สวนมินิมัลที่ดูแลง่าย ในพื้นที่สวนประมาณ 60 ตารางเมตร- บ้านและสวน

สวนมินิมัลที่ดูแลง่ายและสบายตา ในพื้นที่สวนประมาณ 60 ตารางเมตร

Less is more น้อยแต่มาก” ดูจะเป็นวลีอมตะไปเสียแล้วสำหรับการออกแบบ ไม่เว้นแม้กระทั่งการจัดสวนภายในหมู่บ้านจัดสรรย่านบางบัวทองของ คุณธัญดา หะยีวัฒน์ ซึ่งตั้งอยู่ที่สุดถนน โดดเด่นด้วยต้นไม้สูงดูสบายตารับกับตัวบ้านขนาดกะทัดรัด ภายในจัดเป็นสวนสไตล์มินิมัลที่ดูแลง่าย เรียบร้อย โล่ง และสบายตา จากฝีมือการออกแบบของ คุณยุ้ย-ศิรเมศร์ จิรโพธิสิทธิ์ แห่งบริษัทดีไซน์สวนสบาย จํากัด

เจ้าของ : คุณธัญดา หะยีวัฒน์

ออกแบบ : บริษัทดีไซน์สวนสบาย จํากัด โดยคุณศิรเมศร์ จิรโพธิสิทธิ์

เดิมเฉลียงหน้าบ้านมีขนาดเล็กเท่ากับแนวเสาบ้าน จึงไม่สามารถใช้นั่งเล่นหรือพักผ่อนทำกิจกรรมได้หลากหลาย ผู้ออกแบบได้ต่อระเบียงให้กว้างขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัวด้วยพื้นไม้เทียมที่ทนทานและให้สีสันเหมือนไม้ธรรมชาติ
มองจากนอกบ้านจะเห็นว่าสวนดูโล่งสบายตาด้วยการปลูกไม้ยืนต้นรูปทรงโปร่งอย่างพะยูงและโมกมัน ทำให้มองเห็นรูปแบบสวนและองค์ประกอบอื่นๆที่เข้ากับบรรยากาศความสบายของบ้าน
ความต้องการของเจ้าของบ้านคืออยากให้สวนดูสวยงามและใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ จึงออกแบบสวนให้โดดเด่นด้วยงานฮาร์ดสเคป ทั้งศาลาที่เป็นไฮไลต์รับกับหลังคาที่จอดรถซึ่งต่อเติมโดยใช้โครงสร้างเสาทั้งสี่เสารับน้ำหนักหลังคา และไม่เชื่อมกับโครงสร้างบ้าน

“เจ้าของบ้านกำหนดไอเดียให้คร่าวๆว่าอยากมีองค์ประกอบอะไรตรงไหนบ้าง ตามความต้องการด้านฟังก์ชัน คุณธัญดาพาเดินชี้เลยว่าภาพสวนในจินตนาการเป็นอย่างไรบ้าง เช่น อยากมีศาลาอยู่บริเวณหน้าบ้าน อยากมีเฉลียงที่เชื่อมทุกจุดไว้ด้วยกัน ส่วนหลังบ้านอยากมีครัวขนาดเล็กสำหรับทำเบเกอรี่และมีพื้นที่อเนกประสงค์ด้านหลัง” คุณยุ้ยเล่า

ขั้นตอนแรกของการออกแบบคือการหาตำแหน่งของศาลา จนมาลงตัวที่รูปแบบศาลาหันหน้าเข้าหาตัวบ้าน ด้วยขนาดพื้นที่ซึ่งไม่ใหญ่มากจึงต้องดันศาลาให้ชิดขอบรั้วริมสุด ก็จะเหลือพื้นที่สำหรับออกแบบกระบะปลูกต้นไม้ ม้านั่ง และฉากผนังไว้ที่บริเวณขอบมุมรอบๆศาลา โดยใช้รูปทรงเรขาคณิตมาซ้อนๆ ให้ลดหลั่นกันไปจนเกิดรูปทรงเฉพาะตัว พยายามเชื่อมโยงฟังก์ชันทุกอย่างเข้าหากัน มีสนามหญ้าอยู่ตรงกลาง อีกทั้งยังใช้วัสดุปูพื้นต่างผิวสัมผัสร่วมกัน ขณะที่ยังคุมโทนสีธรรมชาติที่ดูอบอุ่น

