บ้านใหม่จาก บ้านไม้ เก่า ยกใต้ถุนสูงอยู่กลางสวนมะพร้าว
แบบบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง หลังนี้ สร้างขึ้นด้วยแนวคิดการผสมผสานไม้เก่าหลากประเภทเพื่อให้ได้บ้านไม้หลังใหม่ในงบประมาณที่ไม่สูงเกินไป พร้อมอาศัยสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่นของสวนผลไม้เก่าในคลองดำเนินสะดวก ซึ่งมีต้นไม้เยอะ มีร่องน้ำ จึงเหมาะกับการเปิดช่องลมและยกใต้ถุนสูงให้ลมพัดผ่าน
Design Directory : Studio Miti
ในสมัยที่คลองดำเนินสะดวกยังเป็นเส้นทางสัญจรหลักของผู้คน ที่ดินซึ่งไม่ได้อยู่ติดคลองจึงมักใช้เป็นที่ทำสวนทำไร่มากกว่าใช้อยู่อาศัย เหมือนกับที่ดินผืนนี้ซึ่งมีขนาดราว 7 ไร่ ใช้เป็นพื้นที่ทำสวนมาหลายสิบปี ปลูกพืชผลมาแล้วหลายอย่างจนกระทั่ง คุณกบ – ณัฐธภาคย์ ธำรงโรจนพัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 4 ได้มองเห็นถึงบรรยากาศความร่มรื่นกลางสวนนี้ จึงเริ่มปรับปรุงพื้นที่ด้วยการถมร่องน้ำเก่าบางส่วน เพื่อสร้าง แบบบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง ขนาดกะทัดรัดขึ้นมา
“จริงๆ ก็คิดอยากกลับมาทำสวนที่นี่ด้วย เลยจะสร้างบ้านเอาไว้ก่อน ตอนแรกตั้งใจสร้างแบบเพิงเล็กๆ ขนาดห้องนอนเดียว แต่พอคำนวณค่าก่อสร้างและปรึกษาช่างดูแล้วรู้เลยว่าไม่คุ้ม เพราะถ้าเพิ่มงบประมาณขึ้นอีกก็จะได้บ้านที่อยู่สบายไปเลย ผมเลยลองติดต่อสถาปนิกทาง Studio Miti ดู ให้ช่วยออกแบบบ้านไม้ในงบประมาณที่ไม่มากจนเกินไป ซึ่งตอนนั้น คุณบั๊ม – ประกิต กัณหา ก็ได้มาดูสถานที่ที่ยังเป็นสวนป่ารกๆ จากนั้นก็ออกแบบ แบบบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง ที่มีสเต็ปไม่ได้สูงมาก”
คุณกบเล่าว่า หลังจากนั้นก็มีการปรับแบบบ้านอยู่หลายครั้งจนทำให้บ้านชั้นเดียวขนาดย่อมๆ ขยับขยายมาเป็นบ้านสองชั้นยกใต้ถุนสูง ด้วยว่าพื้นที่แถวนี้เคยมีน้ำท่วมถึงมาก่อน แนวคิดการยกใต้ถุนบ้านจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคตที่ไม่อาจคาดเดาได้ ประกอบกับการที่ได้เสาไม้เก่าคุณภาพดีมาสำหรับทำเสาโครงสร้างของบ้าน จึงไม่อยากตัดทิ้งทำให้ความสูงของบ้านดีดตัวขึ้นจากแบบไปอีก จนต้องปรับแก้แนวหลังคากันใหม่ ทำให้กลายเป็นบ้านที่สูงโปร่งขึ้นพร้อมพื้นที่ใช้สอยภายใน 112 ตารางเมตร
“ผมกับภรรยาชอบอยู่บ้านไม้ ผมนี่เกิดและโตในบ้านไม้มาตลอด ก็เลยตั้งใจว่าจะต้องสร้างบ้านไม้ไว้ตรงนี้ แต่ด้วยงบประมาณที่ไม่มากนัก คุณบั๊มจึงแนะนำว่าถ้าจะสร้างบ้านไม้ราคาประหยัดก็สามารถใช้ไม้ขนาดสั้นคละแบบมาประกอบกัน แล้วตีกรอบให้สวยด้วยเส้นเหล็กบางๆ เพื่อให้ผนังบ้านดูสวยสมมาตรได้โดยไม่ต้องใช้ไม้แผ่นยาวที่มีราคาแพงทั้งหมด“
ผนังบ้านภายนอกจึงเกิดขึ้นจากการผสมผสานของไม้ประดู่กับไม้แดงคละสีคละลาย แต่เน้นให้ดูกลมกลืนกันในโทนสีเข้ม ต่อเนื่องไปถึงผนังภายในบางส่วน จนกระทั่งวัตถุดิบไม้ทั้งสองประเภทนี้หมด และเพื่อให้งานก่อสร้างดำเนินต่อได้โดยไม่หยุดชะงัก คุณกบจึงได้เลือกผสมไม้ยางในผนังส่วนที่เหลือ ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีก็จะเห็นโทนสีอ่อนที่แตกต่างของไม้ยาง แต่เมื่อนำมาใช้ภายในจึงกลายเป็นข้อดีที่ช่วยให้เกิดความโปร่งสว่างมากขึ้น
