10 ข้อสงสัยเรื่อง “ระบบให้น้ำในสวน” กับอาจารย์ขวัญชัย จิตสำรวย
การติดตั้ง ระบบให้น้ำ ในสวนสำหรับหลายคนอาจเป็นเรื่องใหม่ จึงเกิดคำถามและข้อสงสัยขึ้นมากมาย ทั้งในเรื่องความสำคัญของการติดตั้งและอื่น ๆ วันนี้สำนักพิมพ์บ้านและสวนจึงมาขอความรู้จากอาจารย์ขวัญชัย จิตสำรวย ผู้เขียนหนังสือ “ระบบให้น้ำในสวน” เพื่อไขข้อข้องใจ
Q1 พื้นที่สวนขนาดไหนจึงควรคิดติดตั้งระบบให้น้ำ ?
A การติดตั้งระบบให้น้ำใช้ได้กับพื้นที่ทุกขนาด แม้กระทั่งไม้กระถาง เพราะระบบให้น้ำมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้
Q2 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับสวนที่ควรรู้ก่อนออกแบบระบบให้น้ำมีอะไรบ้าง ?
A เรื่อง “ดิน น้ำ และความต้องการใช้น้ำของพืช” ครับ
Q3 ทำไมต้องเรียนรู้เรื่องดินด้วย ?
A เพราะดินเป็นแหล่งเก็บน้ำให้พืช เราให้น้ำแก่พืชผ่านทางดิน หากไม่รู้เรื่องดินเราจะให้น้ำแก่พืชได้อย่างไม่เหมาะสมแน่นอน
อาจารย์ขวัญชัย จิตสำรวย ผู้เขียนหนังสือระบบให้น้ำในสวน
Q4 ปกติเราก็รดน้ำในสวน ให้สนามหญ้า ให้ต้นไม้อยู่แล้ว สวนก็สวยต้นไม้ก็เติบโตดี ไม่เห็นว่าต้องรู้เรื่องดินเลยค่ะ ?
A การรดน้ำส่วนใหญ่เรามักรดไปตามความรู้สึกของเราโดยใช้ประสบการณ์ ซึ่งก็ถูกต้องครับ แต่เราอาจลืมคิดไปว่า มีน้ำอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมากด้วยที่ไหลทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย อีกทั้งบางส่วนยังซึมลึกเกินไปจนเกินเขตของรากพืช นั่นก็เพราะดินนั้นเก็บน้ำไว้ไม่ได้ แต่หากเรารู้ลักษณะของดินว่าเป็นดินชนิดใด ก็จะสามารถรดน้ำได้พอดีกับปริมาณที่ดินเก็บไว้ใช้ได้ โดยไม่สูญเสียน้ำมากเกินไป เพราะหัวใจของระบบให้น้ำพืชก็คือ การให้น้ำแต่เพียงพอกับความต้องการของพืชเท่านั้น ไม่มากไปไม่น้อยไป
การดูดน้ำจากดินในชั้นต่างๆของพืช ความลึกในเขตรากพืช D/4 ความชื้นที่พืชนำไปใช้ได้ในส่วนนี้ 40% 30% 20% 10%
Q5 เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วเราควรเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “น้ำ” บ้างคะ?
