ปุ๋ยคอก คืออะไร ขี้วัว ขี้หมู ขี้ไก่ ปุ๋ยมูลไส้เดือน มีประโยชน์อย่างไร - บ้านและสวน

รู้จัก ปุ๋ยคอก ในมูลสัตว์มีประโยชน์อย่างไรต่อพืชผักในสวน

ปุ๋ยคอก คือ ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ได้จากมูลสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในรูปของเหลวและของแข็ง ส่วนใหญ่จะเป็นมูลสัตว์เลี้ยง เช่น มูลวัว ไก่ เป็ด สุกร ประกอบด้วยอุจจาระและปัสสาวะของสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนของซากพืชและสัตว์จากอาหารที่สัตว์ผ่านกระบวนการย่อยสลายจากระบบย่อยอาหาร

ปุ๋ยคอก คือ อะไร มีประโยชน์อย่างไร อธิบายง่ายๆ ปุ๋ยคอกจะมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการเลี้ยง การเก็บรักษา แหล่งที่อยู่ของสัตว์ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อพืชผักแล้ว ยังช่วยป้องกันรักษาหน้าดินและบำรุงดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืชด้วย

ปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้หมู

ปุ๋ยคอกมีประโยชน์อย่างไร

1.เพิ่มธาตุอาหารพืชปุ๋ยคอกในส่วนที่เป็นองค์ประกอบที่เป็นของแข็งมีลักษณะคล้ายคลึงกับอาหารที่สัตว์นั้นบริโภค เมื่อสัตว์กินอาหารเข้าไป ธาตุอาหารในอาหารจะถูกนำไปใช้ไปเพียงบางส่วน โดยทั่วไปจะพบว่าปริมาณธาตุอาหารที่ถูกใช้ในการเจริญเติบโต โดยประมาณ 3/4 ของธาตุไนโตรเจน 4/5 ของธาตุฟอสฟอรัส และ 9/10 ของธาตุโพแทสเซียม ดังนั้นในสิ่งขับถ่ายหรือมูลสัตว์จะดงเหลือธาตุอาหารอยู่ ปุ๋ยคอกจึงเป็นแหล่งธาตุอาหารหลักและรองที่สำคัญแหล่งหนึ่ง

2.ให้ธาตุอาหารพืชในลักษณะต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพในระยะเวลานานกว่าปุ๋ยเคมี

3.ช่วยปรับปรุงดิน การใช้ปุ๋ยคอกในอัตราที่เหมาะสมต่อเนื่องติดต่อกันนานๆ จะช่วยปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินบางประการได้

4.ช่วยกระตุ้นให้สาหร่ายและแพลงตอนพืช ซึ่งเป็นอาหารปลาในบ่อสามารถเจริญเติบโตได้ดี นอกจากปุ๋ยคอกจะมีธาตุอาหารต่างๆ แล้ว ยังมีวิตามินหลายชนิดที่ส่งเสริม การเติบโตของสาหร่าย เช่น วิตามินบี 12 ไทอะมีน และไบโอติน ปุ๋ยคอกที่ใช้ในบ่อปลา ส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยคอกจากมูลสุกร ใส่ในอัตรา 250 – 500 กิโลกรัมต่อบ่อปลา 1 ไร่ โดยใส่ 6 เดือนต่อครั้ง ถ้าใส่ปุ๋ยคอกมากไปจะมีผลทำให้น้ำเสีย เกิดกลิ่นและขาดออกซิเจน เป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายได้ การใช้ปุ๋ยคอกในบ่อปลาทำได้หลายวิธี เช่น การใส่ปุ๋ยคอกแห้งหรือสดให้ทั่วบ่อ ใส่ในน้ำหรือใส่พื้นกันบ่อเมื่อน้ำแห้ง หรือนำปุ๋ยดอกละลายน้ำแล้วสาดให้ทั่วทั้งบ่อ หรือล้างคอกสุกรให้น้ำชะล้างมูลลงในบ่อโดยตรงก็ได้

รู้ประโยชน์ของปุ๋ยคอกแล้ว มาดูกันว่าแหล่งที่มาจากสัตว์แต่ละชนิดมีปริมาณธาตุอาหารมากน้อยแตกต่างกันมากแค่ไหน และใช้อย่างไรให้ถูก พืชได้ประโยชน์ครบตามต้องการ

