บ้านหน้าแคบสีดำ ที่ซ่อนความงามไว้ภายใน
บ้านหน้าแคบ สีดำ ที่มีโจทย์สำคัญคือการทำให้บ้านยิ่งอยู่ต้องยิ่งสวย มีการออกแบบฟังก์ชันพร้อมกับการแก้สารพัดปัญหาที่ดินและโครงสร้าง ด้วยเพราะเป็นที่ดินหน้าแคบ มีรูปร่างสี่เหลี่ยมคางหมู ประกอบกับบ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันตกที่แดดร้อน จึงเป็นความท้าทายในการค้นหาวิธีที่ลงตัวที่สุดโดยใช้การออกแบบที่ดีมาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ
DESIGNER DIRECTORY :
ออกแบบ : B24 DESIGN
สถาปัตยกรรม : B24 DESIGN โดยคุณศิริพร แน่นหนา โทรศัพท์ 08-2491-2424
ออกแบบตกแต่งภายใน : บริษัทสองห้าอินทีเรียส์ จำกัด โดยคุณวรกิตต์ ศรีธิมากุล โทรศัพท์ 08-6325-2525
เจ้าของ : คุณกมลนาถ – คุณนกุล เตชะพุทธพงศ์
บ้านหน้าแคบ สีดำ ที่ตั้งเด่นอยู่หัวมุมในซอยย่านลาดพร้าว อาจไม่มีใครคิดว่าภายในเงาดำนั้นได้ซุกซ่อนแง่มุมความงามที่เกิดจากการตกตะกอนความคิด เพื่อแก้ปัญหาที่ดิน ฟังก์ชันและโครงสร้าง ซึ่งทำให้การออกแบบกลายเป็นความท้าทายของทั้งเจ้าของบ้าน คุณเก๋-กมลนาถ และ คุณนกุล เตชะพุทธพงศ์ มัณฑนากร คุณลิ – วรกิตต์ ศรีธิมากุล แห่ง 25 INTERIORS และสถาปนิก คุณโบ – ศิริพร แน่นหนา แห่ง B24 DESIGN
“เป็นบ้านแห่งการแก้ปัญหา” คือ คำเกริ่นจากเจ้าของบ้านที่ยิ่งทำให้อยากรู้ว่าบ้านที่เห็นสวยๆ แบบนี้มีปัญหาอะไร “ตอนนั้นหาบ้านใหม่เพราะลูกเริ่มโต จึงอยากได้ทำเลใกล้รถไฟฟ้าที่เดินทางสะดวก เราเห็นที่ดินผืนนี้ประกาศขายมานานแต่ไม่มีใครซื้อ อาจเพราะเป็นที่ดินขนาดไม่ใหญ่ 68 ตารางวา แต่มีหน้ากว้างเพียง 6.50 เมตร จึงลึกมาก รูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู แล้วด้านหน้ายังหันทางทิศตะวันตกที่แดดร้อนอีก แต่มีทำเลตามต้องการ เราจึงคิดว่าการออกแบบที่ดีจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้”
ตัวบ้านมีลักษณะแคบยาว โดยแบ่งอาคารเป็นสองส่วน ส่วนหน้าเป็นส่วนพักผ่อนและรับรองแขก ส่วนหลังเป็นโฮมออฟฟิศ โดยทำโถงบันไดไว้ตรงกลาง ช่วยแบ่งพื้นที่และทำให้การเดินถึงกันสะดวกขึ้น
