เปลี่ยนพื้นที่บนดาดฟ้าให้เป็นสวนสวยสไตล์ชนบทอังกฤษ
เปลี่ยนพื้นที่บนดาดฟ้าของตึกสูงเป็นสวนสวยสไตล์ชนบทอังกฤษที่แบ่งพื้นที่ได้เป็นสัดส่วน ดูเรียบร้อยและดูแลง่าย ได้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านไม่ใช่อยู่บนตึก
DESIGNER DIRECTORY : ออกแบบ : ร่มรื่นแลนด์สเคป โดยคุณอัศนัย แก่นจันทร์ / เจ้าของ : คุณพิไลพรรณ ชวาลรัตน์
ด้วยความเคยชินกับการอยู่บ้านที่มีบริเวณกว้างขวาง มีสวนมีต้นไม้ร่มครึ้มสบายตา เมื่อต้องมาอยู่บ้านที่อยู่บนดาดฟ้าตึก ทำให้ คุณแดง-พิไลพรรณ ชวาลรัตน์ รู้สึกเป็นกังวลอยู่ไม่น้อย
“ลูกชายอยู่ชั้นล่างค่ะ คุณแม่เลยตามมาดูแล มาสร้างบ้านใหม่บนดาดฟ้า แต่เราไม่เคยอยู่ตึกอยู่บนที่สูงมาก่อน ก็เลยกังวลว่ามันจะร้อนไหม จะอึดอัดไหม จะอยู่ได้ไหม พี่มีโรงแรมอยู่ที่สมุย ที่โรงแรมก็เป็นสวนน้ำตก มีต้นไม้ร่มรื่น บ้านอีกหลังก็เป็นสวนทรอปิคัล ส่วนที่นี่ออกไปทางคลาสสิก ตกแต่งแบบฝรั่ง เพราะพื้นที่มันแคบและอยู่บนตึกด้วย ถ้าจะทำสวนป่าแบบที่ชอบ มีต้นไม้ใหญ่ๆ ต้นไม้เยอะๆ ก็ไม่น่าจะได้ และที่สำคัญคือไม่น่าจะเข้ากับบ้านด้วยค่ะ
“ได้รู้จักกับ คุณมอ – อัศนัย แก่นจันทร์ โดยการแนะนำจาก คุณกิม – บดินทร์ ปี่เสนาะ แห่งอยู่กับดินทร์ คุณกิมเป็นคนออกแบบสวนที่บ้านอีกหลังให้ค่ะ พอทำบ้านที่นี่ก็อยากมีสวนสวยๆ ดูผลงานคุณมอจากรายการบ้านและสวน เห็นว่าชำนาญเรื่องสวนในพื้นที่แคบพื้นที่จำกัดด้วย เลยนัดมาคุยกัน
“บอกกับคุณมอว่าจะทำอย่างไรให้ได้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านไม่ใช่อยู่บนตึก อยากได้สวนที่ดูโฮมมี่ มีดอกไม้ ที่สำคัญเลยคืออยากให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด เหมือนต้นไม้ขึ้นมาเอง ไม่ได้ตั้งใจปลูก มีสเปซโล่งๆ จัดปาร์ตี้กับญาติๆ เพื่อนฝูงได้ สรุปก็ลงตัวที่สวนแบบชนบทในอังกฤษค่ะ”
คุณมออธิบายถึงขั้นตอนการทำงานในเบื้องต้นให้ฟังว่า “สวนนี้มีพื้นที่ประมาณ 50 ตารางเมตร เดิมเป็นพื้นปูนโล่งๆกับอาคารอยู่อาศัย ก่อนจะทำสวนต้องตรวจสอบโครงสร้างของอาคาร การรับน้ำหนัก การระบายน้ำก่อน แต่ส่วนนี้เราไม่ได้ทำเองครับ ให้ทางเจ้าของบ้านจัดการให้เรียบร้อยก่อน
“นอกจากเรื่องของโครงสร้างและการรับน้ำหนักที่เราต้องคำนึงถึงแล้ว ยังมีเรื่องของวัสดุกันซึม ต้องทาน้ำยารูฟซีล (Roofseal) ปูแผ่นระบายน้ำเดรนกริด (Drain Grid) บุด้วยผ้าใยสังเคราะห์จีโอเท็กซ์ไทล์ (Geotextile) สิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้รากต้นไม้ไปอุดตันข้างใน กระบะปลูกต้นไม้และทางระบายน้ำ ใต้กระบะ ก็จะมีช่องระบายน้ำออกไปสู่ช่องระบายน้ำหลัก ต้องปรับความลาดเอียงของพื้นให้น้ำไหลระบาย ได้ง่าย ไม่ขังแฉะ ในส่วนของต้นไม้ใหญ่ก็ต้องเลือกขนาดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป เลือกต้นไม้ที่ระบบรากไม่รุนแรง ทุกอย่างล้วนมีผลกับการจัดสวนบนดาดฟ้า ซึ่งจะมีข้อจำกัดมากกว่าการจัดสวนในพื้นราบทั่วไป
“คอนเซ็ปต์ที่คุณแดงอยากได้คือ สวนที่แบ่งเป็นสัดเป็นส่วนดูเรียบร้อยและดูแลง่าย อยากได้ต้นไม้ฟูๆ ปลูกต้นไม้อยู่ในกระบะ สรุปภาพโดยรวมก็เป็นสวนอังกฤษครับ ส่วนอีกฝั่งทางห้องนอนจะผสมสวนโมเดิร์นเข้าไปนิดๆ มีระแนงให้ต้นไม้เลื้อยเกาะเพื่อช่วยพรางแสงในช่วงบ่าย แต่ก็ยังมีกระบะปลูกต้นไม้และใช้พรรณไม้แบบเดียวกับสวนหลัก เพื่อให้ดูต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกันครับ
