TINY INDUSTRIAL STYLE ดิบ… เท่… ขนาดกะทัดรัด
/ ผมชอบอยู่คอนโด เพราะเป็นพื้นที่ขนาดกะทัดรัด เหมาะสำหรับคนที่อยู่คนเดียวหรือสองคน
ทำความสะอาดง่าย และไม่ต้องเป็นห่วงเวลาทิ้งบ้านไปเที่ยวนาน ๆ /
ภายใต้ข้อจำกัดมากมายของห้องชุดในคอนโดมิเนียมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก และข้อบังคับห้ามรื้อทอนปรับเปลี่ยนโครงสร้าง แต่คุณเอก-เอกพล สามัครกุล กลับออกแบบบ้านใหม่ของเขาให้ออกมาสวยโฉบเฉี่ยวไม่เป็นสองรองใครในสไตล์อินดัสเทรียลสุดเท่ จนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่ในพื้นเพียง 35 ตารางเมตร เท่านั้น
คุณเอก ทำหน้าที่ 3D Visualizer ของบริษัท PIA Interior บริษัทออกแบบภายในชื่อดังของเมืองไทยที่สร้างผลงานโดดเด่นไว้มากมาย เขาจึงได้รับฉายาว่า Mr. Renderman นอกจากจะลงมือออกแบบบ้านหลังนี้เองแล้ว เขายังเป็นคนทำ 3D ทั้งหมด โดยมีคุณชินาธิป กายทอง เพื่อนร่วมงานบริษัทเดียวกันมาเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการดูแลก่อสร้างให้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าบ้านหลังนี้ สามารถสะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้านออกมาได้เด่นชัดในทุกมุมมอง
“ผมเป็นคนชอบอะไรที่ดูดิบ ๆ เหมือนโครงสร้างในโรงงาน มีโครงทรัสเยอะ ๆ เพราะสมัยเด็ก ๆ ก็ชอบดูการ์ตูนเกี่ยวกับหุ่นยนต์ ชอบดูหนังเกี่ยวกับคาวบอย หรือโลเคชั่นที่ดูเหมือนเหมืองแร่ พอกลั่นออกมาเป็นสไตล์จึงได้เป็นลอฟต์กึ่งอินดัสเทรียลให้ความรู้สึกดิบ ๆ แบบผู้ชาย”
จากความชอบที่ชัดเจนของตัวเอง คุณเอกเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบางชิ้นที่ให้ความรู้สึกดิบแข็งอย่างสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะกลางโครงเหล็กท็อปโต๊ะไม้เผา หรือชั้นวางของโครงเหล็กสีดำกับผนังอิฐมอญแบบเปลือยในห้องนอน แล้วจึงเลือกพื้นผิวที่ให้ความรู้สึกละมุนๆ อย่างไม้มาช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่นให้บ้าน ก่อนจะปิดท้ายด้วยเครื่องหนังชิ้นใหญ่สุดคลาสสิก ใช้เป็นองค์ประกอบหลักในมุมนั่งเล่นและหัวเตียงดูกลมกล่อมลงตัว
คุณเอกอธิบายเพิ่มเติมว่า “บรรยากาศที่มีส่วนประกอบทั้งความแข็งแรงและความดิบในตัวเอง แต่กลับดูซอฟท์ของบ้านนี้ ได้อิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากดนตรีร็อคที่ผมชอบฟัง ภายใต้ความหนักหน่วงที่เราได้ยิน กลับมีรายละเอียดของเมโลดี้เพราะ ๆ ซ่อนอยู่ เช่นเดียวกับการเลือกแมททีเรียลที่ผมนำมาใช้ในบ้าน”
แต่ภายใต้ความสมบูรณ์แบบนี้ก็ไม่ได้รังสรรค์ขึ้นมาโดยง่าย เมื่อต้นฉบับของสไตล์อินดัสเทรียล มาจากความเปลือยเปล่าของโครงสร้างและสเปซแบบเปิดโล่ง แต่การรื้อฝ้าและผนังเบาที่กั้นระหว่างห้องเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในคอนโดมิเนียมแห่งนี้ จึงต้องแบ่งพื้นที่ใช้งานออกเป็นสัดส่วนอย่างเด่นชัด ทั้งห้องน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น และห้องครัว โดยคุณเอกตัดสินใจตกแต่งพื้นที่เพียงบางส่วนที่มีการใช้งานบ่อยที่สุด อย่างห้องนั่งเล่นและห้องนอนเท่านั้นแทน
ด้วยสเปซที่จำกัดนี้ การเลือกไซส์เฟอร์นิเจอร์และเส้นสายจึงมีส่วนสำคัญเพื่อช่วยให้บ้านดูกว้างขึ้น คุณเอกจึงเลือกวางเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่แค่เฉพาะจุดไม่ให้ดูแน่นเกินไป รวมทั้งเลือกใช้เส้นสายโครงเหล็กในแนวตั้งเพื่อช่วยพรางตาให้เพดานห้องดูสูงขึ้น
การแก้ไขปัญหาพื้นที่ด้วยการออกแบบ เป็นแนวคิดสำคัญช่วยให้ทุกคนมีบ้านในฝัน ไม่ว่าจะอยู่ในสเปซแบบไหน ทั้งคอนโดมิเนียมสูงระฟ้า และหมู่บ้านจัดสรรหน้าตาเหมือนกัน เราก็สามารถออกแบบพื้นที่ส่วนตัวให้แตกต่าง สะท้อนความเป็นตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ เพราะความสุขใดจะดีไปกว่าการได้พักผ่อนท่ามกลางบรรยากาศที่เราชื่นชอบ แค่เพียงรู้จักดัดแปลงให้เข้ากับพื้นที่นิดหน่อยก็ใช้ได้แล้ว
เรื่อง : กษมา
ภาพ : ดำรง
คอลัมน์ : Room To Room
เล่ม : March 2015 No.145