เจ้าของบ้านทั้งคู่เป็นนักออกแบบด้านกราฟิกและออกแบบผลิตภัณฑ์ จึงเข้าใจขั้นตอนการออกแบบและวิเคราะห์ความต้องการของตัวเองได้อย่างชัดเจน “เราคิดว่าในเมื่อที่ดินมีจำกัด เราจึงใช้ความต้องการใช้สอยพื้นที่ภายในเป็นตัวตั้ง การเริ่มต้นออกแบบจึงสวนทางจากปกติ คือเริ่มจากให้มัณฑนากรวางแปลนพื้นที่ภายในก่อน แล้วจึงค่อยออกแบบงานสถาปัตย์ให้เข้ากัน ซึ่งทั้งสองคนต้องคุยกันอย่างมาก เพื่อให้ได้ฟังก์ชันตามความต้องการ ในงบประมาณจำกัด และคุ้มค่า เมื่อจะให้คุ้มค่า จึงต้องคิดให้หนักและคิดให้จบก่อนก่อสร้าง เพราะรู้ว่าถ้าทำไปสร้างไปแล้วจะเลยเถิด จึงให้ความสำคัญกับการออกแบบมากซึ่งใช้เวลาปีกว่า และก่อสร้างอีกร่วมปีจึงแล้วเสร็จ”
ด้วยความชอบประตูหน้าต่างและฟิตติ้งสไตล์วินเทจ จึงไปเหมาบานหน้าต่างเก่าจากการทุบตึกของสถานเสาวภา เก็บสะสมไว้จนได้นำมาใช้กับบ้านหลังนี้
แม้ภายนอกบ้านจะดูทึบ แต่เมื่อเข้ามาภายในกลับไม่อึดอัด โดยชั้นล่างเป็นที่จอดรถใต้อาคาร ส่วนแม่บ้าน และส่วนบริการ ชั้น 2 แยกฟังก์ชันเป็นสองส่วนมีโถงบันไดตรงกลาง คือด้านหน้าเป็นส่วนพักผ่อน รับแขก ครัว และสระว่ายน้ำ ด้านหลังเป็นโฮมออฟฟิศและห้องประชุม ชั้น 3 เป็นห้องนอน มีดาดฟ้าที่ออกแบบเป็นสวนผักและพื้นที่ออกกำลังกาย
“การวางแปลนที่นี่ค่อนข้างยาก เพราะพื้นที่แคบยาวและมีฟังก์ชันเยอะ จึงเป็นความท้าทายในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ทางแนวตั้งแทนแนวราบ รวมถึงออกแบบช่องเปิดให้สัมพันธ์กับสเปซภายใน ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ออกแบบงานสถาปัตย์ควบคู่กัน จึงมีการปรับแก้ไขทุกอย่างให้สอดคล้องและจบในแบบก่อสร้าง จึงไม่มีการทุบแก้ไขในระหว่างก่อสร้างเลย” คุณลิอธิบายการออกแบบ
ออกแบบส่วนพักผ่อนและรับประทานอาหารเป็นโถงสูงที่มีหน้าต่างโดยรอบ โดยใช้กรอบบานไม้ตัดกับโครงเหล็กและผนังสีเทาเข้ม
เจ้าของบ้านมีธุรกิจบ้านพักที่ต่างจังหวัด จึงมีพื้นที่สำหรับทดสอบเมนูอาหาร โดยทำห้องครัวแบบฟลูฟังก์ชันสำหรับทั้งอาหารไทย อาหารจีน และอาหารตะวันตก เชื่อมต่อกับแพนทรี่ และห้องโถงที่รองรับได้หลายคน แล้วยังใช้เป็นมุมปาร์ตี้ได้ด้วย
คุณโบเล่าถึงอีกการแก้ปัญหาที่ยากคือ “การทำสระว่ายน้ำบนชั้น 2 ในพื้นที่ค่อนข้างแคบ ซึ่งต้องมีงานระบบและทำโครงสร้างรองรับ แต่ชั้นล่างก็ต้องโล่งเพื่อให้จอดรถได้ จึงต้องตัดเสาที่รับสระว่ายน้ำออกและทำคานขนาดใหญ่ประมาณ 0.60 x 1 เมตร มาถ่ายน้ำหนักแทน ซึ่งเป็นเหตุผลที่พื้นชั้น 2 ดูสูงกว่าปกติ อีกทั้งก่อสร้างตามระยะถอยร่นแบบน้อยที่สุดทำให้การก่อสร้างและการขนวัสดุยาก ทั้งยังเป็นบ้านแนวลึกที่ต้องวางแผนลำดับการก่อสร้างอาคารด้านหลังกับด้านหน้าให้ดี ซึ่งสุดท้ายแก้ปัญหาให้สร้างพร้อมกันโดยใช้รถเครนมายกและเทคอนกรีตทีละชั้น”
