บ้านไม้ใต้ถุนสูง กับการทำเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง- บ้านและสวน

ชีวิตธรรมดาใน บ้านไม้ใต้ถุนสูง

บ้านไม้ใต้ถุนสูง แบบไทยๆ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากบ้านทรงไทยมอญ เน้นการทำช่องเปิดเพื่อเป็นตัวดักความร้อน พร้อมวางแผนทำเกษตรผสมผสาน ให้อยู่แบบพึ่งพาตัวเองได้สบายๆ

หากเปรียบต้นไม้เป็นประติมากรรมทางธรรมชาติ บ้านก็น่าจะเป็นประติมากรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมสำหรับให้อยู่อาศัยได้ โดยเฉพาะเมื่อสถาปัตยกรรมนั้นมีความอ่อนน้อมถ่อมตนที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งยังนำประโยชน์จากธรรมชาติมาเกื้อกูลต่อชีวิตที่อยู่อาศัยได้อย่างดี เหมือนกับ บ้านไม้ใต้ถุนสูง หลังนี้ของ คุณเด่น-สายันต์  ทิพย์แสง หนุ่มเมืองใต้ และคุณมะลิ-อารมณ์  วิรัชศิลป์ สาวเมืองเหนือ ซึ่งตั้งใจสร้างขึ้นเพื่ออยู่อาศัยอย่างเรียบง่ายพร้อมๆไปกับวางแผนทำเกษตรกรรมแบบพอเพียงในพื้นที่รอบๆ บ้าน โดยปลูกไม้ใบ ไม้ผล พืชสวนครัว ควบคู่ไปกับการขุดบ่อเลี้ยงปลาและเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อสามารถใช้ชีวิตประจำวันธรรมดาแบบพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด จึงตั้งชื่อบ้านไว้ว่า “บ้านทำ-มะ-ดา”

บ้านไม้ บ้านไม้ใต้ถุนสูง
สถาปนิกได้แรงบันดาลใจจากบ้านทรงไทยมอญของชุมชนใกล้เคียงมาปรับใช้ โดยมีเอกลักษณ์อยู่ที่การยกใต้ถุนให้สูงเพื่อหนีน้ำ ส่วนชั้นบนสร้างขึ้นด้วยไม้เต็งเก่าจากอยุธยาที่เน้นเปลือยผิวไม้ธรรมชาติ ซึ่งทาเคลือบเพื่อถนอมผิวไม้ไว้เท่านั้น
บ้านไม้ บ้านไม้ใต้ถุงสูง
นอกจากพื้นที่สร้างบ้านแล้วยังมีการขุดบ่อน้ำสำหรับทำเกษตรกรรมไว้รอบๆ โดยบริเวณใต้ถุนบ้านที่ยกสูงขึ้นนั้น สถาปนิกออกแบบไว้ให้เป็นฟังก์ชันของชานนั่งเล่นที่เปิดโล่ง ครัวแบบบ้านๆและมุมรับประทานอาหารง่ายๆ จึงกลายเป็นมุมโปรดที่ทุกคนสามารถใช้งานอยู่ร่วมกันได้ทั้งวัน เพราะแสงและลมที่หมุนเวียนช่วยสร้างสภาวะน่าสบาย
บ้านไม้ บ้านไม้ใต้ถุนสูง
หน้าบ้านฝั่งนี้เอียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจึงจัดวางผังชั้นบนให้เป็นส่วนของห้องนอนพร้อมเปิดช่องหน้าต่างรับแสงในขนาดที่ไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไปเพื่อยังคงความเป็นส่วนตัวไว้ ส่วนหลังคาด้านบนเป็นออนดูลีน ด้านล่างเป็นแผ่นไม้อัดโอเอสบีที่แข็งแรงและกันความชื้นได้
หลังคา
แทนที่จะปิดหลังคาเป็นแผ่นใหญ่ทึบ แต่สถาปนิกเลือกจะปิดหลังคาแค่เฉพาะส่วนไปตามรูปทรงของบ้าน ทั้งช่วยประหยัดงบประมาณและยังเปิดช่องให้แสงเข้าถึงภายในบ้านได้มากขึ้น

แรงบันดาลใจของ บ้านไม้ใต้ถุนสูง

“เราอยากได้บ้านไม้และอยากอยู่บ้านไม้กันมานานแล้ว ก็เลยตั้งใจให้ คุณบั๊ม – ประกิจ กัณหาสถาปนิกแห่ง Studio Miti ช่วยออกแบบให้ ตอนแรกมีสองแบบ คือแบบที่วางแปลนรวมๆ กัน กับแบบนี้ที่แยกส่วนรับแขกและส่วนห้องนอนไว้อยู่คนละด้าน ซึ่งเราชอบแบบนี้เพราะดูเป็นสัดส่วนดี”

