บ้านน็อคดาวน์ชั้นเดียว สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังในงบ 1.2 ล้านบาท

บ้านไม้สักชั้นเดียว อบอุ่น โปร่งสบาย

บ้านไม้ถอดประกอบที่คิดต่อยอดจากภูมิปัญญาของคนที่อยู่กับแหล่งไม้สัก ผสานเทคนิคงานไม้เข้ากับการรู้จักธรรมชาติของไม้สักอย่างถ่องแท้ เพื่อให้แต่ละส่วนของ บ้านน็อคดาวน์ชั้นเดียว มีความสวยงามและใช้ไม้ได้อย่างคุ้มค่า

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: PREBUILT ASIA

บ้านไม้ถอดประกอบอาจดูเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป ทั้งจากเรือนไทยโบราณและบ้านน็อกดาวน์ในสมัยนี้ แต่บ้านหลังนี้ซึ่งออกแบบโดย คุณปอย - ปวีณา ถือคำ แห่ง PREBUILT ASIA สถาปนิกสาวที่คิดต่อยอดภูมิปัญญางานไม้ที่มาจากกิจการโรงไม้ของครอบครัวในจังหวัดแพร่ มาสู่การออกแบบ บ้านน็อคดาวน์ชั้นเดียว ที่เริ่มคิดจากธรรมชาติของไม้สัก ตั้งแต่การเลือกแหล่งปลูก อายุ ขนาด และวิธีการประกอบ เพื่อให้ใช้ไม้ประกอบเป็นแต่ละส่วนของบ้านอย่างคุ้มค่าที่สุด ปัจจุบันยังรับออกแบบและสร้างบ้านสำเร็จรูปและออกแบบตามบ้านตามความต้องการ โดยใช้ระบบคำนวณแบบ BOQ

บ้านน็อคดาวน์ช้้นเดียว
บ้านไม้สักยกพื้นสูงสไตล์เอเชียร่วมสมัย ด้านหน้าเป็นชานเปิดโล่งและเฉลียงให้ออกมานั่งเล่นรับลมได้ ทำชายคายื่นยาวป้องกันแสงแดดและฝนได้ดี บ้านหลังนี้สร้างบนพื้นที่โล่งด้านหน้าของบ้านเดิม จึงสามารถใช้เป็นบ้านพัก เรือนรับรอง หรือปรับเป็นร้านกาแฟก็ได้
บ้านน็อคดาวน์ชั้นเดียว รั้วบ้าน
ออกแบบรั้วบ้านไม่สูงมากนัก และยกพื้นบ้านสูงประมาณ 1 เมตร เมื่ออยู่ภายในบ้านก็ยังสามารถมองเห็นมุมมองรอบบ้าน ทำหลังคาด้านหน้ายื่นยาวมาถึงประตูรั้ว เสมือนเป็นโถงทางเข้าแบบเปิดโล่งที่เปิดต้อนรับผู้มาเยือน
เมื่อเดินเข้าประตูรั้วมาจะพบชานเปิดโล่งด้านหน้า มีที่นั่งให้นั่งพักและค่อยๆปรับความรู้สึก ก่อนเดินขึ้นเฉลียงและเข้าไปภายในบ้าน
บ้านน็อคดาวน์ชั้นเดียว เฉลียง
ทำเฉลียงเป็นรูปตัวแอล (L) ให้รองรับการใช้งานอเนกประสงค์ ทั้งใช้นั่งเล่นกับพื้นและบนม้านั่ง หรือใช้รับแขกในบรรยากาศสบาย ๆ และช่วยป้องกันแสงแดดและฝนให้ตัวบ้านได้อย่างดี

ด้วยภูมิประเทศของจังหวัดแพร่ที่เป็นภูเขาและมีป่าสักมาก ที่นี่จึงเป็นแหล่งไม้สักคุณภาพดีของประเทศ ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพเกี่ยวกับไม้สัก และการได้คลุกคลีกับวัตถุดิบมานานจากรุ่นสู่รุ่น จึงเข้าใจธรรมชาติของไม้ในแต่ละช่วงอายุว่าเหมาะกับการนำมาใช้งานอย่างไร อีกทั้งยังรู้จักการเลือกไม้คุณภาพดี การเตรียมไม้ก่อนนำมาใช้ และมีช่างที่มีความชำนาญ ดังนั้นเมื่อคุณปอยเรียนจบจึงคิดออกแบบบ้านไม้สักระบบกึ่งสำเร็จรูปให้เป็นบ้านไม้สไตล์เอเชียร่วมสมัย ซึ่งมีจุดเด่นตรงการใช้พื้นที่ต่อเนื่องร่วมกัน โดยไม่แบ่งเป็นห้อง ๆ ขาดจากกัน นอกจากจะมีพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนรวม มีพื้นที่ภายนอกและภายในแล้ว ยังมีพื้นที่ก้ำกึ่ง (Semi Space) ที่ใช้เชื่อมพื้นที่ต่างๆเข้าด้วยกัน เช่น ชาน เฉลียง และทางเดิน อย่างบ้านนี้มีพื้นที่เฉลียงและชาน 18 ตารางเมตร และภายในบ้าน 36 ตารางเมตร จึงออกแบบให้เดินเข้ามาเจอชานที่เปิดโล่งก่อน แล้วจึงเดินขึ้นมาบนเฉลียงที่มีหลังคาคลุม เป็นการค่อยๆปรับความรู้สึกจากพื้นที่โล่งไปยังพื้นที่ปิดล้อม จากนั้นจึงค่อยขึ้นไปบนบ้านซึ่งเป็นห้องมีผนังปิดล้อมโดยออกแบบเป็นโถงโล่ง มีระยะระหว่างเสา 3 x 3 เมตร ซึ่งคิดจากการใช้พื้นที่ที่เมื่อยืนอยู่แล้วพอจะเอื้อมไปรอบๆได้ง่าย และสัมพันธ์กับความยาวไม้มาตรฐานที่ยาว 3 - 4 เมตร โดยคิดเป็นยูนิต และนำแต่ละยูนิตมาต่อกัน แม้อยู่เฉลียงภายนอกบ้านก็ยังมองเห็นหรือพูดคุยกับคนในบ้านได้เพราะพื้นที่ภายในกับภายนอกต่อเนื่องกัน

เฉลียง เฉลียงไม้
เฉลียงหน้าบ้านยกพื้นสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ออกแบบให้อยู่ใต้ร่มไม้ จึงมุงหลังคาด้วยแผ่นพอลิคาร์บอเนตโปร่งแสงที่พอให้แสงผ่านลงมาได้บ้าง ยิ่งทำให้รู้สึกโปร่งสบาย
บ้านน็อคดาวน์ชั้นเดียว
แต่ละช่วงเสากว้าง 3 x 3 เมตร สามารถจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในแต่ละมุมให้ใช้งานได้พอดี ภายในบ้านเป็นโถงโล่งที่ต่อเนื่องกัน แบ่งพื้นที่ด้วยการจัดวางเฟอร์นิเจอร์และการปูพรม อย่างมุมนี้จัดเป็นมุมรับแขกโดยใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวแบบโปร่งซึ่งเจ้าของบ้านออกแบบเอง
มุมรับประทานอาหาร มุมรับประทานอาหารแบบนั่งพื้น
ภายในบ้านมีพื้นที่อเนกประสงค์ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลาย มุมนี้เป็นมุมรับประทานอาหารหรือนั่งทำงานแบบนั่งพื้น ตกแต่งด้วยโทนสีขาวที่ทำให้บ้านไม้ยิ่งดูน่าสบายมากขึ้น
มุมนั่งเล่น มุมนั่งเล่นกับพื้น
วางที่นอนกับพื้นและวางพนักพิงให้สามารถใช้นั่งเล่นแบบโซฟาเบดได้ ทำฝ้าเพดานเอียงตามหลังคาและโชว์โครงสร้าง ทำให้ภายในบ้านดูโปร่ง
ขอบล่างของหน้าต่างสูงจากพื้น 40 เซนติเมตร ซึ่งเหมาะกับระดับการนั่งพื้น และทำให้หน้าต่างดูกว้างกว่าปกติ

