บ้านโมเดิร์นทรอปิคัล ที่รับลมและวิวจากสวน 4 ฤดู
การใช้ชีวิตในห้องนั่งเล่นของบ้านหลังนี้ เราไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเลย แม้รูปทรงของบ้านจะดูมีความทันสมัยมาก ไม่ใช่บ้านไทยแบบที่คุ้นเคย แต่นี่คือบ้านโมเดิร์นทรอปิคัลหลังใหญ่ ที่สถาปนิกออกแบบให้ลมไหลผ่านได้ตลอดทั้งชั้นล่าง และยังรับวิวสวนสวยได้จากทุกมุมมอง
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Somdoon Architects
สถาปนิก: Somdoon Architects โดยคุณกมลรัตน์ อนันตสุวัฒน์ คุณฐิติพรรณ เชื้อสวัสดิ์ คุณพันธุ์พงษ์ วิวัฒน์กุล คุณพิบูลย์ อมรจิรพร คุณศุภรัตน์ วรเลิศชัยฤทธิ์ คุณสุภัทร วงษ์รัตนะ
ภูมิสถาปนิก: Sanitas Studio โดยคุณสนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ คุณวงศ์วริศ ศิวัฒน์วราสุข และคุณกรองกาญจน์ อัครเอกฒาลิน
เจ้าของ: คุณสารวุฒิ ดลสุขกุล และครอบครัว บ้านโมเดิร์นทรอปิคอล
ต้องการบ้านที่มีลม และเห็นเสาบ้านให้น้อยที่สุด คือโจทย์แรกที่ คุณบอล-สารวุฒิ ดลสุขกุล เริ่มต้นคุยกับสถาปนิก หลังจากที่ศึกษางานออกแบบบ้านจากหลายที่ คุณบอลก็ตัดสินใจคุยกับ Somdoon Architects ซึ่งมีความชำนาญในการออกแบบบ้านโมเดิร์นทรอปิคัล ตั้งแต่บ้านไปจนถึงโครงการอาคารขนาดใหญ่ ทั้งในไทยและสิงคโปร์
บ้านหลังนี้มีสมาชิกทั้งหมด 9 คน คือคุณพ่อ คุณแม่ ลูก 4 คน และรุ่นหลานอีก 2 คน “ผมมีลูก 2 คน แล้วก็มีความคิดว่า จากที่เคยแยกกันอยู่ ก็ต้องการที่จะมาอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ พี่น้องจะอยู่อย่างไร มีพื้นที่ส่วนตัวแยกไปยังไง ส่วนสิ่งที่ขอดีไซเนอร์อย่างแรกเลยคือ ขอบ้านที่มีลม ขอให้ทุกห้องมีลมผ่าน” จากประสบการณ์ของคุณบอลที่เคยไปบ้านใหญ่ๆ มาหลายหลัง พบว่าบ้านหลายหลังไม่มีลมผ่าน และต้องเปิดแอร์ตลอด การเข้าใจในลม แดด และภูมิอากาศบ้านเรา จึงจำเป็นมากในการออกแบบบ้านหลังนี้
คุณพันธุ์พงษ์ วิวัฒน์กุล สถาปนิกแห่ง Somdoon Architects อธิบายให้เราว่า หลักใหญ่ของการออกแบบบ้านหลังนี้มีอยู่ 3 อย่างคือ การให้อากาศไหลเวียนได้ดี (Cross Ventilation) พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างส่วนต่างๆ ของบ้าน (Transition Space) และความยึดหยุ่นของพื้นที่ภายในและภายนอก
ช่องเปิดต่างๆ ของบ้านไม่ว่าจะเป็นประตู หน้าต่าง ออกแบบให้เป็นช่องกว้างและมีการตรวจสอบเรื่องทิศของลมที่จะไหลเข้าออกตลอด จากแปลนบ้านที่มีแกนกลางเป็นเส้นทางเดินตรงคล้ายกากบาท และวางอาคารเพียงแค่หนึ่งในสี่ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้ลมไหลเข้าออกได้อย่างสะดวก เกิดการตัดกันเป็นสวนตามปีกอาคาร 4 สวน ความรู้สึกภายในและภายนอกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เริ่มตั้งแต่คิดงานร่วมกันระหว่างสถาปนิก มัณฑนากร และภูมิสถาปนิก
สำหรับสวนทั้งหมดนี้รับผิดชอบโดย Sanitas Studio มีคอนเซ็ปต์เป็นสวน 4 ฤดู ได้แก่
สวนฤดูฝน สวนด้านหน้าที่ใกล้กับห้องรับแขกจะเป็นสวนแบบ Sculpture Garden เน้นต้นสนพันธุ์ต่างๆ รูปทรงต้นไม้มีความชัดเจน เพื่อเป็นวิวชมความงาม
สวนฤดูใบไม้ผลิ สวนที่ใกล้ห้องครัวซึ่งอยู่อีกด้านของห้องรับแขกจะเป็นสวนสมุนไพร ปลูกพืชหลายชนิดที่นำมาใช้ปรุงอาหารได้ เป็นสีสันของบ้าน และยังมีบ่อปลาคาร์ฟขนาดใหญ่เอาไว้สร้างความเพลิดเพลินได้เป็นอย่างดี
