ทำอาหารปลาดุก ทำจากผักตบชวาและพืชหาง่าย ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

2 สูตรอาหารปลาดุก จากผักตบชวาและพืชหาง่าย ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

ทำอาหารปลาดุก ด้วยวัตถุดิบที่หาได้ง่าย อย่างผักตบชวา ซึ่งตามท้องน้ำหลายแห่งในบ้านเรา มักเห็นต้นผักตบชวาเติบโตจนเต็มผิวน้ำ สร้างปัญหาในการสัญจรทางน้ำ ทั้งยังขัดขวางการระบายน้ำ ต้องคอยกำจัดกัน

วันนี้เรามาลองแปรรูปผักตบชวาด้วยการ ทำอาหารปลาดุก โดย คุณพ๊อต-อภิวรรษ สุขพ่วง แห่งไร่สุขพ่วง  จังหวัดราชบุรีกันค่ะ

คุณพ๊อตเล่าว่า ต้นทุนอาหารเม็ดสำเร็จรูปค่อนข้างเป็นภาระต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาเขาเลี้ยงปลาดุกประมาณ 3,000 ตัว แต่ละวันปลากินอาหารมากกว่า 10 กิโลกรัม ซึ่งอาหารเม็ดสำเร็จรูปกิโลกรัมละ 25 บาท ก็ต้องจ่ายค่าอาหารกว่า 250 บาท ในแต่ละวัน เขาจึงหาข้อมูลว่าปลาดุกกินอะไรและลอง ทำอาหารปลาดุก จากผักตบชวา

อาหารปลาดุก

“ปลาดุกมีลำไส้สั้นเหยียดตรง กินเศษพืขผักและซากสัตว์เป็นอาหาร จึงนำวัตถุดิบที่ปลากินแล้วไม่เป็นพิษ หาง่ายในท้องถิ่น เช่น ผักตบชวา ต้นกล้วย ผักบุ้ง ปอสา ใบหม่อน มาเป็นส่วนประกอบ อาหารปลาดุกที่เราทำจึงช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร ปลาจะโตเร็ว และยังช่วยปรับสภาพน้ำในบ่อ เพราะเราใช้น้ำหมักชีวภาพเป็นตัวช่วยด้วย เมื่อนำน้ำเลี้ยงปลาไปรดผัก ก็ทำให้พืชผักเจริญงอกงามอีกครับ”

สำหรับสัดส่วนที่ใช้ คือ ผักตบชวา+ต้นกล้วย+ใบหม่อน+ปอสา = 30% ปลายข้าวต้ม = 30% รำละเอียด = 30% และน้ำหมักจุลินทรีย์ + กล้วยน้ำว้าสุก = 10% มีขั้นตอนดังนี้

ทำอาหารปลาดุก

Step 1 หั่นผักตบชวาและผักต่าง ๆให้ละเอียด

ทำอาหารปลาดุก

Step 2 ต้มปลายข้าว กวนจนสุก

ทำอาหารปลาดุก

Step 3 ผสมผักตบชวา ปลายข้าวต้ม รำละเอียด และน้ำหมักจุลินทรีย์ คลุกให้เข้ากัน

Step 4 เทส่วนผสมเข้าเครื่องบด

ทำอาหารปลาดุก

Step 5 นำอาหารที่ได้มาปั้นเป็นก้อน วางริมตลิ่งให้ปลาดุกกิน

นอกจากวิธีการข้างต้น อาจใช้ใบและยอดกระถินเป็นวัตถุดิบแทนอัตราส่วน กระถิน ปลายข้าว และรำละเอียดอย่างละ 3 และน้ำหมักกับผลไม้สุกอีก 1 ส่วน เริ่มจาก

Step 1 เตรียมกระถิน เด็ดเฉพาะใบและยอด

Step 2 ต้มปลายข้าวกวนจนสุก

Step 3 ใส่ใบกระถินลงได้กวนจนส่วนผสมเข้ากัน

 Step 4 ใส่รำละเอียดลงไปกวนให้เข้ากัน

Step 5 รอให้เย็น ผสมน้ำหมักกับผลไม้สุก นวดให้เข้ากัน แล้วปั้นเป็นก้อนไว้ให้ปลากิน หรือใช้เป็นอาหารไก่อาหารหมูได้เช่นเดียวกัน

Tips

  • ผักตบชวา กระถิน และพืชผักอื่นๆที่ใช้เป็นส่วนผสม ควรมาจากแหล่งน้ำ และพื้นที่เติบโตที่สะอาดปลอดสารเคมี
  • อาหารสดที่ได้ไม่ลอยน้ำ ควรให้อาหารปลาที่ริมตลิ่งเท่านั้น ไม่ควรโยนลงน้ำทั้งก้อน
  • อาหารสดที่ได้ควรเก็บใส่ถุงพลาสติกวางในที่ร่ม เก็บได้ 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องแช่เย็น เพราะมีจุลินทรีย์จากน้ำหมักช่วยควบคุมอยู่
  • ถ้าไม่มีน้ำหมักก็ไม่ต้องใส่ได้ แต่ต้องใช้อาหารให้หมด เพื่อไม่ให้เน่าเสีย
  • อาหารสดที่ได้ใช้เลี้ยงทั้งปลาดุกและปลากินพืชชนิดอื่น ทั้งยังใช้เป็นอาหารหมูและไก่ได้
  • อาหารที่เราทำเอง จะมีคุณสมบัติเหมือนกับ EM-Ball ซึ่งช่วยปรับสภาพน้ำไม่ให้เน่าเสีย และใช้รดพืชผักช่วยให้เติบโตได้ดีอีกด้วย
  • อัตราการให้อาหารปลาดุก ปลาอายุ 15 วัน ถึง 1 เดือน ใช้วันละ 2 – 3 กิโลกรัม ต่อ ปลา 1,000 ตัว ปลาอายุ 1 – 3 เดือน ขึ้นไป  ใช้วันละ 4 – 5 กิโลกรัม ต่อ ปลา 1,000 ตัว

ใครที่เลี้ยงปลาและปลูกพืชผักไว้รอบๆ บ้านไว้อยู่แล้ว ลองมาลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์กันนะคะ รับรองว่า นอกจากช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงปลาแล้ว ผักที่เราปลูกก็จะให้ผลผลิตดีขึ้นอีกด้วยค่ะ

อ่านเพิ่มเติมในหนังสือ Garden & Farm vol.8 ปลูกผักร่วมกับเลี้ยงปลา ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน

 สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

ขอขอบคุณ คุณอภิวรรษ สุขพ่วง แห่งไร่สุขพ่วงที่มาแบ่งปันข้อมูลดี ๆ ให้กันค่ะ

เรื่อง : วิฬาร์น้อย

ภาพ : ณัฐวัฒน์ ส่องแสง

กักตัวแต่ไม่ต้องกักตุน เพาะผักงอก 7 วันกินได้

ทำแปลงผักในงบประหยัด ไม่เกิน 2,000 บาท