A ทั้งเรื่องดินและเรื่องน้ำ ต้องเข้าใจว่า น้ำที่รดลงไปในดินครั้งแรกนั้น น้ำจะแทรกซึมไปตามช่องว่างทั้งหมดของดิน ในสภาพที่ช่องว่างของดินเต็มไปด้วยน้ำ หรือบางทีก็เอ่อล้นขึ้นมาจนขังแฉะ ดินขณะนั้นไม่มีอากาศอยู่เลยเพราะมีน้ำเข้าไปแทนที่หมด ซึ่งขณะนั้นรากพืชจะขาดอากาศ เมื่อรากพืชขาดอากาศก็จะดูดน้ำไปใช้ไม่ได้เลย ต้องรอให้น้ำส่วนเกินนี้ไหลออกหรือซึมหายไปเสียก่อน จนมีอากาศแทรกเข้าไปในดินเพียงพอ รากพืชจึงจะดูดน้ำไปใช้ได้
ดังนั้น เราต้องออกแบบระบบให้น้ำแก่ดินที่พอดีกับการอุ้มน้ำทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อดินและพอดีกับการดูดของรากพืช การให้น้ำแบบนี้จะแม่นยำมากกว่าการใช้ความรู้สึกของตัวเราขณะรดน้ำ แต่ระบบนี้เราให้น้ำตามสภาพของดิน เพราะดินแต่ละชนิดมีความสามารถอุ้มน้ำและซึมน้ำได้ต่างกัน
และที่สำคัญ หากเรารู้ความต้องการใช้น้ำของพืชได้ในแต่ละวัน เราก็จะรู้ว่า น้ำที่ดินอุ้มไว้ได้นี้ พืชจะใช้ไปได้กี่วัน เราก็สามารถให้ระบบเติมน้ำเข้าไปได้ทันทีเมื่อดินขาดน้ำ
(เจ้าของสถานที่: คุณสิทธิรัชต์-คุณบราลี ธนะรัชต์)
Q6 แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพืชชนิดนั้น ๆ ต้องการน้ำวันละเท่าไหร่?
A เรื่องอัตราการใช้น้ำของพืชนี้ เป็นอีกจุดเด่นหนึ่งของหนังสือ”ระบบให้น้ำในสวน” เพราะแต่ละเดือน แต่ละจังหวัดพืชก็ใช้น้ำต่างกันนะครับ ดังนั้น มันจะวิเศษมากสำหรับนักจัดสวน ถ้าต่อไปนี้ เราไปจัดสวนที่จังหวัดใด ก็สามารถหาค่าการใช้น้ำของพืชในจังหวัดนั้น ๆ แล้วออกแบบระบบที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ได้ ซึ่งเรื่องนี้เรามีวิธีคำนวณซึ่งมีสูตรสำเร็จให้คำนวณไม่ยาก ข้อสำคัญคือ
1. เราต้องหาจำนวนน้ำที่พืชต้องการให้ได้ก่อน ว่าต้องการวันละกี่ลิตร โดยเราจะคิดพื้นที่ของต้นไม้หรือหญ้าในสวนเป็นตารางเมตร
2. หาความสามารถในการอุ้มน้ำ (ที่เป็นประโยชน์ต่อพืช) ของดินให้ได้
3. คำนวณปริมาณน้ำ เวลาให้น้ำให้เหมาะสมกับดินและพืช
4. จากนั้นจึงออกแบบระบบที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่ต้องการ
Q7 นี่จึงเป็นอีกเรื่องในเล่มใช่ไหมคะที่บอกว่า การออกแบบระบบสปริงเกลอร์ ไม่เพียงทำให้หัวสปริงเกลอร์พ่นน้ำออกมาได้เท่านั้น
A ใช่แล้วครับ แต่เราจะเรียนรู้ตั้งแต่การเลือกใช้หัวจ่ายน้ำหรือหัวสปริงเกลอร์ที่เหมาะสม และการวางระบบ การออกแบบ จัดวางตำแหน่งที่ถูกต้อง การคำนวณปริมาณน้ำและเวลาที่ใช้รดให้เหมาะสมต่อพืชแต่ละโซน รวมถึงประมาณราคาได้ด้วย
Q8 แล้วที่บอกว่าระบบให้น้ำในสวนนั้นซับซ้อนกว่าระบบให้น้ำทางการเกษตรนั้น คือ ซับซ้อนอย่างไร?
