คุยกับ “โครงการสวนผักคนเมือง” ที่ปรึกษาให้เราเริ่มต้นลงมือปลูกผักทานเองได้
ยุคที่มีโรคระบาดและเศรษฐกิจย่ําแย่ ผู้คนเริ่มประสบปัญหาทั้งเรื่องปากท้องและเรื่องสุขภาพ การปลูกผักรับประทานเองกลายเป็นอีกหนึ่งคําตอบที่หลายคนเริ่มให้ความสนใจ แต่จะเริ่มต้นลงมือทําได้อย่างไร นั่นจึงเป็นที่มาให้เราได้พูดคุยกับกลุ่มสวนผักคนเมืองที่เป็นผู้ผลักดันให้เกิดกิจกรรมปลูกผักขึ้นในสังคมคนเมืองและย่านที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางให้คุณได้เริ่มต้นลงมือปลูกผักด้วยตัวเอง
กว่าจะเป็น โครงการสวนผักคนเมือง
มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เป็นองค์กรหนึ่งในบ้านเราที่มีวัตถุประสงค์ทําเกษตรกรรมแบบยั่งยืน เพื่อเป็นทางออกของการช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องการใช้สารเคมี การทําลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยต่อมาหลายภาคี ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายของมูลนิธิ เล็งเห็นว่าพื้นที่เมืองซึ่งมีทางออกของปัญหาด้านอาหารการกินและสุขภาพน้อยกว่าพื้นที่ในชนบทที่เป็นแหล่งผลิต จึงได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนให้คนในเมืองได้มีสุขภาพดีผ่านอาหารการกินและการทําเกษตร มูลนิธิจึงดําเนินการในนามของ“โครงการสวนผักคนเมือง” ต่อมาหลังวิกฤติน้ําท่วมในช่วงปี พ.ศ.2554 คนเมืองที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักยิ่งตระหนักและตื่นตัวกับวิกฤติดังกล่าวมากขึ้นเพราะต้องพึ่งการนําเข้าอาหารจากการขนส่งภายนอกเพียงอย่างเดียว ยกเว้นคนเมืองที่ปลูกผักบริโภคเอง ทั้งที่ร่วมกับโครงการและยังไม่ร่วมหลายครอบครัว โดยเฉพาะสวนดาดฟ้าที่ยังคงมีวัตถุดิบทําอาหารรับประทานได้ปกติ
ถ้าปลูกคนเดียวไม่ได้ก็ต้องช่วยกัน
“สวนผักคนเมืองนอกจากสร้างอาหารสําหรับบริโภคได้แล้ว ยังเป็นพื้นที่สีเขียวที่ทําให้คนมืองได้กลับมาทํางานด้วยกัน เราคิดว่าพื้นที่รูปธรรมที่ทําเกษตรกรรมหรือเพาะปลูกอาหารควรจะทําให้คนเมืองหันมามีปฏิสัมพันธ์กัน สร้างการมีส่วนร่วมกันในองค์กรและชุมชนผ่านการปลูกผัก ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องทําให้คนหันกลับมาพูดคุยกัน อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศเดิมอีกด้วย”คุณวรางคนางค์ นิ้มหัตถา หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมืองมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) เล่าให้เราฟัง
นอกเหนือจากประชาสัมพันธ์ให้คนตระหนักถึงความสําคัญของอาหารอินทรีย์แล้ว ยังทําให้คนเป็นผู้บริโภคที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์อินทรีย์และเป็นผู้ผลิตไปด้วยในตัว จนเกิดเป็นพื้นที่รูปธรรมที่ทําเกษตรร่วมกัน โดยกลุ่มคนที่จะสามารถเป็นสมาชิกของโครงการต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1.ต้องใช้พื้นที่ส่วนกลางของชุมชน องค์กร หรือพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ปลูกผักด้วยกัน ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกันได้ และยังให้ผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมหาความรู้ รวมถึงเก็บผลผลิตเล็กๆน้อยๆจากแปลงไปได้
2.ต้องรวมกลุ่มกันอย่างน้อย10ครอบครัวขึ้นไป
3.ปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีใดๆ ให้ความสําคัญกับการปลูกที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น การปลูกผักลงดิน เพราะในเมืองยังมีผืนดินที่สามารถปลูกได้ดี พรรณไม้ทั่วไปสามารถงอกเงยในดินได้ไม่ยาก
4.ได้ทํางานร่วมกันในลักษณะนี้แล้วอย่างน้อย1ปี
สามารถไปเรียนรู้การปลูกผักได้ที่ไหน?
สําหรับคนทั่วไปที่สนใจอยากปลูกผักรับ-ประทานเองในบ้าน สามารถมาเรียนรู้และอบรมกับกลุ่มเกษตรกรที่ร่วมโครงการได้ที่ศูนย์อบรมสําหรับให้ความรู้เรื่องการทําเกษตรในเมือง เช่น
ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก(ลาดพร้าว71)
ศูนย์อบรมสวนผักบ้านคุณตา (สุขุมวิท62)
สวนเกษตรดาดฟ้า สํานักงานเขตหลักสี่
หรือ ทางwww.thaicityfarm.com โทรศัพท์0-2057-3913, 06-4150-2259
คุณวรางคนางค์กล่าวทิ้งท้ายว่า “ความจริงแล้วเรียนปลูกผักหรือการทําเกษตรอินทรีย์แค่1ครั้งพอมีความรู้พื้นฐานก็เพียงพอแล้ว ทําได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณลงมือทําหรือเปล่า ทุกคนสามารถปลูกผักได้เข้าถึงอาหารที่ดีได้จะปลูกผักสักกระถางหรือสองกระถาง คุณไม่ต้องเสียเงินซื้ออะไรพวกนี้ในตลาด ขอแค่ลองและทําจริงๆ แต่ถ้ายังไม่ได้อาจโทร.มาสอบถามได้ มาดูที่นี่หรือเข้าอบรมตามศูนย์ต่างๆ และกลับไปทําอีกครั้งก็ได้”
มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)
ที่อยู่ เลขที่ 3/13 หมู่ที่ 6 ซอยบางอ้อ 2 ถนน บางรักน้อย 18 ตำบล ไทรม้า อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ /แฟ๊กซ์ 02-057-3913
E-mail: [email protected]
facebook : https://www.facebook.com/SAF.Thailand/
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน และ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)