เรื่องต้องรู้ในการสร้างโรงเรือน สำหรับปลูกผักและทำงานในสวน
การ ทำโรงเรือนปลูกผัก ในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลต้นกล้า กิ่งตอน กิ่งชำ ปลูกผัก ไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ ที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ
การ ทำโรงเรือนปลูกผัก ช่วยให้สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดนั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันมาก ๆ สภาพอากาศแปรปรวน มีการผันแปรของแสงแดด อุณหภูมิ ลม และปริมาณฝนไม่สม่ำเสมอ โรงเรือนคือตัวช่วยชั้นดีให้เราสามารถปลูกพืชได้โดยไม่ได้รับความเสียหาย
การสร้างโรงเรือนหลังเล็ก ๆ ไว้ข้างบ้าน ทั้งใช้ปลูกผักและไม้ดอกไม้ประดับมีประโยชน์หลายด้าน นอกจากใช้เป็นสถานที่เพาะเมล็ดพันธุ์ ขยายพันธุ์ และอนุบาลต้นกล้า ช่วยควบคุมและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช จึงสามารถผลิตพืชได้ทั้งปีโดยไม่ต้องอาศัยฤดูกาลตามธรรมชาติ สามารถวางแผนการผลิตได้ง่าย ช่วยป้องกันปัญหาโรคและแมลงรบกวนได้บางส่วน จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ทำให้ผลผลิตปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง รวมถึงช่วยปกป้องพืชให้ปลอดภัยจากสัตว์ต่าง ๆ ที่อาจเข้ามาทำลายพืช เช่น นก หนู กระรอก รวมทั้งสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว เป็นต้น
การปลูกพืชในโรงเรือนมีข้อดีอีกประการคือ สามารถติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น อุปกรณ์พยุงลำต้น อุปกรณ์แขวนผล เป็นต้น ติดตั้งเพียงครั้งเดียวสามารถใช้งานติดต่อกันได้หลายฤดูปลูก ทั้งยังช่วยป้องกันน้ำฝนลงไปเจือปนในสารละลายธาตุอาหารในกรณีปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ด้วย
นอกจากนี้ ยังจัดโรงเรือนเป็นมุมสวยงามโชว์ต้นไม้และใช้เป็นมุมพักผ่อนในสวน ใช้เป็นห้องเก็บของ เช่น เครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์การเกษตร รวมถึงใช้ทำงานเพาะปลูกและย้ายต้นไม้ต่าง ๆ ได้สะดวก มีพื้นที่เป็นสัดส่วน ช่วยให้เพลิดเพลินในการทำงานมากขึ้น
การจัดพื้นที่ ทำโรงเรือนปลูกผัก
ส่วนปลูกพืชในการ ทำโรงเรือนปลูกผัก
พื้นที่ส่วนปลูกพืชควรมีแสงส่องผ่านลงมายังต้นไม้ที่ปลูกได้ดี อาจจะเป็นแปลงปลูกลงดิน โต๊ะวางกระถางต้นไม้ ชั้นวาง หรือราวแขวนก็ได้ สิ่งสำคัญของส่วนปลูกพืชก็คือ ต้องเข้าไปใช้งานได้สะดวก ขนาดพอเหมาะให้ผู้ใช้งานสามารถเอื้อมมือถึงได้ทุกจุด พื้นที่ส่วนที่เป็นโต๊ะวางต้นไม้ควรมีลักษณะโปร่ง ระบายน้ำดี ส่วนใต้โต๊ะยังใช้เป็นที่วางถาดเพาะเมล็ดและอนุบาลต้นกล้าได้ หากโรงเรือนมีพื้นที่กว้างพอ สามารถแบ่งส่วนปลูกพืชเป็นส่วนย่อย ๆ เช่น ส่วนเพาะต้นกล้า อนุบาลต้นกล้า และปลูกพืชแยกกัน เพื่อควบคุมการระบาดของโรคและวางแผนการปลูกพืชได้ง่ายขึ้น
