สร้างบรรยากาศดีๆ ให้กับสวนได้ด้วย โคมไฟ หลายรูปแบบ - บ้านและสวน

สร้างบรรยากาศดีๆ ให้กับสวนได้ด้วย โคมไฟ หลายรูปแบบ

เมื่อความมืดมาเยือน สิ่งที่คนเราขาดไม่ได้นั่นก็คือแสงสว่าง เราจำเป็นต้องมีแสงสว่างเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต นอกจากแสงสว่างจะมีประโยชน์ที่ทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆได้ชัดเจนขึ้นแล้ว แสงสว่างก็ยังมีส่วนช่วยให้บรรยากาศภายในบ้าน หรือ ภายในสวนอบอุ่นขึ้น ซึ่งแสงสว่างที่ว่า ก็คือแสงจากโคมไฟนั่นเอง

วันนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จักว่ามีรูปแบบ โคมไฟ อะไร แล้วเหมาะกับการใช้งานแบบไหน  ลองไปดูกันเลย

โคมไฟ

โคมไฟเตี้ย (Bollard Light)

โคมไฟเตี้ย เป็นโคมไฟที่มีความสูงประมาณ 1 เมตร หรือ ต่ำกว่า ใช้ติดตั้งริมทางเดินถนนที่มีความกว้างน้อยกว่า 5 เมตร การให้แสงมีลักษณะเป็นจุด ส่องกระจายออกจากตัวโคมให้แสงสว่างโดยรอบ ระยะห่างของโคมไฟแต่ละโคมควรห่างกันประมาณ 4 – 6 เมตร เพราะถ้าตั้งห่างกันมากกว่านี้ ก็จะให้แสงไม่เพียงพอ โคมไฟเตี้ยที่ดี ควรกระจายแสงได้ดี และแสงต้องไม่แยงตาขณะที่เดินผ่านด้วย

โคมไฟ

โคมไฟเสาสูง (Light Column, Pole Light, Post top)

โคมไฟ เสาสูงเป็นโคมไฟประเภทลอยตัว ใช้ติดตั้งริมทางเดิน หรือถนนที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 – 10 เมตร ให้แสงเป็นจุด ส่งกระจายออกจากตัวโคม ให้แสงสว่างโดยรอบพื้นที่ เช่นเดียวกับโคมไฟเตี้ย แต่การกระจายของแสงขึ้นอยู่กับความสูงของโคมและประเภทของหลอดที่ใช้ ระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างเสาไฟแต่ละต้น คือ 6 – 12 เมตร ขึ้นอยู่กับความสูงของเสา ยิ่งเสาไฟสูงก็จะยิ่งกระจายแสงได้มากขึ้น

ไฟในสวน

โคมไฟฝังพื้น (In-ground Uplight)

โคมไฟประเภทนี้ มีขนาดตั้งแต่ 4 – 30 เซนติเมตร มีทั้งแบบที่หน้าเป็นโคมรูปวงกลมและสี่เหลี่ยม ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ สำหรับโคมไฟประเภทนี้ มักนิยมใช้ติดตั้งบริเวณทางเดินและระเบียงภายนอก เมื่อเปิดไฟจะเห็นเป็นจุดไฟเล็กๆ โคมไฟฝังพื้นขนาดเล็ก นิยมใช้หลอดไฟแอลอีดี เพราะมีขนาดเล็กและเลือกสีของแสงได้หลายสี ส่วนโคมไฟฝังพื้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ เหมาะกับการให้แสงกับผนังอาคารภายนอก หรือฝังกับพื้นดินเพื่อให้แสงสว่างกับต้นไม้ เป็นต้น

ไฟในสวน

ไฟที่เป็นเส้นยาว (Linear Light)

สำหรับงานแลนด์สเคป ไฟที่มีลักษณะเป็นเส้นยาว ที่มักใช้ภายนอกคือแอลอีดีแบบเส้น นิยมติดตั้ง บริเวณลูกนอนบันได หรือ ใต้ม้านั่งยาวในสวน เพื่อให้แสงสว่าง ต่อเนื่องเป็นแนวยาว สามารถติดตั้งในพื้นที่ๆเป็นซอกหลืบได้อย่างพอเหมาะ ปัจจุบันแอลอีดีแบบเส้นได้รับความนิยม เพราะมีขนาดเล็กและบาง โดยมีความกว้างเฉลี่ย 10 มิลลิเมตรและมีความหนาไม่เกิน 3 มิลลิเมตร ส่วนความยาวให้เลือกตั้งแต่ 5 – 10 เมตร ประโยชน์ของการใช้แอลอีดีนอกจากประหยัดพลังงานแล้ว ราคาก็ไม่แพงเกินไป