งานฮาร์ดสเคปรูปทรงเรขาคณิตไล่ระดับลดหลั่นกันตามลักษณะที่ลดทอนมาจากน้ำตกในธรรมชาติ ทำหน้าที่เป็นทั้งน้ำตก ม้านั่ง กระบะต้นไม้ และผนังฉาก โดยปลูกพุดกังหันซึ่งเอนเข้าหากันเป็นซุ้มเลียนแบบต้นไม้ในธรรมชาติ
ออกแบบศาลาให้อยู่บริเวณหน้าบ้าน ทำให้เจ้าของบ้านเดินออกไปใช้งานบ่อยที่สุด โดยมักมานั่งรับลมในช่วงเช้าที่แสงแดดยังส่องไล่มาไม่ถึง เป็นเหมือนห้องนั่งเล่นอีกห้องหนึ่งที่เพิ่มเติมการใช้งานมาจากพื้นที่ภายในบ้าน
อีกหนึ่งความต้องการของเจ้าของบ้านคืออยากได้สวนที่ดูแลง่าย โดยเฉพาะเรื่องการทำความสะอาด แต่ก็ควรมีร่มเงาของต้นไม้บ้าง ในสวนจึงเลือกปลูกไม้ยืนต้นกิ่งโปร่งที่ใบร่วงไม่เยอะ ประกอบกับพื้นสวนที่เรียบจึงสามารถกวาดเก็บใบไม้ร่วงได้ง่าย

“เราพยายามออกแบบทุกสวนให้มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำกิจกรรมได้ แม้จะไม่ได้ใช้งานบ่อย แต่พื้นที่ดังกล่าวจะทำให้เกิดมุมมองที่โล่งตรงกลาง เมื่อทุกอย่างชิดรอบรั้วและปล่อยที่ว่างตรงกลาง ก็ทำให้สวนดูโล่งสบายตาทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน” คุณยุ้ยเล่า

หลังจากทำโครงฮาร์ดสเคปเสร็จแล้วก็พอมองเห็นว่าสวนนี้จะต้องปลูกต้นไม้ชนิดไหนจากความต้องการร่มเงาและช่วยเรื่องมุมมองที่สวยงามในจุดต่างๆ คุณยุ้ยใช้วิธีเสนอต้นไม้ที่คิดว่าเหมาะสมในมุมต่างๆมาให้คุณธัญดาได้เลือกเอง มุมละประมาณ 5 ชนิด ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของกับผู้ออกแบบ เพื่อความพึงพอใจของทุกฝ่าย ยกเว้นบางต้นซึ่งจำเป็นต้องปลูกเพราะความเหมาะสมและข้อจำกัดของพื้นที่บริเวณนั้น

คุณธัญดาอยากได้บรรยากาศของการเดินข้ามสะพานไปนั่งเล่นยังบริเวณศาลา ผู้ออกแบบจึงใช้ทางเดินตรงจากระเบียงหน้าบ้านผ่านสวนและบ่อน้ำตกไปยังศาลา โดยใช้ความต่างกันของวัสดุปูพื้นสร้างความรู้สึกเหมือนเป็นสะพาน
ออกแบบฉากหลังศาลาด้วยโครงเหล็กเคลือบกันสนิมทาสีดำ ใช้ระแนงไม้เป็นฉากพรางตาเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวและกันแดด ในขณะที่ช่องเปิดนี้ยังช่วยให้ลมพัดผ่านได้สะดวก สร้างบรรยากาศที่น่าสบายตลอดทั้งวัน
สนามหญ้าขนาดเล็กบริเวณหน้าบ้านช่วยลดทอนความแข็งของพื้นทางเดินและงานฮาร์ดสเคปส่วนใหญ่ในสวนลงได้ และด้วยขนาดพื้นที่สนามที่ไม่ใหญ่จนเกินไปทำให้สามารถตัดแต่งและดูแลได้ไม่ยาก
บริเวณข้างบ้านมีประตูกระจกที่สามารถนั่งรับประทานอาหารและเปิดประตูจากภายในบ้านออกมาใช้งานได้เลย จึงออกแบบเป็นมุมนั่งเล่นที่มีฉากระแนงไม้พรางตาเพื่อความเป็นส่วนตัวและเกิดมุมนั่งเล่นที่เป็นช่องลมผ่าน