ส่วนทำงาน
ควรมีโต๊ะสำหรับทำงานปลูก อาจจะเป็นโต๊ะเดียวกับที่วางต้นไม้ก็ได้ แต่กั้นพื้นที่ให้สามารถทำงานได้สะดวก บนโต๊ะทำงานควรมีอ่างหรือถาดผสมดินปลูก และเว้นพื้นที่ด้านข้างสำหรับวางต้นไม้ที่นำมาเพาะหรือย้ายปลูก
ส่วนจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์
พื้นที่ส่วนนี้ควรจะแห้ง สะอาด และปูพื้นแข็งเพื่อป้องกันความชื้นที่จะทำให้วัสดุและอุปกรณ์เสื่อมสภาพ ส่วนจัดเก็บปุ๋ยและสารเคมีควรอยู่บนชั้นสูงพ้นจากเด็กและสัตว์เลี้ยง หรือเก็บไว้ในตู้มิดชิดไม่โดนแสงแดดโดยตรง ทำที่แขวน หรือจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ใส่กล่องหรือตะกร้าให้เป็นระเบียบ เพื่อจะหยิบมาใช้งานได้สะดวก อาจจัดพื้นที่ไว้บริเวณใกล้เคียงกันกับส่วนปลูกพืช แต่อยู่ในบริเวณที่ไม่ได้รับแสงมากนัก หรือสร้างแยกส่วนออกมาก็ได้ แต่ไม่ควรอยู่ห่างกันมากเพื่อให้ใช้งานสะดวก
โรงเรือนข้างบ้านมีแบบไหนบ้าง
การทำโรงเรือนข้างบ้านนั้นสามารถเลือกรูปแบบได้ตามความพอใจ แต่ควรคำนึงถึงการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูก หากไม่มีข้อจำกัดของพื้นที่ ควรตั้งโรงเรือนในทิศขวางตะวันหรือแนวเหนือ-ใต้ เพื่อให้ต้นไม้ได้รับแสงทั่วถึง ไม่บังแสงกันและกัน ภายในโรงเรือนมีอากาศถ่ายเทสะดวก
การสร้างโรงเรือนส่วนใหญ่มักจะมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ให้เหมาะกับการปลูกพืช แต่นอกจากนี้ยังมีโรงเรือนอนุบาลต้นอ่อน ซึ่งอาจมีเพียงแค่การกรองแสงหรือพรางแสงเพื่อรอย้ายปลูก สำหรับโรงเรือนเกษตรที่นิยมสร้างภายในบริเวณบ้าน อาจแบ่งออกเป็นรูปแบบต่าง ๆ ตามแบบหลังคาโรงเรือน ได้แก่ โรงเรือนหลังคาจั่ว โรงเรือนหลังคาจั่ว 2 ชั้น โรงเรือนหลังคาโค้ง และโรงเรือนหลังคาฟันเลื่อยหรือโรงเรือนทรง ก ไก่
โรงเรือนหลังคาจั่ว
เป็นรูปแบบโรงเรือนที่นิยมมากที่สุด เพราะไม่เพียงสวยงามเท่านั้น แต่ยังช่วยในการระบายอากาศ เนื่องจากโรงเรือนหลังคาจั่วที่สร้างในบ้านเรานิยมเปิดส่วนหน้าจั่วโล่งให้ความร้อนที่ลอยขึ้นสู่ด้านบนระบายออกไปด้านนอกได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีโรงเรือนหลังคาจั่ว 2 ชั้นหรือหลังคาต่างระดับ เพื่อช่วยในการระบายความร้อนได้มากขึ้น แม้ในช่วงฝนตกน้ำฝนก็ไม่สาดเข้ามาในโรงเรือน
โรงเรือนหลังคาจั่วเหมาะสำหรับพืชทุกชนิด ดูสวยงาม ทั้งยังสามารถจับคู่วัสดุในการทำโครงสร้างได้หลากหลายตามความต้องการของพืชที่ปลูก หากต้องการให้โรงเรือนโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี สามารถทำแบบไม่มีผนัง หลังคามุงวัสดุโปร่งแสง แต่หากปลูกพืชที่ต้องการความชื้นสูง อาจก่อผนังด้วยอิฐฉาบปูนครึ่งหนึ่งเพื่อป้องกันลมที่จะทำให้ใบฉีกขาดง่ายและรักษาความชื้นภายในโรงเรือนได้