นอกจากฟังก์ชันที่ตอบรับการใช้งานอย่างดีแล้ว รูปทรงของบ้านยังได้แรงบันดาลใจจากบ้านทรงไทยมอญของชุมชนใกล้เคียงมาปรับใช้ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการยกใต้ถุนสูงเพื่อเลี่ยงปัญหาพื้นที่น้ำท่วมถึง สถาปนิกจึงเพิ่มฟังก์ชันให้พื้นที่ใต้ถุนเป็นเหมือนชานนั่งเล่นและครัวเปิด ซึ่งคุณมะลิเล่าว่า
“ตอนแรกว่าจะใช้แค่ปิ้งย่างเป็นบางครั้ง ส่วนครัวจริงอยู่ชั้นบน แต่พอย้ายมาอยู่เราใช้ครัวใต้ถุนเป็นครัวประจำบ้านไปเลย เพราะพื้นที่ตรงนี้โปร่งรับลมได้สบายตลอดทั้งวัน เลยกลายเป็นทั้งที่รับแขก ที่พักผ่อน ที่รับประทานอาหาร และศูนย์กลางของทุกคนในครอบครัว”

บ้านไม้ ส่วนกินข้าว ส่วนนั่งเล่น
โถงส่วนกลางชั้นบนเป็นพื้นที่ส่วนพักผ่อนและส่วนรับประทานอาหาร ดูอบอุ่นเป็นธรรมชาติด้วยพื้นและผนังไม้โดยมีฝ้าเพดานเป็นแผ่นไม้อัดโอเอสบี ทั้งเพิ่มความโปร่งสบายด้วยช่องหน้าต่างบานสูงโดยรอบ
ครัว บ้านไม้ใต้ถุนสูง
ห้องครัวก็เน้นการเปิดโล่งเช่นเดียวกับมุมพักผ่อน ทำให้เกิดลมหมุนเวียนถ่ายเทอากาศได้ดี ลดความอับชื้นและกลิ่นควันสะสม โดยคุณมะลิมักเก็บพืชผักที่ปลูกไว้รอบบ้านมาปรุงเป็นเมนูสุขภาพต่างๆสำหรับครอบครัวเสมอ
ห้องนอน บ้านไม้ใต้ถุนสูง
เจ้าของต้องการให้ห้องนอนเรียบง่ายที่สุดสำหรับไว้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่ โดยกั้นห้องแยกส่วนของห้องน้ำไว้ด้านใน และยังกั้นพื้นที่สำหรับดูทีวีไว้ต่างหาก เพื่อสามารถทำกิจกรรมต่างกันได้โดยไม่รบกวนซึ่งกันและกัน
ห้องนอน บ้านไม้ใต้ถุนสูง
ห้องนอนแบบเรียบง่ายเหมือนบ้านไทยสมัยก่อน เพียงแค่วางฟูกนอนกับโต๊ะอ่านหนังสือพร้อมกับช่องหน้าต่างที่มองเห็นวิวธรรมชาติสวยๆ
ห้องน้ำ บ้านไม้ใต้ถุนสูง
การออกแบบให้งานพื้นผนังไม้ต่อเนื่องเข้าไปถึงส่วนแห้งภายในห้องน้ำ แล้วกั้นแยกส่วนเปียกไว้ด้วยผนังกระจกและพื้นกระเบื้อง เพื่อสามารถใช้งานเข้ากับชีวิตปัจจุบันได้สะดวกสบายขึ้น

บ้านไม้ใต้ถุนสูง บ้านไม้ใต้ถุนสูง

ช่องเปิด
ผนังบริเวณกลางบ้านที่เพิ่มช่องเปิดรับแสงและลมไว้เพื่อให้ภายในปลอดโปร่งไม่อับทึบ รวมถึงเป็นช่องเปิดมุมมองออกสู่ธรรมชาติด้านนอกไปในตัว โดยยังมีชายคาที่ยื่นยาวสำหรับป้องกันไม่ให้ฝนสาดเข้าถึงภายในบ้าน