“เราอยากได้สวนที่ดูแลและทำความสะอาดง่าย แต่ก็ยังมีร่มเงาของต้นไม้ ใบร่วงไม่เยอะ อยากได้ศาลา บ่อปลา และน้ำตก เราอยากได้บรรยากาศของการเดินข้ามสะพานไปศาลาหน้าบ้าน ก็เลยบอกให้คุณยุ้ยออกแบบมาเลย ตรงไหนที่เราไม่โอเคก็บอกเขาว่าเราอยากเพิ่มหรือลดตรงไหนบ้าง พอสวนเสร็จสมบูรณ์กลายเป็นว่าเราใช้งานสวนบ่อย เปิดประตูออกไปก็สามารถนั่งรับลมในช่วงเช้า สวนออกมาสวยถูกใจมาก ดูสะอาดและโปร่งตามต้องการ” คุณธัญดาเล่า

ด้วยความที่ตำแหน่งของบ้านหันไปทางทิศตะวันตก สวนจึงต้องทำหน้าที่ช่วยแก้ปัญหา เพราะเป็นทิศที่มีแดดยามบ่ายค่อนข้างแรง ผู้ออกแบบเลือกใช้ฉากบังตาที่ศาลาเพื่อพรางแสงแต่ลมยังสามารถผ่านเข้ามาในสวนได้ตลอดทั้งวัน นอกจากนี้หลังบ้านช่วงบ่ายที่ได้ร่มเงาของตัวบ้านก็ออกแบบโดยเน้นดูแลง่ายและใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทำให้เจ้าของบ้านสามารถนั่งรับประทานอาหารและเปิดประตูจากในบ้านออกมาใช้งานได้เลย

สวนสวยแห่งนี้จึงถือเป็นสวนในฝันที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ทั้งยังไม่จำเป็นต้องดูแลมาก จนทำให้เจ้าของบ้านมีเวลาออกมานั่งเล่นและใช้ประโยชน์ได้ตามต้องการ

หลังบ้านเป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับรองรับกิจกรรมอื่นๆ ทั้งซักล้างและรับประทานอาหาร จึงออกแบบให้เป็นที่นั่งยาวในสวนโดยมีกระบะปลูกที่ทำหน้าเป็นทั้งพื้นที่สีเขียว ฉากหลังของสวน และรั้วบ้านไปด้วยในตัว
กระบะปลูกที่ช่วยให้ไม้คลุมดินและไม้พุ่มดูโดดเด่นและเห็นชัดยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องมีต้นไม้สำหรับทำรั้วมาบดบังสายตา ภายในปลูกต้นไม้แบบผสมผสาน ทั้งผักชีช้าง สนหอม นีออน และไทรสามเหลี่ยมด่าง
แกรนิตโต้ชนิดที่มีไว้สำหรับใช้งานภายนอกซึ่งมีผิวขรุขระและน้ำไม่ซึมเข้าไปในเนื้อกระเบื้อง โดยเลือกแผ่นใหญ่เพื่อให้ลวดลายและสีสันดูเป็นธรรมชาติและลายต่อกันมากที่สุด
เนื่องจากงานฮาร์ดสเคปใช้โทนสีที่เป็นธรรมชาติและเล่นกับสีสันไม่มากนัก ในบางจุดจึงมีการใช้ไม้ดอกอย่างอเมริกันบิ้วตี้มาช่วยสร้างสีสันและความมีชีวิตชีวา
หลังคาชายคาบ้านต่อมาจากที่จอดรถทำให้เกิดร่มเงารับกับระเบียงที่ยกระดับขึ้นมา สามารถนั่งห้อยขาลงไปสัมผัสกับพื้นสนามหญ้าด้านหน้าได้
ตัวกรองไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกับบ่อมากเหมือนเดิม โดยมีปั๊มดูดน้ำเสียไปยังชุดกรองที่อยู่บริเวณอื่นได้ เพื่อไม่ให้รบกวนสายตา