โรคและแมลงศัตรู เพลี้ยต่างๆ ที่พบในฤดูร้อน
เพลี้ย ศัตรูพืชที่ระบาดหนักในช่วงฤดูร้อน ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงฤดูร้อนของเมืองไทย โดยจะมีอุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ต้นไม้และพืชผักที่ปลูกต้องเผชิญกับโรคพืชและศัตรูพืชต่าง ๆ ที่มักเข้าทำลายพืชในสภาพแวดล้อมแบบนี้
เพลี้ย แมลงศัตรูที่ชอบเข้าทำลายพืชปลูกในฤดูนี้ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่อากาศมีอุณหภูมิสูง ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ แมลงศัตรูพืชที่มีขนาดเล็กจะชอบเข้าทำลายพืชโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงที่ส่วนเจริญใหม่ เช่น ยอดอ่อน ใบอ่อน หรืออยู่ใต้ใบพืช ตัวอย่างแมลงศัตรู ได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ไรต่างๆ เป็นต้น
การป้องกันกำจัด เพลี้ย ต่างๆ
-ให้น้ำพืชปลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการพ่นน้ำเป็นละอองฝอยให้ชุ่มผิวพืชจะช่วยลดการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟและไรได้ดี
-หมั่นสำรวจการระบาดและกำจัดมด ซึ่งจะนำเพลี้ยแป้งหรือเพลี้ยหอยมาสู่ต้นไม้ที่ปลูก
-แมลงศัตรูที่ไม่ค่อยเคลื่อนที่ เช่น เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง ถ้ามีการระบาดรุนแรงให้ทำการตัดแต่งส่วนที่ถูกเข้าทำลายออก
การใช้สารป้องกันกำจัด เพลี้ย
เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย สารป้องกันกำจัดแมลงที่แนะนำ คือ ฟิโปรนิล อิมิคาคลอพริด ไทอะเมโทแซมโคลไทอะนิดิน ไดโนทีฟูแรน ไวท์ออยล์ และปิโตรเลียมออยล์ เป็นต้น
ไร สารป้องกันกำจัดแมลงที่แนะนำ คือ โพรพาไกต์ ไพริดาเบน สไปโรมีซิเฟนอามีทราซ กำมะถัน เป็นต้น
การควบคุม เพลี้ย โดยชีววิธี
เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย ชีวภัณฑ์ที่แนะนำ คือ เชื้อราบิวเวอร์เรีย บาสเซียน่า (Beauveria bassiana)
ไร ชีวภัณฑ์ที่แนะนำ คือ การใช้ไรตัวห้ำควบคุมไรที่เป็นศัตรูพืช
โรคพืชในฤดูร้อน สำหรับการเข้าทำลายของโรคพืชในฤดูร้อน มักมีการเข้าทำลายจากเชื้อสาเหตุโรคพืชกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
นอกจาก เพลี้ย ยังมี โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
มักเกิดจากการให้น้ำพืชในปริมาณมากเกินไปหรือพืชได้รับน้ำจากฝนช่วงเปลี่ยนฤดูหรือพายุฤดูร้อน ต้นพืชอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อนและความชื้นสูง ทำให้เกิดโรคกับส่วนบนของต้นพืชต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น โรคแอนแทรคโนส หรือหากดินปลูกมีการระบายน้ำไม่ดี มีน้ำขังในกระถางหรือแปลงปลูก อาจก่อให้เกิดโรคทางระบบรากต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น โรคกล้าเน่าของกล้าพืชผัก โรคโคนเน่า เป็นต้น
โรคแอนแทรคโนส จากเชื้อรา Colletotrichum spp.
-ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูก
-การป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อรา Trichoderma asperellum หรือเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis
-การพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ (mancozeb) โพรพิเนบ (propineb) โพรคลอราซ (prochloraz) โพรพิโคนาโซล (propiconazole) ไดฟีโนโคนาโซล (difenoconazole) อะซอกซีสโตรบิน (azoxystrobin) ไพราโคลสโตรบิน (pyraclostrobin) เป็นต้น
โรคกล้าเน่าจากเชื้อรา Pythium spp.
-เตรียมแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำดี
-กำจัดเชื้อในแปลงเพาะกล้าโดยไถดินตากแดด รวมถึงไม่หว่านเมล็ดหรือเพาะต้นกล้าแน่นเกินไป
-ระมัดระวังการให้ปุ๋ยไนโตรเจนในระยะกล้า
-ใช้จุลินทรีย์ปฎิปักษ์คลุกเมล็ดหรือใส่ลงดิน เช่น เชื้อรา Trichoderma asperellum หรือเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis
-การพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราเมื่อพบโรคระบาด เช่น เมทาแลกซิล (metalaxyl) โพรพาโมคาร์บไฮโดรคลอไรด์ (propamocarb hydrochloride) อีไตรไดอะโซล + ควินโตซีน (etridiazole+quintozene) เป็นต้น
โรคโคนเน่าจากเชื้อรา Sclerotium rolfsii
-ถอนทำลายต้นที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูก โรยปูนขาวบริเวณที่พบโรคและพื้นดินใกล้เคียง
-การป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อรา Trichoderma asperellum หรือเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis รดดินบริเวณที่พบอาการโรคก่อนปลูกพืชใหม่
-ไถกลบหน้าดินตากแดดและปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัย เช่น ข้าวโพด
-การพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาร์บอกซิน (carboxin) อีไตรไดอะโซล (etridiazole) เป็นต้น
โรคพืชที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
นอกจากสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อน โรคที่เกิดจากแบคทีเรียจะมีความสัมพันธ์กับการให้น้ำหรือพายุฝน โดยการให้น้ำจนดินเปียกแฉะมีน้ำขังเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเหี่ยวเขียวในพืชตระกูลมะเขือเทศ หรือการพ่นน้ำให้พืชโดยตรงจากสายยางทำให้พืชอวบน้ำเกิดแผลช้ำฉ่ำน้ำ จนมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคเน่าเละในพืชผัก กล้วยไม้สกุลฟาแลนน็อปซีส หรือกระบองเพชร และการให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์เหนือต้นมีความเสี่ยงต่อโรคแคงเกอร์ในพืชตระกูลส้ม เนื่องจากใบพืชเปียกชื้นทำให้เชื้อแบคทีเรียออกมาจากแผลและเกิดการกระเซ็นไปยังส่วนต่าง ๆ ของต้นหรือต้นข้างเคียงได้
โรคเน่าเละ
-หลีกเลี่ยงการพ่นน้ำโดยตรงจากสายยางกับพืชอวบน้ำ
-เตรียมดินให้มีการระบายน้ำได้ดี
-ไถพลิกกลบดินตากแดดหลาย ๆ ครั้ง เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อในดิน
-การอบดินฆ่าเชื้อด้วยการใช้ยูเรียกับปูนขาว อัตรา 80 กิโลกรัม : 800 กิโลกรัม ต่อไร่
-การป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis
โรคเหี่ยว
-เตรียมดินให้มีการระบายน้ำได้ดี
-ไถกลบหน้าดินตากแดดหลาย ๆ ครั้งเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อในดิน
-การอบดินฆ่าเชื้อด้วยการใช้ยูเรียกับปูนขาว อัตรา 80 กิโลกรัม : 800 กิโลกรัม ต่อไร่
-กำจัดแมลงศัตรูพืชและไส้เดือนฝอยรากปมในแปลงปลูก ซึ่งเป็นตัวการทำให้รากพืชเกิดแผล
-ไม่ควรปลูกพืชเดิมในแปลงที่เคยมีโรคระบาดมาก ควรเลี่ยงไปปลูกพืชวงศ์อื่นสักระยะหนึ่ง พร้อมกับไถกลบหน้าดินตากแดดบ่อย ๆ ในช่วงที่ว่างเว้นจากการปลูกพืช
-การป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis
โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้ม
-หลีกเลี่ยงการให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์เหนือต้น
-ใช้ส่วนขยายพันธุ์หรือกิ่งพันธุ์ที่ไม่มีโรคมาปลูก โดยเฉพาะในแหล่งปลูกใหม่
-ทำการตัดแต่งกิ่งและส่วนที่เป็นโรคที่ใบ กิ่ง และลำต้น ทิ้ง และทำให้บังคับการแตกใบอ่อนออกเป็นรุ่นเดียวกัน เพื่อให้การฉีดสารป้องกันกำจัดโรคมีประสิทธิภาพ
-ปลูกพืชเป็นแนวกันลมรอบสวน เพื่อลดการเกิดแผลซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อเข้าทำลาย
-ควบคุมแมลงศัตรูโดยเฉพาะหนอนชอนใบ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดบาดแผลในช่วงใบอ่อน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
-การใช้สารป้องกันกำจัดโรค เช่น ฉีดพ่นคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ (copper oxychloride) คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ (copper hydroxide) หรือบอร์โดมิกซ์เจอร์ (bordeaux mixture) ในช่วงแตกใบอ่อน 2-3 ครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรค
-การป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis
โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส
อาจมีโอกาสเกิดขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของแมลงพาหะโรคไวรัสต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้ดี ตัวอย่างเช่น โรคใบด่างเหลืองของถั่วฝักยาวที่มีเพลี้ยอ่อนเป็นแมลงพาหะ เป็นต้น
การป้องกันกำจัด
-เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรค
-ถอนต้นเป็นโรคทิ้งเพื่อลดแหล่งของเชื้อตั้งต้นและควบคุมการแพร่ระบาดของเพลี้ยอ่อนตามคำแนะนำข้างต้น
เรื่องและภาพ ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อ้างอิง
อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช. รู้ทันโรคพืช คู่มือดูแลสุขภาพต้นไม้ด้วยตัวเอง. กรุงเทพฯ: บ้านและสวน อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2563.
Rajender Singh and Deepankar. Modeling for anthracnose development in mango in relationto weather parameters. Australia: Australasian Plant Pathology, 2020.
การใช้ไรตัวห้ำควบคุมเพลี้ยไฟและไรศัตรูพืช. (สืบค้น 19 เมษายน 2564)
รู้จัก เพลี้ย โรคพืชต่างๆ พร้อมวิธีป้องกันได้จากหนังสือ รู้ทันโรคพืช