การออกแบบ บ้านไม้ใต้ถุนสูง ให้อยู่สบาย

ไม้สำหรับสร้างบ้านทั้งหมดเป็นไม้เต็งเก่าอายุราว 80 – 100 ปีที่เลือกซื้อมาจากอยุธยา ซึ่งต้องอาศัยเวลาและความใจเย็นในการคัดเลือกชุดไม้ให้ได้โทนสีและขนาดตามต้องการ เพื่อมาประกอบร่างขึ้นเป็นบ้านใหม่หลังนี้ โดยใช้วิธีขัดผิวไม้เก่าและเคลือบน้ำมันรักษาผิวไม้ไว้ แล้วปล่อยให้เนื้อไม้แสดงผิวอันอบอุ่นจากสัมผัสธรรมชาติอย่างตรงไปตรงมา มีการปรับเส้นโครงสร้างของบ้านให้ดูทันสมัยขึ้น ลดงานแกะสลักไม้ของบ้านไทยมอญลง เพิ่มหน้าต่างให้สูงจากพื้นจรดฝ้าเพดานเพื่อนำแสงธรรมชาติเข้าบ้านให้มากที่สุด และยังช่วยประหยัดโครงคร่าวไปในตัว แต่จะเน้นช่องเปิดไว้ทางฝั่งทิศตะวันออกให้มากกว่าฝั่งทิศตะวันตก รวมถึงใช้การวางห้องน้ำเพื่อเป็นตัวดักความร้อนไม่ให้เข้าถึงพื้นที่พักผ่อนภายในบ้าน ส่วนกลางบ้านก็เปิดช่องให้แสงและลมได้พัดผ่านหมุนเวียนโดยทำเป็นพื้นที่กึ่งกลางแจ้ง เพราะบางส่วนยังต้องกั้นผนังเพื่อป้องกันฝนไม่ให้สาดเข้าถึงภายในได้ชั้นบนของบ้านที่แม้จะจัดสรรเป็นส่วนนั่งเล่น ห้องครัว และห้องนอน แต่ก็เน้นเปิดโล่งและเชื่อมต่อถึงกันได้ง่าย เพื่อให้พื้นที่ในบ้านปลอดโปร่งและมีลมหมุนเวียนได้ดี จึงดูคล้ายรูปแบบของโถงอเนกประสงค์ของบ้านไทยสมัยก่อนซึ่งเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัวของห้องนอนก็สามารถปิดผนังกั้นแยกได้เช่นกัน

บ้นไดไม้ ชานบันได บ้านไม้ใต้ถุนสูง
บันไดโปร่งส่วนนี้ออกแบบให้ใช้งานเชื่อมต่อจากใต้ถุนบ้านไปถึงโถงส่วนกลางและระเบียงชั้นบนได้เลยโดยไม่ต้องรบกวนพื้นที่่ส่วนของห้องนอน
ใต้ถุน บ้านไม้ใต้ถุนสูง
บริเวณใต้ถุนบ้านยังมีสเต็ปของลานไม้เล็กๆ นี้ไว้นั่งและนอนเล่นรับลมได้สบาย
มีการใช้งานสถาปัตยกรรมของบ้านให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์ไปในตัว เช่น ทำเป็นม้านั่งไม้ยกระดับต่อมาจากโครงเสาและยังใช้เป็นบันไดขั้นเล็กๆได้ด้วย
ฐานไม้แผ่นนี้ใช้เป็นตัวเสริมที่ทำขึ้นมารับกับจำนวนขั้นบันไดที่เป็นเลขคี่ ซึ่งโดยทางฟังก์ชันนั้นก็เพื่อช่วยให้จังหวะการเดินเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสร้างความสมดุลในการทรงตัว
ครัว ส่วนรับประทานอาหาร
พื้นที่ครัวเปิดนี้เริ่มต้นจากมุมเตาหินสีเขียวสำหรับปิ้งย่างแบบง่ายๆ  ขยายมาสู่การทำเคาน์เตอร์อ่างล้างจานขนาดยาว  ตามมาด้วยโต๊ะรับประทานอาหารที่มักอุดมไปด้วยพืชผักผลไม้ที่เก็บได้จากรอบๆบ้านเสมอ
ส่วนล้างตัว
สถาปนิกออกแบบมุมล้างตัวนี้ขึ้นมาเป็นพิเศษไว้บริเวณใต้ถุนหลังบ้านเพื่อให้เจ้าของสามารถชำระล้างคราบดินโคลนที่ติดตัวมาระหว่างลงไปทำงานเกษตรได้ง่ายๆ  ก่อนขึ้นสู่พื้นที่พักผ่อนชั้นบน
ศาลพระภูมิ
คุณเด่นออกแบบศาลพระภูมิขึ้นเองโดยลดทอนรูปทรงมาจากตัวบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อให้มีความสวยงามกลมกลืนกัน