โรงเรือนหลังคาโค้ง
เป็นรูปแบบโรงเรือนที่มีราคาถูกกว่ารูปแบบอื่น ทั้งยังสามารถประกอบเองได้ไม่ยาก โดยสร้างโรงเรือนหันไปทางทิศตะวันออกเพื่อให้แสงแดดส่องต้นพืชได้อย่างทั่วถึง โรงเรือนหลังคาโค้งนี้จะอาศัยลมธรรมชาติช่วยพัดความร้อนให้ไหลออกจากโรงเรือน แต่ข้อเสียคือความร้อนที่ลอยตัวขึ้นด้านบนจะไหลออกจากหลังคาได้ยาก
โรงเรือนหลังคาฟันเลื่อย
หลังคาโรงเรือนรูปแบบนี้ ด้านบนหลังคามีช่องเปิดกว้างทำให้ระบายอากาศดีขึ้น มีราคาสูงกว่าโรงเรือนหลังคาโค้ง โรงเรือนแบบนี้เรียกอีกชื่อว่า โรงเรือนทรง ก ไก่ ตามช่องระบายลมที่เป็นรอยหยัก
โรงเรือนตาข่ายไนลอน
นอกจากโรงเรือนเกษตรที่แบ่งออกเป็นรูปแบบต่าง ๆ ตามลักษณะหลังคาของโรงเรือนแล้ว บางท่านอาจทำโรงเรือนตาข่ายไนลอน ซึ่งนิยมใช้ปลูกพืชผักหรือเพาะเมล็ดต้นกล้า โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยป้องกันแมลงเป็นหลัก การปลูกผักในโรงเรือนตาข่ายไนลอนเหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการใช้สารฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หากต้องการปลูกเพื่อจำหน่ายควรเลือกโครงสร้างที่แข็งแรงทนทาน แต่การปลูกในบ้านสามารถใช้วัสดุที่หาง่าย ราคาไม่แพง เช่น ไม้ไผ่ ท่อพีวีซี หลังคามุงพลาสติกพอลิเอทิลีนเพื่อป้องกันฝน ด้านข้างกรุตาข่ายไนลอน ควรยึดตาข่ายให้ตึงและแน่น ตัวโรงเรือนไม่ควรตั้งขวางทางลม
การปลูกผักทั่วไปควรเลือกใช้มุ้งไนลอนแบบ 16 ตา เพราะสามารถถ่ายเทอากาศได้ดี แต่ไม่สามารถป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ทุกชนิด โดยเฉพาะแมลงขนาดเล็กมากยังสามารถหลุดลอดเข้าไปได้ หากใช้มุ้งไนลอนที่มีจำนวนตาถี่ 20-32 ตา แม้ว่าจะสามารถป้องกันแมลงได้มากขึ้น แต่มักจะส่งผลในเรื่องของอุณหภูมิ ความชื้น และการระบายอากาศภายในโรงเรือนที่ทำได้ไม่ดีนัก
อย่างไรก็ตาม วิธีการหนึ่งที่สำคัญในการปลูกผักในโรงเรือนคือ ตรวจสอบไม่ให้มีหนอนหรือไข่หลุดเข้าไปในโรงเรือนกับต้นกล้าพืช เพราะหนอนสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วจึงอาจเกิดการระบาดได้ง่าย นอกจากนี้ก็ควรหมั่นดูแล ตรวจสอบ และกำจัดแมลงขนาดเล็กอย่างสม่ำเสมอ ระวังไม่ให้ตาข่ายฉีกขาด อาจเสริมผ้าบริเวณที่มีการเสียดสีระหว่างตาข่ายกับโครงสร้างเพราะเป็นจุดที่บอบบาง
ชนิดผักที่เหมาะสมสำหรับปลูกในโรงเรือนตาข่ายไนลอน ได้แก่ ผักสลัด คะน้า ผักกาดขาว กวางตุ้ง ตังโอ๋ ปวยเล้ง ขึ้นฉ่าย วอเตอร์เครส ร็อกเก็ต กะหล่ำดอก บรอกโคลี ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา เมลอน แคนตาลูป พริกหวาน มะเขือเทศ มะเขือม่วง แตงกวาญี่ปุ่น เป็นต้น
