บ้านไม้ชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่น เลือกใช้ไม้เก่าอย่างรู้คุณค่า เปิดรับธรรมชาติอันสวยงาม

บ้านไม้ชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่น ที่เน้นความโปร่งโล่งแบบไทย และอยู่อย่างสมถะแบบญี่ปุ่น

บ้านไม้ชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่น ปนไทย โดยออกแบบให้ดูเรียบง่าย มีความสมถะ ซึ่งตรงกับความเป็นเซนที่พบในบ้านญี่ปุ่น แต่ประยุกต์ใช้วัสดุและพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะกับเมืองไทย โดยเฉพาะการเลือกใช้ไม้เก่าอย่างรู้คุณค่า พร้อมทำผนังบ้านให้โปร่งโล่งเพื่อเปิดรับธรรมชาติอันสวยงามของปากช่อง

  • เจ้าของ : คุณวรพจน์ – คุณศิริพร ประพนธ์พันธ์ุ
  • ออกแบบ : คุณประวิทย์ จงยิ่งศิริ
บ้านไม้ชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่น
บ้านไม้ชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่น ออกแบบให้ตัวบ้านมีระเบียงล้อมรอบกว้างประมาณ 2 เมตร จึงต้องทำชายคายื่นออกมาให้กว้างกว่าเล็กน้อย เพื่อป้องกันฝนสาด
บ้านไม้ชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่น

บ้านไม้ชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่น หลังนี้เป็นบ้านพักหลังเล็กๆในจังหวัดนครราชสีมาของ คุณวรพจน์ ประพนธ์พันธ์ุ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการของเก่ามานาน โดยผสมผสานความเป็นบ้านไทยเข้ากับสไตล์เซนของญี่ปุ่นได้อย่างกลมกล่อม

“ผมตั้งใจออกแบบบ้านหลังนี้ให้เป็นเหมือนโรงเตี๊ยมหลังเล็กๆสำหรับพักผ่อนในวันหยุด อยู่ท่ามกลางทุงหญ้าป่าเขาที่ปากช่องแห่งนี้ โดยออกแบบเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว รูปทรงสี่เหลี่ยมที่มีพื้นที่ใช้สอยเท่าที่จำเป็น ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นธรรมชาติโอบล้อมบ้านเอาไว้”

บ้านไม้ชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่น
ภายในบ้านโปร่งโล่ง ฝ้าเพดานสูง ตกแต่งผนังด้วยภาพลายเมฆและดวงอาทิตย์ที่ได้มาจากโรงเจเก่าที่รื้อแล้ว ส่วนเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดเลือกสไตล์จีนที่เรียบง่าย ไม่มีลวดลายเกินจำเป็น
บ้านไม้ชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่น
พื้นที่ส่วนกลางบ้านเป็นห้องโล่งกว้างสำหรับปรับใช้งานได้หลายรูปแบบ ทั้งห้องนั่งเล่น ห้องอาหารบนโต๊ะเตี้ยๆสไตล์ญี่ปุ่น หรือเวลามีแขกมาหลายคนก็ปูที่นอนแล้วเปิดบานเลื่อน ใช้เป็นห้องนอนรวมได้อีกด้วย
บ้านไม้ชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่น
ด้วยการผังให้มีพื้นที่ใช้งานอเนกประสงค์ ไม่ว่าจะนั่งมุมไหน ทั้งในและนอกบ้านก็ได้สัมผัสกับธรรมชาติที่มีอยู่รอบบ้าน ทำราวกันตกเป็นพื้นที่นั่งเล่นไปในตัว โดยมีพนักพิงเป็นไม้ระแนง ทำให้ดูโปร่งขึ้น
ที่นั่งไม้

จากแนวคิดเบื้องต้นทำให้บ้านหลังนี้ตกแต่งในรูปแบบผสมผสานระหว่างความเป็นไทยกับญี่ปุ่น โดยดึงเอางานไม้สัก หลังคาทรงปั้นหยา บานประตูหน้างต่าง บานกระทุ้งและบานเฟี้ยมของไทยมาประยุกต์ใช้ แต่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยใหม่โดยนำข้อดีของบ้านญี่ปุ่นมาประยุกต์ โดยยกพื้นขึ้นเล็กน้อยและโรยกรวดรอบบ้านกันสัตว์ร้ายปีนขึ้นบ้าน นอกจากนี้ยังใช้บานเลื่อนโชจิที่เป็นโรงไม้กรุกระดาษสา ทำให้สามารถเลื่อนปิดกันฝนหรือกันลมหนาว หากฤดูร้อนก็สามารถเปิดออกรับลมเข้าบ้านอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าบ้านนี้เกิดจากการผสมผสานข้อดีของเรือนไทยและญี่ปุ่นมาไว้ด้วยกัน เพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศของปากช่อง ซึ่งมีทั้งช่วงอากาศร้อน ฝนและหนาว

การแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยใช้ทุกมุมเป็นมุมพักผ่อนได้ทั้งหมด เน้นพื้นที่โถงหน้าบ้านเปิดโล่งเป็นทางยาวเชื่อมต่อกับระเบียงรอบบ้านได้ทุกมุมเพื่อรับลมเย็นๆ แบ่งส่วนห้องน้ำและครัวแพนทรี่ไว้ฝั่งตะวันตกให้แสงแดดช่วยฆ่าเชื้อโรค และช่วยบังความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้าน ส่วนภายในมีการยกระดับขึ้นแบ่งสัดส่วนและสามารถปิดมุมมองด้วยบานเลื่อนเพื่อความเป็นส่วนตัว กั้นห้องเท่าที่จำเป็น โดยกั้นแค่ห้องนอนเล็กๆและห้องน้ำเท่านั้น ที่เหลือสามารถใช้งานได้อเนกประสงค์

ครัวปูน
ออกแบบเคาน์เตอร์ครัวปูนให้ใช้งานได้อเนกประสงค์ หล่อท็อปสำหรับนั่งรับประทานอาหารไว้ที่ฝั่งตรงข้าม แล้วทำบานหน้าต่างเพื่อเปิดระบายอากาศที่ผนังด้านหลัง
ห้องน้ำปูน
ตกแต่งห้องน้ำกึ่งย้อนยุคด้วยการเลือกอ่างอาบน้ำแบบลอยตัว และเพื่อให้ความรู้สึกแบบกึ่งเอ๊าต์ดอร์ จึงทำหลังคาตีแผ่นไม้เว้นร่องเล็กน้อย และปูแผ่นพอลิคาร์บอเนตปิดทับอีกชั้น เพื่อให้แสงลอดเข้ามาได้
ห้องนอนสไตล์ญี่ปุ่น
ห้องนอนตกแต่งอย่างเรียบง่ายด้วยชุดผ้าปูเตียงสีขาว แต่เก๋ด้วยลายปักดอกไม้สีดำที่ด้านข้าง หัวเตียงประดับภาพวาดนกยูงคู่ที่มีความหมายเป็นมงคล เพิ่มของตกแต่งอย่างเชิงเทียนให้แสงสลัวแบบญี่ปุ่น
เฟอร์นิเจอร์ไม้

“งานโครงสร้างและพื้นที่ใช้สอยนั้นผมต้องยกความดีให้เพื่อนสนิทอย่าง คุณประวิทย์ จงยิ่งศิริ มาช่วยออกแบบโครงสร้างและงานระบบให้ ส่วนเรื่องการตกแต่งนั้น ผมจัดการเองทั้งหมด เพราะเราเป็นคนอยู่เอง จะรู้ว่าอะไรที่ชอบไม่ชอบดีที่สุด ด้วยความที่เราทำงานด้านของเก่ามานาน จึงมีบานประตูหน้าต่างและไม้เก่าอยู่มาก ทำให้บ้านนี้ใช้งบประมาณไม่มากแต่ได้ของดี เพราะผมคัดไม้เก่าที่มีอายุ ทำให้ได้ไม้ดี ทนทาน ไม่หดตัว หรือบางชิ้นก็เป็นไม้มรตำหนิที่ต้องคัดทิ้งอยู่แล้ว เอามาซ่อมใช้ใหม่ และที่ชอบเป็นพิเศษก็คือผนังเพ้นต์ลายจีนที่ได้มาจากโรงเจเก่า อันนี้ชอบมาก เพราะเข้ากับสไตล์บ้านและดูขลังจากสีและรอยคราบ นี่เป็นเสน่ห์ของอขงเก่าที่ของใหม่ทำเลียนแบบไม่ได้”

ระเบียงไม้ ชานบ้าน
นอกจากจะอาศัยร่มเงาจากหลังคาแล้ว ยังอาศัยร่มเงาจากธรรมชาติ ช่วยให้ชานบ้านเย็นสบายตลอดวัน

จากความรักและความชอบของเก่ามาเป็นเวลานาน สะสมประสบการณ์ ทำให้บ้านไม้ชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่นหลังเล็กๆที่ดูเรียบง่ายนี้กลายเป็นบ้านที่อยู่อย่างเคารพธรรมชาติตามวิถีเซนที่กลมกลืนกับวิถีไทยได้อย่างไม่น่าเชื่อ


เรื่อง : HOOOOO…ROOM

ภาพ : จิระศักดิ์, นันทิยา

รวม 5 บ้านโมเดิร์นที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายญี่ปุ่น

“เฮือนธรรม” บ้านพื้นถิ่นไทย ในขนบแบบญี่ปุ่น