BSP090304-110

ไฟผนัง (Wall Recessed Light, Foot Light)

ไฟประเภทนี้ เป็นไฟที่ต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า Black Out เพื่อฝังไปกับโครงสร้างผนัง นิยมใช้กับผนังริมทางเดิน ผนังข้างบันได หรือลูกนอนบันได เป็นต้น

BSP080129-126

ไฟติดผนังหรือไฟกิ่ง (Wall Scone, Surface Mounted Light)

โคมไฟติดผนัง เป็น โคมไฟ สำหรับตกแต่งชนิดหนึ่ง มีสไตล์ที่แตกต่างกัน ถ้าจะติดโคมไฟประเภทนี้ให้สวยงาม ควรคำนึงถึงการเดินสายไฟ หากสามารถสกัดผนังเพื่อเก็บท่อร้อยสายไฟได้ จะช่วยให้บ้านยิ่งดูสวยงาม

โคมไฟส่องต้นไม้

โคมไฟส่องต้นไม้ (Tree Uplight, Downlight)

โคมไฟ ส่องต้นไม้ นับว่าเป็นโคมไฟพื้นฐาน ของการออกแบบแสงในสวนเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าไม่มีไฟส่องต้นไม้ อาจทำให้ไม่เห็นสีของใบไม้ รูปทรงของต้นไม้ หรือแม้แต่บรรยากาศของสวนในตอนกลางคืนได้เลย ไฟส่องต้นไม้แบ่ง ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

– แบบส่องขึ้น

โคมไฟแบบปักดิน มักใช้กับต้นไม้ทรงพุ่ม และแบบที่ยึดกับลำต้น มักใช้กับต้นไม้สูงชะลูดอย่างต้นมะพร้าว

– แบบส่องลง

ส่วนใหญ่จะผูกติดไว้กับลำต้นหรือกิ่งที่แข็งแรง เพื่อให้แสงสว่างแก่พื้นที่สวนส่วนล่าง

ไฟเบอร์ออปติก

ไฟเบอร์ออปติก

มีลักษณะเป็นแสงไฟระยิบระยับ โดยหลักการให้แสงหักเหผ่านตัวกลาง อย่างแรกต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า อิลลูมิเนเตอร์ (Illuminator) เป็นแหล่งกำเนิดแสงปกติ ส่วนที่สองคือเส้นไฟเบอร์ออปติก ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถนำแสงหักเห ผ่านตัวมันเองได้ในระยะทางไกล ไม่เกิดความร้อนที่วัสดุ และไม่นำไฟฟ้า จึงปลอดภัยเมื่อนำไปใช้กับสระว่ายน้ำ มีรูปแบบการให้แสง 2 แบบ

แบบที่ให้ความสว่างตรงปลาย นิยมติดตั้งฝังไปกับฝ้าเพดาน พื้น หรือ สระว่ายน้ำ

แบบที่ให้ความสว่างตลอดเส้น เหมาะสำหรับงานที่ต้องการเห็นแสงสว่าง สีสัน นิยมใช้กับงานตกแต่งภายใน

ไฟใต้น้ำ

ไฟใต้น้ำ

นิยมใช้สำหรับสระว่ายน้ำ บ่อบัว หรือ บ่อปลา จัดเป็นโคมไฟใต้น้ำทั้งสิ้น ตัวโคมออกแบบมาเพื่อให้สามารถแช่น้ำโดยไม่มีปัญหาเรื่องการรั่วซึมของน้ำเข้าไปในอุปกรณ์

เป็นอย่างไรบ้าง สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ โคมไฟ ที่นำมาฝากในวันนี้ หาใครสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การใช้แสงไฟตกแต่งสวน สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จาก หนังสือ Outdoor Lighting Design อีกหนึ่งหนังสือดีๆจากสำนักพิมพ์บ้านและสวน

เรื่องและภาพ : Outdoor Lighting Design
เรียบเรียง: Tatsareeya S.