สวนฤดูร้อน ส่วนด้านหลังเป็นสระว่ายน้ำส่วนตัว ปลูกพืชไม้ผล ต้นหมาก ต้นกันเกรา เฟิน แบบสวนทรอปิคัล ได้บรรยากาศแบบรีสอร์ตส่วนตัวด้วยศาลาขนาดเล็ก เน้นการพักผ่อนและทำกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัว
สวนฤดูหนาว ส่วนด้านหลังอีกสวนเป็นเสมือน Secret Garden ในโทนสีเขียวอ่อนด้วยเนินหญ้า ต้นหลิวที่พลิ้วไหว และที่นั่งพักแบบสบายๆ บนขอนไม้ใหญ่ ด้านหน้าสุดมีอีกสวนที่เป็นเสมือนสวนต้อนรับ แทรกบ่อน้ำโอบบ้านด้านหนึ่งไว้ ขณะที่อีกด้านเป็นไผ่ช่วยให้บ้านดูอบอุ่นตั้งแต่เดินผ่านลานจอดรถเข้าไปยังประตูใหญ่
จุดสำคัญอีกจุดคือการเก็บงานระบบ พื้นที่ด้านข้างของบ้านถูกกันออกเป็นทางเดินยาว หากมองดูจากภายในบ้านจะเห็นเป็นเหมือนรั้วบ้าน แต่จริงๆ แล้วรั้วนี้เป็นรั้วภายในรั้วนอกบ้านจริงๆ อีกชั้น การเซอร์วิส ระบบไฟ งานระบบต่างๆ ช่างและแม่บ้านจะสามารถทำได้จากพื้นที่ระหว่างรั้วทั้งสองนี้ คล้ายกับงานระบบของโรงแรมที่ผู้ใช้งานจะไม่เห็นการทำงานของช่าง
การตกแต่งภายในจุดเด่นตรงห้องโถงรับแขกคือ ประติมากรรมโคมไฟขนาดยักษ์ Diamond Rice ออกแบบโดยดีไซเนอร์ คุณอานนท์ ไพโรจน์ สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้าน และมีเหลี่ยมเป็นเพชร เนื่องจากคุณบอลทำธุรกิจเกี่ยวกับจิเวลรี เป็นงานออกแบบและสั่งทำพิเศษเพื่อพื้นที่ตรงนี้โดยเฉพาะ ตั้งแต่การเก็บความเรียบร้อยซึ่งจะมองเห็นได้จากชั้น 2 ไปจนถึงระยะความสูงในระดับพอดี ที่จะไม่ทำให้เกิดเงามืดตกลงยามเปิดไฟลงบนชั้น 1
โครงสร้างพื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนที่มีระยะห่างของเสามากที่สุดถึง 13 เมตร ซึ่งยาวมาก ส่วนของเสาและคานได้รับการออกแบบให้ซ่อนไว้ในห้องเก็บของ ที่ผู้ใช้งานในบ้านไม่พบเห็นตามโจทย์แรกๆ ที่เจ้าของบ้านต้องการ ด้วยความที่คุณบอลเองก็จบทางด้านตกแต่งภายในมาเช่นกัน จึงเลือกเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเองทั้งหมด โดยมีแนวคิดที่ต้องการเน้นให้ห้องดูสูง เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่จึงเลือกสัดส่วนที่ไม่มีพนักสูงและมีเส้นนอนที่เด่นชัด เว้นแต่อาร์มแชร์ในห้องนั่งเล่นของครอบครัวตัวเดียวเท่านั้นที่มีพนักสูงเพื่อเป็นจุดเด่นของห้อง
รายละเอียดในส่วนต่างๆ ที่โดดเด่นในบ้านขนาดใหญ่หลังนี้ยังมีทั้งโถงบันไดที่เป็นเสมือนงานประติมากรรมสีสะอาดตา หลังคาทรงปีกผีเสื้อที่ช่วยให้แสงสว่างเข้าสู่ภายในได้มากขึ้นกว่าหลังคาแบนที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก การยื่นของหลังคาในมุมที่ช่วยบังแดดในหลายจุด ผนังอะลูมิเนียมคอมโพสิตซึ่งลดทอนมาจากลายประตูจีน การเชื่อมต่อพื้นที่ด้านในด้านนอกด้วยองค์ประกอบของกรวดโรยพื้น การจัดแสงไฟในยามค่ำคืนของสวน นับเป็นรายละเอียดที่ส่งเสริมให้บ้านโมเดิร์นทรอปิคัลหลังนี้มีความอยู่สบาย และมีเสน่ห์ในแบบเฉพาะตัว แม้แต่ในขณะที่เรานั่งพูดคุยก็ยังรับรู้ได้ถึงสายลมเย็นๆ จนได้ยินเสียงลมเข้ามาในไฟล์บันทึกเสียงสัมภาษณ์อยู่เป็นระยะๆ
เรื่อง: สมัชชา วิราพร บ้านโมเดิร์นทรอปิคอล
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์