การก่อสร้างบ้านให้ทำฐานรากคอนกรีตหล่อในที่ แล้วยกส่วนประกอบบ้านเป็นชิ้นๆ หรือเป็นแผงมาประกอบกันที่หน้างาน เลือกใช้ไม้สักป่าปลูกอายุ 20 ปี ซึ่งเป็นอายุที่คุ้มค่าที่สุด คือเนื้อไม้มีความแข็งแรงพอ สามารถปลูกทดแทนได้เร็ว และเลือกแปรรูปไม้จากส่วนต่างๆ แล้วนำไปใช้งานให้เหมาะกับความแข็งแรง อย่างแก่นไม้ซึ่งเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุดจะนำมาทำโครงสร้าง ส่วนที่ไม่ได้รับน้ำหนักใช้ไม้ที่แข็งแรงน้อยกว่า หรือใช้ไม้อายุน้อยกว่าได้ อีกทั้งออกแบบโครงสร้างประหยัดไม้ โดยใช้ไม้ขนาดเล็ก หน้าตัด 3 x 3 นิ้ว 4 ท่อนมาประกอบเป็นเสาบ้านให้มีช่องว่างห่างกันแล้วดามจุดต่อ 3 จุด คือตรงหัวเสา ฐานเสา และกลางเสา เพื่อช่วยรับแรง อีกทั้งยังมีข้อดีที่สามารถนำคานมาเสียบเข้าช่องว่างระหว่างเสาได้เลย และยังสามารถซ่อนไฟไว้ในเสาแทนการใช้โคมไฟได้ด้วย ที่สำคัญเป็นการลดการใช้ทรัพยากร เพราะการใช้เสาต้นใหญ่จะต้องใช้ไม้ที่มีอายุมากขึ้น

ออกแบบเสาให้ประหยัดทรัพยากรโดยใช้ไม้ขนาดหน้าตัด 3 x 3 นิ้วมาประกอบกัน และเว้นช่องห่างระหว่างเสา แล้วใช้ไม้ดามต่อกัน ซึ่งนอกจากจะแข็งแรงแล้ว ยังเกิดประโยชน์อีกหลายอย่าง ทั้งสามารถเสียบโครงสร้างเข้าไปในช่องระหว่างเสาได้อย่างสวยงาม และสามารถซ่อนหลอดไฟระหว่างเสาแทนการใช้โคมไฟ แล้วยังทำให้บ้านดูโปร่งด้วย
สร้างสรรค์สีของไม้ตามการรับแรง โดยย้อมไม้ที่รับแรงมากอย่างไม้ที่ยึดและดามส่วนต่าง ๆ เช่น ไม้ยึดเสากับตอม่อ ไม้ยึดระหว่างเสา ด้วยสีเข้มที่สุด ไม้ที่รับแรงปานกลางได้แก่ ส่วนเสาและโครงสร้างต่าง ๆ ย้อมสีเข้มปานกลาง ส่วนไม้ที่รับแรงน้อย ได้แก่ ผนังและส่วนตกแต่ง ย้อมสีอ่อนหรือสีธรรมชาติ
ภายในบ้านใช้ไฟรางติดไปกับโครงสร้างหลังคา ทำให้ภายในบ้านดูเรียบง่าย ไม่รกตา
ระบบผนังใช้โครงคร่าวไม้ และกรุผนังไม้บังใบทั้งภายนอกและภายใน จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีน้ำฝนไหลย้อนเข้ามาแน่นอน
หลังคาเมทัลชีท
หลังคามุงเมทัลชีตที่กรุฉนวนกันความร้อนมาในตัว ซึ่งมีข้อดีที่น้ำหนักเบา ทำมุมลาดเอียงได้น้อย จึงประหยัดโครงสร้าง

หากพินิจดูแต่หน้าตาของบ้าน อาจจะดูพิเศษกว่าบ้านไม้อื่นๆ ที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น แต่เมื่อได้รู้แนวความคิดที่เริ่มจากต้นทางของไม้ นำมาสู่การออกแบบที่พอดี ก็ทำให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านสวยที่ไม่ธรรมดาเลย


เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : ธนาวุฒิ โชติประดิษฐ

สไตล์ : ธัญญานันท์ ศรีชัยวรรณ

“บ้านชุมดวง” การคืนชีวิตบ้านไม้ 100 ปี ใกล้พัง ใน 97 วัน

บ้านมะค่าโมง บ้านไม้ใต้ถุนสูงที่มีลมโกรกตลอดทั้งปี

บ้านในใจ…บ้านหน้าจั่วที่กลั่นความในใจสู่บ้านสุดอบอุ่น