ความลึกของบ่อเลี้ยงปลามีผลกับปลาอย่างไร
บ่อเลี้ยงปลา
บ่อน้ำตกเป็นส่วนสุดท้ายที่น้ำไหลมารวมกัน จึงมีความลึกมากกว่าส่วนอื่นๆของน้ำตก ภายในบ่อนิยมเลี้ยงปลาและปลูกไม้น้ำโดยรอบเพื่อความงาม บ่อน้ำตกแต่ละแห่งอาจมีความตื้นลึกที่ต่างกันออกไป ขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ซึ่งย่อมส่งผลต่อคุณภาพของน้ำและปลาในบ่อ ดังข้อมูลจากเล่ม การทำน้ำตกและลำธารในสวน
บ่อเลี้ยงปลา หลายคนอยากทำบ่อเลี้ยงปลาในบ้าน ก่อนทำควรกำหนดตำแหน่งของบ่อให้ควรอยู่บนที่ราบ บริเวณใกล้ส่วนพักผ่อน เพื่อรับมุมมองจากบริเวณที่ใช้งานบ่อยๆ และควรเป็นบริเวณที่มีร่มเงาไม่รับแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน
รูปแบบของบ่อ มักออกแบบให้กลมกลืนกับสวนโดยรอบซึ่งมีทั้งรูปแบบธรรมชาติ และสมัยใหม่บ่อน้ำตกธรรมชาติ มักออกแบบให้มีรูปทรงอิสระขอบบ่อมีความโค้งเว้ามีความกว้างและยาวอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และมีพื้นที่รองรับน้ำที่กว้างมากพอกับสัดส่วนโครงสร้างน้ำตกทั้งหมด บางแห่งอาจติดตั้งหัวน้ำพุรูปแบบต่าง ๆประกอบเข้าไป รวมถึงติดตั้งไฟส่องสว่างใต้น้ำ เพื่อเพิ่มความงามยามค่ำคืน และที่สำคัญคือในบ่อควรติดตั้งหัวพ่นอากาศ ท่อน้ำหมุนเวียนจากบ่อกรอง ท่อน้ำล้น และมีสะดือบ่อในบริเวณส่วนที่ลึกที่สุดของบ่อ จากสะดือบ่อจะมีท่อต่อไปยังบ่อกรองหรือบ่อพักต่อไป
ขอบบ่อควรออกแบบให้สูงกว่าระดับพื้นสวนอย่างน้อย 5 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากพื้นสวนไหลลงบ่อ หากวางหินบริเวณขอบควรให้ปริ่มน้ำเพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติ โดยส่วนที่จะวางหินออกแบบให้มีบ่าหรือปีกรับหินกว้างเท่ากับหรือมากกว่าขนาดหินที่วางเสมอ โดยให้บ่านี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำในบ่อ 15-30 เซนติเมตร หรืออย่างน้อย 5-10 เซนติเมตรอีกทั้งบ่าที่วางหินแต่ละส่วนไม่จำเป็นต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ให้อยู่ลึกบ้าง ตื้นบ้างตามความเหมาะสม แต่เมื่อวางหินลงบนบ่ารับนี้แล้ว ส่วนหนึ่งของก้อนหินจะจมปริ่มอยู่ในน้ำ และใช้ด้านหลังของก้อนหินเป็นแนวขอบบ่อ กั้นน้ำจากพื้นสวนไม่ให้ไหลลงบ่อ อีกทั้งรอบบ่อนิยมปลูกพรรณไม้ประกอบให้ดูเป็นธรรมชาติและช่วยลดความแข็งของหิน และขอบบ่อลงได้ส่วนหนึ่ง
ส่วนบ่อน้ำตกสมัยใหม่ มักออกแบบเส้นสายของขอบบ่อให้ดูเรียบง่าย เป็นเหลี่ยม กลม หรือหากมีรูปทรงอิสระ ก็จะดูเด่นชัด ปลูกไม้น้ำที่มีเส้นสายทางตั้งอย่างกกธูป คล้าน้ำ ว่านน้ำ หรือเส้นสายแนวนอน เช่น บัว อะเมซอน ประกอบพร้อมติดตั้งไฟใต้น้ำให้สวยงาม
ลักษณะบ่อน้ำตกจะมีความตื้นลึกต่างกัน ขึ้นกับวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่น
- บ่อที่มีความลึกของระดับน้ำน้อยกว่า 40 เซนติเมตร เป็นบ่อที่นิยมใช้กับสวนน้ำตกภายในอาคาร ที่ไม่ได้รับแสงโดยตรง แต่รับแสงโดยอ้อมหรือแสงเทียม (แสงสว่างจากหลอดไฟในอาคาร) บ่อลักษณะนี้จะรับน้ำหนักไม่มากนัก พื้นบ่อโรยด้วยกรวดและหินหลากหลายขนาด เพื่อความสวยงามและเป็นธรรมชาติ
