ชม บ่อปลาคาร์ปในสวนญี่ปุ่นร่วมสมัย ท่ามกลางบรรยากาศที่แสนสงบและอบอุ่น

บ่อปลาคาร์ปหมายเลข 8 ในสวนญี่ปุ่นร่วมสมัย

สวนญี่ปุ่นร่วมสมัยที่มีหัวใจอยู่ที่บ่อปลาคาร์ป โดยลงทุนวางระบบต่างๆอย่างละเอียด เพื่อให้ปลามีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมแนวคิดในการจัดสวนที่เน้นความสงบร่มรื่นอิงธรรมชาติ  ขณะเดียวกันก็สร้างสเปซและเส้นสายต่าง ๆ ให้ดูเรียบง่าย  แต่เปี่ยมด้วยความอบอุ่น

ออกแบบจัดสวน : Murraya Garden โดยคุณฐาปนิต โชติกเสถียร

เจ้าของ : คุณพิริยรัชต์ ภัทรกิตต์เกษม

บ่อปลาคาร์ปในสวนญี่ปุ่นร่วมสมัย

“ปลาคาร์ปที่มีลักษณะดีจะมีราคาสูง คือ มีโครงสร้างส่วนสะบักหลังใหญ่ สีสันและลวดลายบนลำตัวชัดเจน มีลักษณะการว่ายน้ำที่สมดุล” คุณเอกพิริยรัชต์ ภัทรกิตต์เกษม เจ้าของบ้าน ชี้ชวนให้เราดูปลาคาร์ปสวย ๆ ที่ว่ายวนไปมาในบ่อ “หลังฝนตกสังเกตว่าน้ำในบ่อจะเกิดฟองบนผิวหน้า  เนื่องจากค่า pH ของน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทำให้ปลาขับเมือกออกมา เราจึงต้องหาวิธีขจัดเมือกเหล่านี้ด้วยระบบกรองที่ดี”

บ่อปลาคาร์ปในสวนญี่ปุ่นร่วมสมัย

บ่อปลาคาร์ปในสวนญี่ปุ่นร่วมสมัย

คุณเอกเกริ่นนำว่า เริ่มเลี้ยงปลาคาร์ปมานานกว่าสิบปี เคยส่งปลาเข้าประกวดได้รับรางวัลจากเวทีต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง แต่หลังจากนั้นก็ได้ชะลอการเลี้ยงลง เมื่อถูกถามถึงสาเหตุ คุณเอกเล่าว่าแม้จะได้ปลานำเข้าที่มีลักษณะสวยงามถูกใจมาเลี้ยง แต่หากระบบกรองที่มีอยู่ไม่เอื้ออำนวย ก็ทำให้ปลาที่มีคุณภาพเหล่านี้เกิดโรคและไม่สวยงามตามที่คาดหวังไว้ จนเมื่อสองปีก่อนงานระบบบ่อเลี้ยงปลาในเมืองไทยเริ่มพัฒนาขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก มีผู้นำเข้าอุปกรณ์ที่มีคุณภาพมาจำหน่ายกันมากขึ้น ทำให้คุณเอกหันมาสนใจเรื่องการเลี้ยงปลาคาร์ปอีกครั้ง เริ่มจากรีโนเวตบ่อปลาและสวนไปพร้อม ๆ กัน

ซึ่งในเรื่องของสวนนั้นยกให้ คุณไม้ฐาปนิต โชติกเสถียร จาก Murraya Garden เป็นผู้เสนอแนวคิด ภายใต้กรอบของความเป็นสวนญี่ปุ่น ส่วนเรื่องงานระบบนั้นได้มอบหมายให้ คุณมดเอ็กซ์ รัฐพล สายวิรุณพร  จาก www.koi2u.com เป็นผู้วางระบบให้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งสองก็ได้ทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อให้ผลงานสวนและบ่อออกมาสวยงาม และเลี้ยงปลาได้อย่างดีมีคุณภาพตามที่เจ้าของบ้านต้องการ

