ชะโนด
จุดเด่นคือใบขนาดใหญ่คล้ายใบตาลหรือใบสิเหรงที่คนภาคใต้นำมาใช้มุงหลังคา สามารถทำเสื่อหรือหมวกได้ ลำต้นผอมตั้งตรงสูงได้ถึง 40 เมตร ไม่แผ่กิ่งก้านทำให้สามารถปลูกในพื้นที่จำกัดได้ ส่วนของยอดลำต้นสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ แต่เช่นเดียวกับต้นไม้ตระกูลปาล์มส่วนใหญ่ที่เมื่อตัดยอดไปก็จะทำให้ต้นนั้นตายเพราะไม่สามารถแตกยอดใหม่ ส่วนก้านใบมีหนามแหลมนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดนตรีประเภทขลุ่ย อุปกรณ์ดักสัตว์และไม้กวาดได้ ดอกสีเหลืองเป็นช่อสามารถนำมาคั่นทำน้ำตาลสดได้เหมือนต้นตาลหรือมะพร้าว ผลเป็นทรงกลมรีขนาดประมาณ 2-2.5 เซนติเมตรมีสีน้ำเงินถึงม่วงเมื่อโตเต็มที่ ส่วนต้นอ่อนหรือผลนำมาดองในน้ำส้มสายชูหรือน้ำเกลือเพื่อรับประทานหรือเป็นเครื่องดื่มได้ แต่อย่างไรก็ตามยังค่อยมีการศึกษาถึงประโยชน์ด้านสมุนไพรที่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามความพิเศษทางภูมิศาสตร์ของคำชะโนดคือ “เกาะคำชะโนดไม่เคยจมน้ำ” แม้พื้นที่รอบๆจะมีน้ำท่วมเกือบทุกปีก็ตาม เหตุที่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าเกาะแห่งนี้เกิดจากกลุ่มหรือกอของต้นชะโนดและต้นไม้ลอยน้ำที่รากเกาะกันเป็นกลุ่มลอยน้ำอยู่เหนือผิวน้ำเป็นเวลานาน เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยหลายพันปี กลุ่มต้นไม้เหล่านี้เริ่มขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนและมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆทำให้จากกลุ่มกอน้ำไม้ลอยน้ำกลุ่มเล็กๆเริ่มมีพื้นที่ขนาดใหญ่และกลายเป็นเกาะอย่างในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันใต้เกาะคำชะโนดก็ยังเป็นกลุ่มรากต้นไม้ที่เลื้อยเกาะกันจนหนาแน่นและยังคงลอยน้ำอยู่เช่นเดิม ราวกับซ่อนความลี้ลับบางอย่างที่อยู่ลึกลงไปใต้เกาะคำชะโนดที่ยังไม่เคยมีผู้ใดได้ย่างกรายเข้าไปพิสูตร
ปัจจุบันต้นชะโนดในคำชะโนดเริ่มล้มตายเป็นจำนวนมากซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปริมาณคนที่เข้าไปใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่หรือการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำ จึงควรเร่งหาสาเหตุและแนวทางการอนุรักษ์ความสมบูรณ์และคุณค่าทางธรรมชาติของพื้นที่ต่อไป โดยสำหรับใครที่ต้องการไปสักการะหรือชมความสวยงามของคำชะโนด ปัจจุบันได้มีมาตรการและขั้นตอนที่ต้องทำดังนี้
- ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น “คำชะโนด” หรือ www.co-news.go/khamchanod/
- นำ QR-Code แสดงตนที่จุดคัดกรอง
- คัดกรองเพื่อรับบัตรเข้าสักการะ(เทอโมสแกน) สวมหน้ากาก
- สะแกนบัตรเข้าจุดพักคอยฟังคำแนะนำการเข้าสักการะ
- ล้างมือเข้าสักการะตามที่รอบที่กำหนด(กลุ่มละ 50 คน)
- ถอดรองเท้า-รับพานบายศรี-แสดงบัตร-เดินเรียงแถวเว้นระยะห่าง-พนมมือ-งดสัมผัส
- สักการะ 3 จุด จุดละ 5 นาที ฟังคำชี้แจงพนักงาน
- เดินออกจากคำชะโนด
- คืนบัตร-ล้างมือ
- เลือกซื้อสินค้าตามความต้องการ