บ่อที่มีความลึกขนาดนี้ถ้าอยู่ในสวนภายนอกอาคารและได้รับแสงแดดจัด อาจเกิดปัญหาเรื่อเงความร้อนของน้ำในบ่อเลี้ยงปลา เกิดความขุ่นทั้งจากตะกอนที่ลอยขึ้นผิวน้ำเมื่ออุณหภูมิน้ำสูงขึ้น และเกิดตะไคร่น้ำเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าพื้นที่นั้นได้รับแสงแดดน้อย คือ ได้รับแสงแดดโดยตรงประมาณวันละไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง ปัญหาเหล่านี้ก็จะลดน้อยลง แต่ทั้งนี้ควรเลือกพรรณไม้ประกอบที่ต้องการแสงน้อยเช่นเดียวกัน
- บ่อที่มีความลึกของระดับน้ำตั้งแต่ 40-60 เซนติเมตร เป็นบ่อที่นิยมสร้างประกอบน้ำตก หรือใช้สำหรับเลี้ยงปลาที่มีขนาดเล็ก ได้แก่ ปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลาเงินปลาทอง ปลาไน และปลากระดี่ สามารถเลี้ยงปลาคาร์ฟได้แต่ปลาจะโตช้า และหากบ่ออยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับแสงแดดไม่เกินครึ่งวัน และมีระบบกรองที่ดี จะทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น สามารถเลือกใช้พรรณไม้ประกอบได้หลายชนิด ทั้ง ไม้ใบและไม้ดอก เฟิน หรือไม้คลุมดินที่ละเลื้อยบริเวณขอบบ่อ ให้กลมกลืนกับรูปแบบสวนที่กำหนด บ่อลักษณะนี้เป็นบ่อที่สร้างง่าย และประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง
- บ่อที่มีความลึกของระดับน้ำ 0.75–1.40 เมตรหรือลึกมากกว่านี้ เป็นบ่อประกอบน้ำตกที่ใช้สำหรับเลี้ยงปลาคาร์พ หรือปลาขนาดใหญ่อื่น ๆ (แบบเน้นการเติบโตที่ดีของปลาในบ่อ ) บ่อลักษณะนี้ต้องพิจารณาเรื่องการก่อสร้างเป็นพิเศษ ทั้งในเรื่องความแข็งแรง เนื่องจากรองรับน้ำในปริมาณมาก ควรออกแบบระบบไหลเวียนน้ำ ระบบกรอง การพ่นอากาศ และการปรับแต่งคุณภาพน้ำเพื่อคุณภาพที่ดีของปลาในบ่อ
แต่เนื่องจากบ่อลักษณะนี้มีความลึก ดังนั้นก่อนออกแบบต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของสมาชิกในบ้านด้วยว่ามีเด็กหรือผู้สูงอายุหรือไม่ ซึ่งหากมีควรออกแบบเพื่อป้องกันการพลัดตกไว้ด้วย หรือเลือกให้อยู่ในบริเวณที่ทั้งสองกลุ่มเข้าไม่ถึง
ก่อนออกแบบบ่อเลี้ยงปลา จึงควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งานทุกครั้ง เพื่อกำหนดความลึกของบ่ออย่างเหมาะสม ทั้งควรพิจารณาด้วยว่า จะทำบ่อเพื่อความงามของสวนโดยมีปลาเป็นส่วนประกอบ หรือทำบ่อเพื่อการเติบโตที่ดีของปลา
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องส่วนประกอบของบ่อและการวางระบบน้ำในบ่อได้จากหนังสือ “การทำน้ำตกและลำธารในสวน”
ข้อมูล : ขวัญชัย จิตสำรวย
เรียบเรียง : ทิพาพรรณ ศิริเวชฎารักษ์
ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย
l l l l l l l l l l l l l l ll l l l l l l l l l l l l l ll l l l l l l l l l l l l l ll l l l l l l l l l l l l l l
https://www.google.com/search?client=firefox-b-d&q=%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2