สวนญี่ปุ่น

สวนญี่ปุ่น

บ้านหลังนี้สร้างอยู่บนเนื้อที่ 180 ตารางวา เป็นพื้นที่สวนประมาณหนึ่งในสามส่วน ในส่วนของอาคารนอกจากตัวบ้านแล้ว มีเรือนรับรองเล็กๆแยกออกมาอีกหนึ่งหลังบริเวณสวนด้านใน ซึ่งตำแหน่งของบ่อปลาอยู่ระหว่างตัวบ้านและเรือนรับรองนี้ คุณไม้ได้วางแนวคิดของสวนในรูปแบบสวนญี่ปุ่นร่วมสมัยที่สงบร่มรื่นอิงธรรมชาติ  ขณะเดียวกันก็สร้างสเปซและเส้นสายต่าง ๆ ให้ดูเรียบง่าย ภาพรวมจึงเน้นสีเขียวของพรรณไม้และสีดำของวัสดุอย่างหินที่ใช้เป็นองค์ประกอบหลักในสวนที่ช่วยเสริมให้ตัวบ้านโดดเด่นขึ้น

เมื่อฟังก์ชันของสวนถูกกำหนดโดยพื้นที่ซีงมีลักษณะเป็นรูปตัวแอล (L) การออกแบบจึงเริ่มจากบริเวณโซนหน้าบ้าน ซึ่งเปรียบเสมือนโถงต้อนรับ สร้างความประทับใจแรก ด้วยทางเดินรูปแบบต่าง ๆ ในสวนญี่ปุ่น ริมรั้วออกแบบให้มีเนินมอสส์ และองค์ประกอบอย่างก้อนหิน อ่างหิน นกกระสา และต้นสวีทกัมที่มีลักษณะคล้ายเมเปิ้ล โดยมีฉากหลังเป็นแนวรั้วไม้ไผ่ ที่ช่วยสร้างขอบเขตให้สวน

เมื่อผ่านซุ้มโทริอิเข้ามายังโซนสวนด้านใน จะเจอกับหัวน้ำตกซึ่งสร้างกระแสน้ำวนก่อนไหลลดหลั่นลงไปยังบ่อปลาด้านล่าง  บริเวณนี้ยังมีสนามหญ้าในพื้นที่เล็ก ๆ และทางเดินที่ต่อเนื่องมายังสะพานข้ามบ่อ รูปทรงของบ่อเลี้ยงปลาออกแบบคล้ายหมายเลข 8 ขอบบ่อใช้วัสดุทรายล้างสีดำ รอบบ่อมีทางเดินธรรมชาติ และรั้วไม้ไผ่เตี้ยขนานไปกับตัวบ้าน

สวนญี่ปุ่น

นักออกแบบได้วางจังหวะของกลุ่มพรรณไม้ให้เกิดสเปซที่โปร่งตา โดยเน้นต้นไม้ขนาดกลางที่มีรูปทรงสวย ทั้งทรงตั้งตรงสำหรับปลูกเป็นกลุ่มและทรงเอนชายสำหรับปลูกเดี่ยว ซึ่งมีทั้งกลุ่มสน และกลุ่มไผ่ ช่วยเพิ่มจุดสนใจให้กับมุมสวนได้เป็นอย่างดี คัดเลือกต้นทรงสวยปลูกไว้บริเวณหัวน้ำตก และส่วนท้ายบ่อ

บ่อนี้ปรับปรุงจากบ่อเลี้ยงปลาเดิมให้มีขนาดใหญ่เกือบเต็มพื้นที่ เนื่องจากเจ้าของบ้านต้องการเผื่อพื้นที่ไว้สำหรับรองรับปลาในอนาคต ทั้งต้องการให้ปลาได้น้ำที่มีคุณภาพจึงวางระบบต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบ  การลงทุนกับบ่อครั้งนี้คุณเอกมองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพื่อให้ปลามีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งส่งผลให้ทุกคนในบ้านมีความสุข ท่ามกลางบรรยากาศสวนที่สงบและอบอุ่นแห่งนี้

รวมความรู้เรื่องระบบบ่อเลี้ยงปลาที่สมบูรณ์ที่สุด บ่อปลาในสวนรูปแบบต่างๆ พร้อมงบประมาณการทำบ่อและงานระบบ ติดตามอ่านได้ในหนังสือ “บ่อปลาในสวนสวย” คลิกสั่งซื้อที่นี่


เรื่อง : ทิพาพรรณ ศิริเวชฎารักษ์

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม    บ่อปลาคาร์ปในสวนญี่ปุ่นร่วมสมัย

ความสุขในสวนญี่ปุ่นที่มีบ่อปลาเป็นหัวใจหลัก

สวนญี่ปุ่นในมุมเล็กๆ พร้อมแนะนำพรรณไม้ในสวน