“ต้นไม้ใหญ่เลือกใช้ต้นที่โตช้า ฟอร์มสวย เช่น พุดกังหัน เสม็ดแดง ถ้าเราจำกัดพื้นที่การเติบโต ต้นก็จะโตช้าลง ตัดแต่งกิ่งออกบ้าง ส่วนพรรณไม้อื่นเลือกใช้ไม้ที่ทนแดดและมีอายุยืน ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ยกเว้นพวกไม้แขวนที่เป็นไม้ดอกล้มลุก ต้องเปลี่ยนทุกปี ใช้ทั้งไม้ใบและไม้ดอกผสมกัน ผมดูสวนในต่างประเทศเป็นตัวอย่าง มุมนี้เขาทำอย่างไร ปลูกต้นอะไร เอาอารมณ์ของสวนคอตเทจที่ต่างประเทศมาใช้ แล้วหาว่าในบ้านเราสามารถใช้ต้นอะไรแทนได้บ้าง แต่เลือกต้นไม้ให้แปลกไปจากที่บ้านเรานิยมใช้กัน ผมตั้งใจให้สวนนี้ดูต่างไปจากที่เคยทำครับ มีไม้ทรอปิคัลผสมบ้างนิดหน่อย เพราะจริงๆแล้วคุณแดงชอบสวนทรอปิคัลมากครับ”
สิ่งที่น่าสนใจของสวนนี้คือการแก้ปัญหาพื้นที่แคบด้านข้างอาคาร คุณมอออกแบบให้เป็นสวนตลอดแนวยาว ก่อกระบะปลูกต้นไม้เว้นห่างกันเป็นระยะ ปลูกแก้วและโมกกอให้ร่มเงา เสริมด้วยพรรณไม้หลากหลายตามสไตล์สวนคอตเทจพื้นที่ว่างระหว่างกระบะจัดวางกระถางต้นไม้ ซึ่งเจ้าของสามารถปรับเปลี่ยนได้เอง จัดวางกระถางหลากหลายรูปทรงเพื่อเพิ่มลูกเล่น เป็นมุมแคบๆที่ได้แสงแดดน้อย แต่ต้นไม้เติบโตสวยงาม ทั้งยังช่วยให้ห้องพักผ่อนมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
คุณแดงพาเราเดินเข้าไปในบ้านเพื่อไปชมสวนฝั่งตะวันตกที่ติดกับห้องนอน ลักษณะเป็นพื้นที่แคบและยาวตลอดแนวตัวอาคาร “ฝั่งนี้ช่วงบ่ายจะร้อนมากค่ะ ก็ยังคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไรดี ทีแรกตั้งใจจะทำเป็นชายคาบังแดดทั้งหมด แต่ดูไม่สวย ปรึกษาคุณมอว่าอยากให้ดูร่มรื่น คุณมอเสนอให้ทำเป็นระแนงปลูกต้นไม้ เสร็จแล้วสวยถูกใจมากค่ะ ตื่นเช้าเดินออกมาจากห้องนอนมานั่งเล่นในสวนได้เลย”
คุณมอเล่าเสริมเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหาสวนในที่แคบของฝั่งนี้ให้ฟังว่า “ผมออกแบบทำเป็นซุ้มไม้เลื้อยยาวตลอดแนวอาคาร เลือกใช้เหล็กแทนไม้ เพราะถ้าเป็นไม้อาจต้องเปลี่ยนบ่อย อีกทั้งทำงานง่าย เตรียมจากข้างล่าง นำมาประกอบบนนี้เลย เลือกใช้ต้นที่โตเร็วคือสร้อยอินทนิลกับหญ้านางแดงปลูกผสมกัน ใช้เวลานิดให้ต้นโตเลื้อยพัน นอกจากนั้นก็มีการดีไซน์พื้นไม้ และทำกระบะปลูกแก้วมุกดาเพื่อให้ร่มเงา เวลาออกดอกจะหอมและใบไม่ค่อยร่วง สวนด้านนี้อาจดูโมเดิร์นนิดๆ แต่ก็ใช้ต้นไม้กลุ่มเดียวกับสวนอีกฝั่ง เพื่อให้สวนดูต่อเนื่องกันครับ”
คุณแดงทิ้งท้ายถึงสวนบนดาดฟ้าแห่งนี้ว่า“เช้าๆก็ไปนั่งชมสวนที่ห้องนั่งเล่นด้านหน้า บ่ายๆเย็นๆ ด้านนี้ร่มก็มาใช้สเปซสวนด้านนี้ นั่งในบ้านตรงไหนก็เห็นสวน ได้ใกล้ชิดต้นไม้ จากที่คิดว่าอยากมาดูแลอยู่เป็นเพื่อนลูกแค่บางวัน กลายเป็นว่าทุกวันนี้ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านนี้เป็นส่วนใหญ่ วันๆไม่ได้ออกไปไหนเลย ทุกครั้งที่มองไปรอบๆ มันให้ความรู้สึกเหมือนบริเวณบ้านจริงๆ ไม่ใช่อยู่บนดาดฟ้าตึกแบบที่กังวล”
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
นิตยสารบ้านและสวนฉบับสิงหาคม 2563