ทำโรงเรือนปลูกผัก เพาะชำแบบ Hotbed และ Coldframe
เป็นโรงเรือนโครงสร้างขนาดเล็กและเตี้ย นิยมใช้เพาะเมล็ดและปักชำกิ่ง โดย Hotbed มีโครงสร้างเหมือนกระบะต้นไม้พร้อมฝาลาดเอียงปิดสนิท มีท่อนำความร้อนวางผ่านใต้ชั้นวัสดุทำให้อบอุ่น ใช้สำหรับงานขยายพันธุ์จำนวนไม่มากนัก ส่วน Coldframe หรือ Sunframe มีรูปแบบเดียวกับ Hotbed เพียงแต่ไม่มีท่อนำความร้อนใต้วัสดุ นิยมทำไว้กลางแจ้งเพื่อให้ได้รับความร้อนจากแสงแดดเป็นหลัก ภายในเก็บกักความชื้นได้ดี จึงใช้สำหรับเลี้ยงต้นกล้าขนาดเล็กหรือกิ่งชำที่ออกรากแล้วให้สามารถปรับตัวได้ก่อนย้ายปลูกกลางแจ้งต่อไป รูปแบบโรงเรือนลักษณะนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานเป็นกระบะเพาะชำ ขยายพันธุ์ และอนุบาลต้นกล้าในบ้านเราได้เป็นอย่างดี ทั้งยังทำรูปแบบให้สวยงามสำหรับตกแต่งสวนได้ด้วย
Tips
หากเริ่มต้น ทำโรงเรือนปลูกผัก ในครั้งแรกควรสร้างโรงเรือนตามต้นทุนที่มี โดยเลือกใช้วัสดุราคาถูกในระยะเริ่มต้น แต่ต้องมีคุณภาพดีและแข็งแรง และเผื่อส่วนขยายหรือต่อเติมหากมีจำนวนต้นไม้มากขึ้น เพื่อให้รูปแบบโรงเรือนที่จะสร้างเพิ่มเติมดูเป็นภาพรวมเดียวกัน
สำหรับการสร้างโรงเรือนในพื้นที่จำกัด ควรจัดการพื้นที่ในโรงเรือนให้จัดเก็บต้นไม้ได้มากที่สุด อาจเพิ่มชั้นวางต้นไม้ กำหนดระยะวางโต๊ะหรือรูปแบบโต๊ะวางต้นไม้ รวมทั้งควรแยกส่วนเก็บวัสดุอุปกรณ์ออกมาเพื่อไม่ให้เสียพื้นที่ปลูกเลี้ยงต้นไม้
การปลูกผักในโรงเรือนควรปลูกผักต่างชนิดหมุนเวียนกัน ผักที่ปลูกแต่ละรุ่นควรมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวออกจากโรงเรือนได้พร้อมกัน เพื่อให้สามารถพักโรงเรือนก่อนปลูกพืชชนิดใหม่ จะช่วยลดการสะสมโรคและแมลง รวมทั้งลดปัญหาการระบาดของศัตรูพืชได้
อย่างไรก็ตาม การทำโรงเรือนปลูกผักนั่น มีต้นทุนในการก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังอาจเป็นอุปสรรคต่อการผสมเกสรของพืช เนื่องจากแมลงธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อการผสมเกสรไม่สามารถเข้าไปช่วยผสมได้ พืชในโรงเรือนระบบปิดจึงจำเป็นต้องใช้แรงงานคนช่วยผสมเกสร หรือปล่อยแมลงที่มีประโยชน์เข้าไปในโรงเรือน อีกทั้งหากต้องการโรงเรือนที่สวยงามสำหรับใช้ตกแต่งสถานที่ด้วยในตัว ควรให้ความสำคัญกับรูปแบบโรงเรือนด้วย
สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับโรงเรือนได้เพิ่มเติมในหนังสือ Garden & Farm Vol.10 โรงเรือนข้างบ้าน โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน