สวนป่าเมืองร้อนเพื่อให้ธรรมชาติบำบัดใจ
สวนข้างโฮมออฟฟิศของหญิงสาวนักจิตวิทยา ที่ใช้ธรรมชาติช่วยผ่อนคลาย บำบัดจิตใจให้กับผู้ที่กำลังประสบปัญหาในชีวิต โดยเน้นการได้ยินเสียงน้ำ เสียงนก และความสงบเพื่อให้ได้กลับมาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ปัญหาต่างๆที่สั่งสมไว้เริ่มตกตะกอน ในขณะที่การได้สัมผัสดิน รดน้ำ ใส่ปุ๋ย กลางแสงแดดก็ช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าได้ด้วย
เจ้าของ : คุณพิชาญ มหาชนก และคุณบุณฑริกา พัทธยุติ สวนป่าเมืองร้อนชุ่มชื่น สนนสสสวน
ออกแบบ/จัดสวน : บ้านธรรมสวน โดยคุณคเชนทร์ ศรีมาก
เพราะความชอบบวกกับการงาน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสวนนี้..ด้วยไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านอย่างคุณป้อม-บุณฑริกา พัทธยุติ และคุณหมู-พิชาญ มหาชนก ที่ชื่นชอบธรรมชาติ ทุกครั้งที่มีโอกาสเดินทางมักจะเลือกท่องป่าและเที่ยวเชิงธรรมชาติ เมื่อสร้างบ้านก็ตั้งใจทำบ้านส่วนหนึ่งเป็นโฮมออฟฟิศ สำหรับพูดคุยชี้แนะการดำเนินชีวิตให้กับผู้คนที่กำลังประสบปัญหาทางใจควบคู่กันไป
“ตอนนี้ป้อมทำงานเป็นไลฟ์โค้ชค่ะ จุดเริ่มต้นของ สวนป่าเมืองร้อนชุ่มชื่น นี้เกิดจากป้อมและพี่หมูชอบน้ำ อยากมีบ้านสักหลังที่ส่วนหนึ่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีน้ำ ต้นไม้ จึงคุยกันว่าน่าจะเป็นสวนป่าน้ำตก ก็เริ่มหาข้อมูล ว่าสวนป่าแบบไหนที่เหมาะกับเรา ด้วยบ้านออกแบบให้มีโซนแยกส่วนออกมาสำหรับเป็นห้องทำงานของป้อมมีห้องน้ำ ห้องแพนทรีในตัว เป็นมุมสงบที่มองเห็นสวน ให้ผู้ที่มาเข้าคอร์สบำบัดรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งฟังจากผู้ที่ป้อมดูแล หลายคนบอกว่า พอเข้าบ้านมาเจอสวนได้เห็นต้นไม้ ได้ยินเสียงน้ำ เสียงนก ความสงบที่ได้ทำให้เขาได้กลับมาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ปัญหาต่างๆที่สั่งสมไว้เริ่มตกตะกอน จนเห็นได้ชัดเจนขึ้น เพราะขณะที่เราหงุดหงิดฟุ้งซ่านจะเกิดความสับสนงุนงง แต่เมื่อใดที่ได้ความนิ่งสงบ จะสามารถจะเรียบเรียงความคิดได้เป็นระเบียบมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ช่วยให้การทำงานของป้อมง่ายและสะดวกขึ้นค่ะ” คุณป้อม เกริ่นให้ฟังถึงแนวคิดการทำบ้านและสวนแห่งนี้
เมื่อตกลงใจทำสวนป่า จึงได้ให้นักจัดสวนอย่าง คุณคเชนทร์ ศรีมาก จากบ้านธรรมสวน ผู้ชำนาญด้านสวนแนวนี้กว่า 12 ปี มาเป็นผู้ออกแบบให้
“ เริ่มจากบริเวณหน้าบ้าน ออกแบบสวนให้ดูโปร่งตาเพื่อเสริมตัวบ้านให้โดดเด่น เมื่อเดินเข้ามาจึงรู้สึกปลอดโปร่ง สนามเป็นเนินคล้ายภูเขาเล็กๆ ซึ่งเมื่อเดินเข้ามาเรื่อยๆจนถึงบริเวณข้างบ้าน จะเจอกับหินทางเดินเหนือลำธาร เมื่อข้ามมาก็เหมือนได้สัมผัสกับอีกโลกหนึ่งที่เต็มไปด้วยธรรมชาติสีเขียวเคล้าเสียงน้ำเบาๆของน้ำตก ณ บริเวณนี้จะเริ่มเข้าสู่โลกแห่งความสงบ เพื่อเตรียมความพร้อมของจิตใจ ก่อนที่จะเริ่มพูดคุยปรึกษาถึงปัญหาต่างๆ
“จุดประสงค์ของการออกแบบห้องนี้ อยากให้ห้องเป็นเหมือนเกาะยื่นเข้าไปในน้ำ จากตัวน้ำตกถึงลำธารยาวประมาณ 15 เมตร การเลือกใช้วัสดุและพรรณไม้ อยากให้ได้บรรยากาศธรรมชาติ จึงนำหินก้อนใหญ่ วางแทรกไว้บริเวณริมน้ำตกสำหรับใช้นั่งสมาธิ ซึ่งเจ้าของบ้านอยู่กันสองคน ผมเลยกำหนดให้มีหินสองก้อน โดยใช้หินทรายเหลืองจากโคราช ที่ให้สีสันเป็นธรรมชาติ ตัวน้ำตกก็เลือกใช้หินชนิดเดียวกัน
“การก่อสร้างเนื่องด้วยเจ้าของบ้านวางแผนไว้แต่แรกว่าจะทำบ่อ จึงลงเสาเข็มลึก 20 เมตร ไว้ก่อนหน้าแล้ว ผมจึงออกแบบตัวบ่อและวางหินน้ำตกตามแนวการรับน้ำหนักของเสา ตามโจทย์ที่ได้รับคือ ใช้งานบริเวณนี้บ่อยที่สุด ให้ทำอย่างไรให้สวนนี้เห็นแล้วผ่อนคลาย เป็นธรรมชาติมากที่สุด
“แม้ธรรมชาติในสวนจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ต้นไม้ทั้งหมดต้องอยู่ด้วยกันได้ เป็นมิตรกันในระยะยาว สร้างระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันอย่างสมดุล โดยปกติหากกิ่งของต้นด้านบนแผ่ขยาย ต้นด้านล่างก็จะแผ่น้อย การปลูกจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนีและมองถึงอนาคต เพื่อที่ว่าสวนจะได้ไม่แน่นเกิน”
ในส่วนของเจ้าของบ้าน อย่างคุณป้อมมองว่า การทำสวนนั้นได้ประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง
“ เราทำงานเกี่ยวกับจิตใจคน เราก็ต้องดูแลจิตใจตัวเองให้พร้อมด้วย หากมีเรื่องเครียด ก็ต้องพยายามเคลียร์ออก เพราะหากเราดูแลตัวเองได้ดีก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น จริงๆ การรับฟังปัญหาจากผู้อื่นอาจเกิดการสั่งสมได้โดยไม่รู้ตัว จึงต้องผ่อนคลายตัวเอง สำหรับป้อมจะใช้วิธีปลูกต้นไม้ พอเราจบจากการดูแลคน เราก็มาทำสวน มือได้สัมผัสดิน รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ได้เห็นเขาเติบโตช่วยให้เรารู้สึกดี ตอนนี้ปลูกผักไว้หลังบ้านและปลูกไม้ผลบนดาดฟ้าด้วย การได้โดนแสงแดดบ้างก็ช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าได้ด้วยค่ะ”
เรื่อง : ทิพาพรรณ
ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย