มารู้จักกับบอนสีประเภทต่างๆ ที่พบในประเทศไทย - บ้านและสวน

มารู้จักกับบอนสีประเภทต่างๆ

มาเริ่มต้นทำความรู้จักกับบอนสี โดยการรู้จักแยกแยะบอนสีประเภทต่างๆ ที่มีอยู่หลายร้อยชนิด ตามหมวดหมู่ต่างๆที่ใช้พูดคุยกันในวงการบอนสีไปจนถึงจัดประเภทการประกวดและระดับยากง่ายในการเลี้ยงและดูแล ความแตกต่างของบอนสีแต่ละชนิด แต่ละพันธุ์ อยู่ที่ลักษณะของใบที่มีสีสันลวดลายสวยงาม สามารถจำแนกตามรูปใบเป็น 5 ประเภท ดังนี้

บอนสีประเภทต่างๆ

1. บอนใบไทย ใบรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ก้านใบกลมออกจากกึ่งกลางใบ หูใบฉีกไม่ถึงสะดือ ได้แก่ สาวน้อยประแป้ง ม่านนางพิม ไก่ราชาวดี พญามนต์ พญาเศวต(ตันแพลง) สร้อยแสงจันทร์ ปาเต๊ะ เป็นต้น

2. บอนใบยาว ใบรูปหัวใจคล้ายบอนใบไทย แต่ใบเรียวกว่า ปลายใบเรียวแหลม ก้านใบกลมออกจากโคนใบหู ใบยาวฉีกถึงก้านใบ ได้แก่ กรวยทอง คุณหญิง จักรราศี ไชยปราการ หงส์เหิน กวนอิม ฮกหลง เป็นต้น

3. บอนใบกลม ใบค่อนข้างกลม ปลายใบมนหรือมนมีติ่งแหลม ก้านใบกลมอยู่กึ่งกลางใบ จัดว่าเป็นบอนสีกลุ่มที่เลี้ยงค่อนข้างยาก นิยมเลี้ยงในกระโจมหรือตู้อบ ได้แก่ บางกอก เมืองสยาม ยูเรนัส เมืองพัทยา เมืองชล เมืองสุวรรณภูมิ เป็นต้น

บอนสีประเภทต่างๆ

4. บอนใบกาบ ใบคล้ายรูปหัวใจ ก้านใบแผ่แบนตั้งแต่โคนใบถึงแข้ง ลักษณะคล้ายใบผักกาด เป็นหนึ่งในกลุ่มบอนสีที่ปลูกยาก นิยมปลูกในกระโจมหรือตู้อบตลอดเวลา ได้แก่ ทุ่งบางพลี ขันธกุมาร เทพลีลา เรือนแก้ว อังศุมาลิน รัชมงคล เป็นต้น

บอนสีประเภทต่างๆ

5. บอนใบไผ่ ใบรูปแถบ รูปใบหอกแคบ หรือเป็นเส้น ปลายใบเรียวแหลมคล้ายใบไผ่ หูใบสั้นมาก (หูรูด) ความกว้างของใบไม่เกิน 2 นิ้ว เช่น ไผ่กรุงเทพฯ ไผ่จุฬา ไผ่ธารทิพย์ ไผ่ธารมรกต ไผ่ศรศิลป์ ไผ่สวนหลวง  เป็นต้น

นอกจากการจำแนกตามรูปใบแล้วสามารถจำแนกตามสีสันบนใบได้ดังนี้

1. บอนไม่กัดสี คือบอนสีที่มีสีคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ยังเล็กจนโตเต็มที่ หรืออาจมีสีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่ยังคงสีเดิมให้เห็น เช่น นายจันหนวดเขี้ยว บอนสีตับวีรชน เป็นต้น เป็นบอนใบไทยที่มีสีแดงตั้งแต่ต้นเล็กจนโตเต็มที่

2. บอนกัดสี คือบอนสีที่มีการเปลี่ยนแปลงของสีสัน เมื่อยังเล็กใบเป็นสีเขียว พอโตเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือสีแดง และอาจมีจุดหรือแต้มสีเกิดบนใบ ส่วนใหญ่เป็นบอนลูกผสมใหม่ เช่น กัลยา นายดอกรัก จังหวัดนราธิวาส พระยามุจลินท์ หยกประกายแสง ไผ่ธารมรกต ศรีลำดวน รัตนาธิเบศร์ เป็นต้น

บอนสีประเภทต่างๆ

3. บอนป้าย คือบอนสีที่มีแถบด่างสีแดงพาดทับบนแผ่นใบสีเขียว ซึ่งเริ่มแสดงลักษณะตั้งแต่ใบที่ 1 หรือ 2 เช่น อัปสรสวรรค์ เทพเทวฤทธิ์ เพชรจรัสแสง ศรีกาญจนาภิเศก ชายชล เป็นต้น

บอนสีประเภทต่างๆ

4. บอนด่าง คือบอนสีที่มีพื้นด่างสีขาวอมเขียวอ่อนหรือหรือขาวอมแดงบนพื้นใบสีเขียวหรือใบด่างเหลือง เช่น บัวสวรรค์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ โชคอำนวย เป็นต้น


ข้อมูลจากหนังสือ

เป็นหนังสือบอนสีที่สมบูรณ์ที่สุดในขณะนี้ พร้อมด้วยเนื้อหาและภาพประกอบที่สวยงามเข้าใจง่าย
ผู้เขียน สมาคมบอนสี แห่งประเทศไทย