ขณะที่การวางผังฟังก์ชันต่างๆ ภายในบ้านยังคงเป็น Open Plan เหมือนที่คุณบั๊มได้ออกแบบไว้แต่แรก โดยจัดวางให้เหมาะสมไปกับวิถีชีวิตผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีส่วนรับแขกแยกชัดเจนเหมือนบ้านแบบตะวันตก เพราะทั้งคุณกบและคุณจุ๋ม – วีณ์ลภัส ธำรงโรจนพัฒน์ ผู้เป็นภรรยามักใช้เวลานั่งเล่นอยู่บริเวณโต๊ะอเนกประสงค์กลางบ้าน ซึ่งใช้งานได้ทั้งพักผ่อนส่วนตัว รับประทานอาหาร นั่งสังสรรค์ และรับแขกไปในตัว
“แต่ผมปรับแบบพื้นที่ครัวจากเดิมที่วางห้องครัวไว้หลังบ้านก็ย้ายเป็นครัวไทยลงมาอยู่ใต้ถุนบ้านไปเลย เพื่อให้สะดวกกับการทำครัวโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความร้อนหรือกลิ่นควัน ส่วนบนบ้านให้เป็นครัวแพนทรี่ที่เน้นเคาน์เตอร์ไม้สำหรับไว้ชงกาแฟทำเครื่องดื่มหรือเตรียมอาหารง่ายๆ ส่วนตรงนี้ผมให้ช่างช่วยทำหน้าต่างไม้บานเฟี้ยมกั้นแยกไว้ด้วยเพื่อให้ดูเป็นสัดส่วนแต่ไม่ปิดทึบให้อึดอัดตา”
ชั้นบนของบ้านแยกไว้เป็นพื้นที่ของห้องนอน 2 ห้อง ในขนาดพื้นที่ที่สถาปนิกคำนวณแล้วว่าอยู่ในระยะของความพอดีสำหรับการนอนพักผ่อน ไม่จำเป็นต้องเน้นพื้นที่กว้างที่อาจไปเพิ่มความเวิ้งว้างมากเกินไป และเจ้าของบ้านทั้งคู่เองก็ชอบความเรียบง่าย จึงตกแต่งส่วนนอนไว้ด้วยการวางฟูกราบไปกับพื้นไม้ ทุกๆ คืนก็จะกางมุ้งกันยุงก่อนนอน โดยไม่จำเป็นต้องติดเครื่องปรับอากาศเลย
“เราผ่านฤดูร้อนกันมาแล้วก็อยู่ได้ อาจเป็นเพราะข้อดีของบ้านไม้คือตัววัสดุไม้ไม่อมความร้อนนาน เวลากลางวันเราอยู่ข้างล่าง ย้ายมุมนั่งหลบแดดไปตามช่วงเวลาของวัน อย่างตอนเช้าแดดมาด้านหลังเราก็มาอยู่ด้านหน้า บ่ายแดดมาด้านหน้าเราก็ย้ายไปนั่งที่ระเบียงหลังบ้าน ดึกๆ ช่วงหัวค่ำร้อนไม่นานสักพักอากาศก็จะเริ่มเย็นลง แค่เปิดพัดลมก็อยู่ได้ เพราะบ้านหลังนี้ได้อาศัยสภาพแวดล้อมที่เป็นสวนเก่า มีต้นไม้เยอะ มีร่องน้ำ มีใต้ถุนให้ลมพัดผ่าน เป็นตัวช่วยลดทอนความร้อนของอากาศได้ดี เวลาหน้าฝนก็อาศัยชายคาที่ยื่นยาวและการต่อเติมชายคาเพิ่มบางส่วน เราก็อยู่ได้สบายเลย”
แม้ว่าไม้จะกลายเป็นวัสดุสร้างบ้านราคาแพงทำให้การสร้างบ้านแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณสูง แต่สถาปนิกก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการออกแบบบ้านไม้ไทยๆ หลังนี้ให้มีความร่วมสมัยได้ทั้งในเชิงออกแบบและฟังก์ชันการใช้งาน ภายใต้งบประมาณที่พอดี ทีสำคัญคือให้เจ้าของบ้านได้อยู่อาศัยอย่างร่มเย็นโดยใช้ประโยชน์จากบริบทแวดล้อมได้อย่างดี
เจ้าของ : คุณณัฐธภาคย์ – คุณวีณ์ลภัส ธำรงโรจนพัฒน์
สถาปนิก : Studio Miti โดยคุณประกิต กัณหา
- เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
- ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
- สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์