1| มูลไส้เดือน

ปุ๋ยคอก ปุ๋ยไส้เดือน

N ไนโตรเจน 0.995%

P ฟอสฟอรัส 0.669%

K โพเทสเซียม 1.487%

เหมาะสำหรับบำรุงต้น ราก ใช้ในช่วงที่พืชกำลังเติบโต ใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปลูกและวัสดุเพาะกล้าพืชได้ ช่วยให้ดินมีโครงสร้างดีขึ้น ระบายน้ำและอากาศได้ดี และเก็บความชื้นได้มากขึ้น ช่วยให้ระบบรากพืชกระจายตัวในดินได้ดีขึ้น

2| มูลโค

ปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้วัว

N ไนโตรเจน 1.25%

P ฟอสฟอรัส 0.01%

K โพเทสเซียม 2.12%

เหมาะกับพืชในช่วงขยายราก บำรุงรากได้ดี ใช้เตรียมดินโดยใส่ในอัตรา 1-3 กิโลกรัมต่อตารางเมตร แล้วหมักทิ้งไว้ 15-30 วันก่อนปลูกพืช ควรใช้มูลเก่าเพราะมูลสดทำให้เกิดความร้อนและมีการดึงไนโตรเจนจากดินไปใช้ พืชอาจมีอาการใบเหลืองและตายได้

3| มูลหมู

ปุ๋ยขี้หมู

N ไนโตรเจน 1.30%

P ฟอสฟอรัส 2.40%

K โพเทสเซียม 1.00%

เหมาะสำหรับไม้ผลบำรุงในช่วงติดดอก อาจนำมูลเหลวจากคอกไปลงบ่อหมักก๊าซชีวภาพแล้วเอามาเป็นปุ๋ยใส่พืชได้ และยังได้ก๊าซชีวภาพที่นำไปใช้หุงต้มหรือใช้ในฟาร์มได้ด้วย

4| มูลไก่

ปุ๋ยขี้ไก่

N ไนโตรเจน 1.67%

P ฟอสฟอรัส 3.32%

K โพเทสเซียม 2.41%

เป็นปุ๋ยคอกที่มีธาตุอาหารสูง เหมาะกับพืชทุกชนิด ใช้ได้ทุกช่วงที่พืชเติบโต ปริมาณธาตุอาหารขึ้นอยู่กับวัสดุรองพื้น

5| มูลค้างคาว

ปุ๋ยขี้ค้างคาว

N ไนโตรเจน 1.54%

P ฟอสฟอรัส 14.28%

K โพเทสเซียม 0.60%

มูลค้างคาวมีธาตุอาหารพืชหลายชนิด เหมาะสำหรับใส่ไม้ผล เช่น ทุเรียน ลิ้นจี่ กล้วยหอม ลำไย และมะม่วง เหมาะสำหรับบำรุงพืชช่วงเวลาติดดอก แต่ปัจจุบันมูลค้างคาวเป็นปุ๋ยที่หายาก จึงมีราคาสูง

6| มูลกระบือ

ปุ๋ยขี้ควาย

N ไนโตรเจน 1.01%

P ฟอสฟอรัส 0.30%

K โพเทสเซียม 0.58%

เหมาะสำหรับบำรุงต้น ช่วยเร่งการเติบโตของพืช ควรใช้มูลแห้งเช่นเดียวกับมูลโค เหมาะสำหรับใส่รอบโคนต้นไม้ผล หรือรองก้นหลุมก่อนปลูกไม้ต้น

7| มูลเป็ด

ปุ๋ยคอกปุ๋ยขี้เป็ด

N ไนโตรเจน 1.02%

P ฟอสฟอรัส 1.84%

K โพเทสเซียม 0.54%

เหมาะกับบำรุงพืชในช่วงเติบโต บำรุงในช่วงติดดอก

ทำความรู้จักปุ๋ยอินทรีย์ชนิดอื่นๆ ได้ในหนังสือ ปุ๋ยอินทรีย์ (ฉบับปรับปรุง) ORGANIC FERTILIZER

สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

เรื่อง JOMM YB

ภาพประกอบ มนธีรา มนกลาง

ข้อมูลจาก : กองวิเคราะห์ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , หนังสือ ปุ๋ยอินทรีย์ (ฉบับปรับปรุง) ORGANIC FERTILIZER, คู่มือปุ๋ยอินทรีย์ (ฉบับวิชาการ)