เยี่ยมแหล่งสะสมไม้ใบของคุณเสวกและคุณศิริวิทย์ ริ้วบํารุง และเคล็ดลับการดูแล
แฟนประจํา “บ้านและสวน” หลายท่านคงคุ้นเคยกับชื่อของ คุณวิทย์ – ศิริวิทย์ ริ้วบํารุง นักจัดสวนมากฝีมือผู้มีผลงานลงในนิตยสารหลายฉบับ รวมถึงเป็นเจ้าของร้าน Little Tree และ Whispering Cafe กันดี การเติบโตมาพร้อมกับสวนกล้วยไม้ของคุณพ่อ รวมถึงการส่งประกวดต้นไม้ตั้งแต่เด็ก เป็นจุดเริ่มต้นที่ทําให้คุณวิทย์ชื่นชอบและหลงใหลต้นไม้ สะสมไม้ใบดูร่มรื่น เต็มไปด้วยไม้ใบและเฟินหลากหลายชนิด
“ผมโตและผูกพันกับต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก ในสวนกล้วยไม้ของคุณพ่อ (คุณเสวก ริ้วบํารุง)มีโอกาสได้เห็นต้นไม้แปลกๆ จากการประกวดต้นไม้เลยทําให้รู้สึกชอบ ต้นไหนที่เราไม่มีก็รู้สึกอยากมีบ้าง ผมชอบทั้งไม้ดอกและไม้ใบ แต่ที่บ้านส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ร่ม มีข้อจํากัดเรื่องแสง ไม้ใบจึงเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของที่นี่มากกว่า
“ต้นที่ผมสะสมมีเฟิน ฟิโลเดนดรอน อโลคาเซีย และหน้าวัวใบ ที่นี่มีไม้ลูกผสมหลากหลาย ทําให้เราได้ต้นแปลกใหม่ไม่เหมือนที่อื่น หลายครั้งเราได้ต้นแปลกๆ จากการขยายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นการผสมเกสร เพาะเมล็ดพันธุ์ หรือเกิดจากสปอร์โดยไม่ได้ตั้งใจ นี่แหละคือสีสันของการเล่นต้นไม้ แต่หลังๆ มานี้ผมหันมาสะสมเฟินเป็นพิเศษ เนื่องจากวันหนึ่งมีเซียนต้นไม้ท่านหนึ่งเข้ามาถามผมว่านี่เป็นเฟินอะไร ทําไมเขาไม่มี ก็กลายเป็นจุดสนใจให้มีบรรดาเซียนต้นไม้แวะมาที่นี่บ่อยๆ
“ถึงตอนนี้ก็ประมาณ 20 ปีแล้วที่ผมสะสมเฟินและไม้ใบ ความรู้ส่วนใหญ่ได้จากการลองผิดลองถูก คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเฟินต้องเลี้ยงในที่ที่มีอากาศชื้นอย่างภาคเหนือ แต่ความจริงแล้วในกรุงเทพฯ ก็สามารถเลี้ยงได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องแสงและการให้น้ําที่เหมาะสม เฟินจะเลี้ยงในที่ร่มมากก็ไม่ดี ควรเป็นพื้นที่ที่มีแสงรําไร เพราะถ้าอยู่ร่มเกินไป ฟอร์มจะไม่ค่อยสวย แต่ก็มีบางต้นที่ปลูกกลางแจ้งแล้วใบกลับเป็นพุ่มแน่นกว่าต้นที่อยู่ในร่ม สําหรับการให้น้ําควรให้วันละครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแสงแดดด้วย ถ้าช่วงไหนแดดจัดมากๆ อาจรดน้ําให้มากกว่าเดิมหน่อย
“การดูแลไม้ใบชนิดต่างๆ ของที่นี่จะใช้วัสดุปลูกเป็นกาบมะพร้าวสับหรือขุยมะพร้าว เพราะน้ําหนักเบากว่าดิน และบํารุงด้วยการใส่ปุ๋ยสูตรละลายช้าทุก 2 – 3 เดือน ส่วนการขยายพันธุ์กับการทําลูกผสมต่างๆ ส่วนใหญ่คุณพ่อเป็นผู้จัดการ และผมจะคัดเลือกพันธุ์อีกที คนที่เลือกต้นไม้เก่งต้องตาดีและช่างสังเกตว่า ต้นไม้ที่เพาะได้มีลักษณะแตกต่างหรือพิเศษอย่างไร ซึ่งจริงๆ คุณพ่อผมเพาะต้นไม้ได้เก่งมาก และมักได้ลูกผสมตัวใหม่ๆ สวยๆ เสมอ”
สิ่งสําคัญที่คุณวิทย์เน้นย้ํากับเราคือ ผู้ที่จะปลูกต้นไม้ต้องเป็นคนใจเย็น ดูแลเอาใจใส่ด้วยใจรักเมื่อถึงเวลาที่ต้นเติบใหญ่เต็มที่ เราก็จะได้เห็นและสัมผัสถึงความสวยงามที่มนุษย์ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้อย่างแน่นอน
Owner’s Tips
– วัสดุปลูกที่แนะนําคือ เม็ดดินเผา หินภูเขาไฟ ขุยมะพร้าว และกาบมะพร้าว จะให้ความโปร่งได้ดีกว่าดินที่มักอัดตัวแน่นเวลารดน้ํา
– การปลูกหน้าวัวใบ แนะนําให้ใช้กาบมะพร้าวสับชิ้นใหญ่ดีกว่าแบบสับละเอียด เพราะอย่างหลังเวลารดน้ําบ่อยจะทําให้เปื่อยยุ่ยเร็ว
– การให้ปุ๋ยไม้ใบแนะนําว่า ควรละลายน้ําก่อนเพื่อลดความเข้มข้นที่มากเกินไป
– โรงเรือนไม้ใบควรพรางแสงประมาณ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงที่มีฝนตกนอกฤดู มักนํามลพิษที่อยู่ในชั้นบรรยากาศลงมาด้วย ทําให้น้ําเป็นกรด วิธีแก้คือ ควรรีบรดน้ําตามทันทีเพื่อล้างใบและป้องการโรคทางใบที่อาจมากับน้ําฝนได้
– อโลคาเซียจะขยายพันธุ์ด้วยการตัดหน่อ เสร็จแล้วให้ทาปูนแดงยับยั้งเชื้อ เพื่อไม่ให้เกิดการเน่าและป้องกันแมลงศัตรูพืช
– การเก็บเมล็ดหน้าวัวต้องสังเกตว่าผลมีลักษณะสุกแดง อาจห่อด้วยตาข่ายโปร่ง เพื่อป้องกันนกหรือหนูมาแทะ ส่วนการเพาะเมล็ด ให้นําเมล็ดไปแช่น้ํา จากนั้นบี้เอาเม็ดในออกมา นําไปเพาะในขุยมะพร้าวที่แช่น้ําจนเปียก แล้วนําไปใส่ถุงที่ปิดสนิท ทิ้งไว้ประมาณ 1 – 2 เดือน
เรื่อง : “อิสรา สอนสาสตร์”
ภาพ : ชัยพฤกษ์ โพธิ์แดง