อีกโจทย์สำคัญจากเจ้าของบ้านคือ การทำให้บ้านยิ่งอยู่ต้องยิ่งสวย จึงให้ความสำคัญกับการเลือกวัสดุที่ยิ่งใช้งานยิ่งมีเสน่ห์จากความเก่า “เราชอบสัจจวัสดุ จึงใช้ไม้ เหล็ก ปูน ที่โชว์เนื้อแท้วัสดุ อาจไม่เรียบร้อยทั้งหมด ไม่เรียบเสมอกัน แต่กลับมีเสน่ห์ อย่างผนังก็ใช้สีซีเมนต์และการก่ออิฐ ซึ่งทำให้ไม่ต้องดูแลซ่อมแซมบ่อย ยิ่งใช้นานก็ยิ่งมีคุณค่า ซึ่งพี่นกุลเป็นคนคุมงานก่อสร้างเองทั้งหมด เราทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย จึงเคยอยู่และย้ายบ้านมาหลายหลัง จนมาถึงหลังนี้ที่คุยกันว่าจะเป็นบ้านหลังสุดท้ายและไม่ย้ายไปไหนแล้ว จึงรวมทุกปัญหาที่เคยเจอกับบ้านหลังอื่นมาแก้ไขกับบ้านนี้ และบรรจุความฝันที่เคยอยากได้ไว้ในนี้ทั้งหมด ทั้งห้องสไตล์ลอฟต์ บันไดเวียน สระว่ายน้ำ บ่อบัวเลี้ยงปลา ห้องครัวแบบฟลูฟังก์ชัน
“บ้านที่ใช้ชีวิตอยู่จริงๆ นั้นไม่สมบูรณ์แบบเหมือนในโชว์รูม จึงคิดว่าถึงบ้านจะรกก็ยังคงสวย เพราะทุกอย่างในบ้านเป็นชีวิตของเรา” ความงามของบ้านไม่ใช่เพียงเสน่ห์ทางวัตถุเท่านั้น แต่สะท้อนมุมมองของเจ้าของบ้านกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความงามในตัวเอง
มีมุมนั่งพักผ่อนและอ่านหนังสืออยู่ด้านในสุด โดยทำตู้หนังสือบิลท์อินเป็นส่วนเดียวกับผนัง เจ้าของบ้านมีไอเดียว่า ผนังบ้านควรเป็นสีเข้มและทำเป็นสีซีเมนต์ เพราะแม้จะเก่าและเปื้อนก็ยังคงดูสวยอยู่
นำไม้เก่ามาทำเป็นหน้าบานตู้และลิ้นชักที่ออกแบบให้กลายเป็นผนังไม้ตกแต่งห้องไปในตัว
ห้องนอนใหญ่อยู่ติดกับสวนของโครงการหมู่บ้านข้างๆ จึงทำระเบียงให้ออกไปนั่งเล่นได้ เป็นการยืมวิวมาทำให้บ้านสดชื่นโดยที่ไม่ต้องดูแลเอง
ห้องน้ำในห้องนอนใหญ่ตกแต่งด้วยโทนสีดำตัดกับสีของไม้ แม้จะเป็นห้องที่แคบยาว แต่ก็มีการระบายอากาศที่ดี โดยทำหน้าต่างสองฝั่งคือ บริเวณเหนือกระจกเงาและข้างโถสุขภัณฑ์
ห้องนอนน้องภีมข์ ลูกชาย อยู่ส่วนหน้าของบ้านซึ่งเป็นทิศตะวันตก จึงทำผนังทึบบังแดดที่ริมระเบียง เพื่อให้ห้องนอนสามารถทำช่องเปิดได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด
ทำชั้นดาดฟ้าเป็นพื้นที่ปลูกผักสวนครัวและออกกำลังกาย โดยทำระบบกันซึมที่พื้น แล้วใช้ลังพลาสติกแทนกระบะปลูก รองด้วยพาร์เล็ตพลาสติกช่วยให้ระบายน้ำได้เร็วและลดความร้อนจากพื้นคอนกรีต
เรื่อง: ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์: Jeedwonder Jeed
อ่านต่อ