“นอกจากอยู่บ้านไม้แบบไทยๆ แล้ว  เรายังวางแผนทำเกษตรผสมผสานตามทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่จัดแบ่งพื้นที่สำหรับทำบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้และเลี้ยงปลา 30 เปอร์เซ็นต์ ปลูกข้าว 30 เปอร์เซ็นต์  ปลูกผลไม้  ไม้ยืนต้น พืชไร่ 30 เปอร์เซ็นต์  และเป็นที่อยู่อาศัย 10 เปอร์เซ็นต์  แล้วก็เลี้ยงไก่ไข่ด้วย  เราเริ่มปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่สองปีที่แล้วก่อนบ้านเสร็จ  ตอนนี้ขนุนหลังบ้านออกลูกมาถึงรุ่นที่ 7 แล้ว  ตั้งใจไว้ ว่าอยากกินอะไรก็ปลูกเลย อย่างมะพร้าวน้ำหอมไม่เคยปลูกก็ลองดู วางโซนผักสวนครัวไว้หลังบ้านเพื่อให้หยิบใช้งานเข้าครัวได้ง่าย  รอบๆ เป็นต้นไม้ใหญ่แซมด้วยไม้เลื้อยอย่างถั่วฝักยาว  แล้วก็มีเรือนเล็กเป็นคอกไก่อารมณ์ดี เพราะเราเปิดเพลงให้ไก่ฟังด้วย เวลาลงไปทำเกษตรตัวเลอะดินเลอะโคลนก็มีห้องน้ำด้านล่างที่สถาปนิกออกแบบไว้ให้ล้างตัวก่อนเข้าบ้านได้เลย
“เมื่อก่อนชอบออกไปเที่ยวนอกบ้าน ลูกชายก็กลัวน้ำ  แถมยังไม่เคยเหยียบหญ้าเลย แต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้เต็มที่  อยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน  เพราะมีของกินสลับเปลี่ยนทุกวัน  พอเหลือแจกก็แบ่งขาย  ตอนนี้ลูกชายมีที่วิ่งเล่นบนผืนดินกว้างๆ และว่ายน้ำได้สบาย  มีคุณย่ามาช่วยสอนทำกับข้าว  มีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวตลอด  เราอยู่ใกล้ธรรมชาติจนเห็นถึงอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง  กุ้งหอยปูปลาก็มาตามน้ำจริงๆ  นอกเหนือจากที่เราเลี้ยงไว้เอง ทำให้รู้สึกถึงชีวิตที่อยู่แบบพึ่งพาตัวเองได้  และมีความสุขกับชีวิตธรรมดาๆ ในบ้านนี้มากขึ้นทุกวัน” 

บ้านไม้ใต้ถุนสูง
เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างเรียบง่ายแต่ยั่งยืน  นอกจากพื้นที่สำหรับสร้างบ้านอยู่อาศัยแล้ว  จึงมีการแบ่งสันปันส่วนไว้สำหรับทำเกษตรกรรมและขุดบ่อน้ำเพื่อเลี้ยงปลา  โดยนำดินขึ้นมาถมเป็นทางเดินและไว้ใช้รดต้นไม้ได้ด้วย
เล้าไก่
ไม่ไกลจากเรือนพักอาศัยยังมีเรือนเล้าไก่ที่จำลองรูปแบบและลดทอนมาจากรูปทรงของบ้านให้กลมกลืนกัน
เล้าไก่
เมื่อพ่อลูกชวนกันมาเก็บไข่ไก่
น้องปอนปอนมีหน้าที่เก็บไข่ไก่ประจำบ้าน
เล้าไก่
ภายในเล้าไก่ที่คุณเด่นออกแบบเอง
คุณเด่นติดแผงโซลาร์เซลล์เล็กๆ ไว้สำหรับใช้งานโคมไฟยามค่ำคืน

บ้านไม้ใต้ถุนสูง

เจ้าของบ้านจัดสรรพื้นที่ที่มีอยู่โดยอาศัยหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9  คือมีการบริหารจัดการแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ  โดยใช้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและเลี้ยงสัตว์น้ำ 30 เปอร์เซ็นต์  เป็นพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน (ซึ่งตอนนี้ยังปรับปรุงอยู่) อีก 30 เปอร์เซ็นต์  เป็นพื้นที่ทำพืชไร่ ไม้ผล  ไม้ยืนต้น  ทำอุปกรณ์การเกษตรเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันอีก 30 เปอร์เซ็นต์  และ 10 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือสำหรับสร้างที่อยู่อาศัย  ปลูกพืชสวนครัว เลี้ยงสัตว์  หรือทำโรงเรือนอื่นๆ  ซึ่งอัตราส่วนนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่

DESIGNER DIRECTORY: สถาปนิก : Studio Miti  โดยคุณประกิจ  กัณหา บ้านไม้ใต้ถุนสูง

ตกแต่งภายใน : บริษัทเอเดค  อินทีเรียส์  จำกัด 

เจ้าของ : คุณสายันต์  ทิพย์แสง  และคุณอารมณ์  วิรัชศิลป์

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

สไตล์ : วรวัฒน์ ตุลยทิพย์

นิตยสารบ้านและสวนฉบับตุลาคม 2563

บ้านไม้กลางท้องนาที่เงียบสงบท่ามกลางความร่มรื่น

BAAN MAKHAM โอบกอดธรรมชาติใกล้เมืองกรุง

บ้านสวนจันทิตา โฮมสเตย์ในป่าส่วนตัว