A งานสวนหรืองานภูมิทัศน์นั้นจะปลูกต้นไม้หลากหลายชนิดในตำแหน่งอิสระ มีซอกมุมจากสิ่งก่อสร้าง ในสวนเดียวกันอาจมีทั้งพื้นที่กว้าง พื้นที่แคบ พื้นที่เล็ก พื้นที่ใหญ่ เป็นรูปวงกลม รูปเหลี่ยม หรือรูปอิสระอื่นๆ
ต้นไม้บางกลุ่มก็ปลูกรวมกัน ทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน บางส่วนก็เป็นสนามหญ้า…สิ่งเหล่านี้เป็นงานท้าทายที่ต้องนำทักษะการติดตั้งระบบให้น้ำทางการเกษตรเข้ามาใช้
ระบบให้น้ำพืชทางการเกษตร ไม่เน้นความสวยงามเชิงภูมิทัศน์ การเลือกใช้และติดตั้งอุปกรณ์ จึงเน้นแบบประหยัด ในรอบการปลูกพืชชนิดหนึ่งๆ สามารถใช้หัวจ่ายน้ำชนิดเดียวกันได้ทั้งแปลงปลูก ไม่ต้องซ่อนระบบท่อ ระบบหัวจ่ายและระบบควบคุม ต่างกับในงานสวนที่ต้องซ่อนระบบเหล่านี้ไว้อย่างแนบเนียนเพื่อความสวยงาม และระบบให้น้ำในสวนนี้ ต้องเลือกใช้หัวจ่ายน้ำมากกว่า 1 ชนิด บางครั้งในโซนเดียวกันอาจต้องใช้หัวจ่ายน้ำ 2-3 ชนิดด้วยกัน เพื่อให้น้ำที่พอเหมาะกับไม้ดอกไม้ประดับที่ปลูกในพื้นที่นั้นๆ อีกทั้งหัวจ่ายน้ำแต่ละชนิดยังมีความพิเศษไม่เหมือนกัน
ปัญหาคือ แล้วจะเลือกใช้หัวจ่ายน้ำที่ต่างกันมาอยู่ร่วมกันอย่างไร จึงจะไม่กระทบกับปริมาณน้ำที่จ่ายออกมา และไม่กระทบกับขนาดของท่อเมน ท่อย่อย และไม่กระทบกับปั๊มน้ำที่เราคำนวณไว้แล้ว
ระบบให้น้ำทางการเกษตร
Q9 หากเราสอบถามถึงวิธีการติดตั้งและข้อมูลต่างๆ จากบริษัทผู้จำหน่ายอุปกรณ์ระบบให้น้ำแล้วนำมาติดตั้งเองจะไม่ง่ายกว่าหรือ ?
A ในช่วงเริ่มต้นผมก็ทำเช่นนั้นครับ แล้วจึงพบกับปัญหามากมาย อันเกิดจาก 3 สาเหตุหลักๆ คือ
1. เราไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับระบบสปริงเกลอร์ ดังนั้น เมื่อฝ่ายเทคนิค (ซึ่งเป็นคนละคนกับฝ่ายขาย) เขาอธิบาย เราก็พอเข้าใจบ้าง แต่เมื่อมาติดตั้งจริงปัญหายิ่งเกิดขึ้น จนต้องกลับไปสอบถามหรือโทรติดต่อกลับไป กว่าเขาจะมีเวลามาตอบก็ต้องนัดเวลา อาจเป็นชั่วโมง เป็นวัน จนบางครั้งไม่ฝ่ายเขาหรือฝ่ายเราต่างก็เบื่อหน่ายกันไปเอง และที่สำคัญคือฝ่ายเทคนิคของสินค้าไม่ได้มีความรู้เรื่องพืช เรื่องดิน เรื่องน้ำ แต่เขามีความรู้เฉพาะเรื่องลักษณะการติดตั้ง การใช้งานของวัสดุอุปกรณ์เท่านั้น
2. ผู้ขาย (ผู้แทนจำหน่าย) เขาขายสินค้าเป็นจุดประสงค์หลัก พนักงานถูกฝึกอบรมมาเพื่อตอบคำถามด้านคุณสมบัติหรือความพิเศษของสินค้าเท่านั้น ส่วนทางด้านเทคนิคภาคสนามมักไม่สามารถตอบได้เท่าที่เราต้องการ
3.อุปกรณ์ระบบน้ำมีหลายแบรนด์ ซึ่งมีคุณสมบัติ ข้อดี ข้อด้อย และราคาที่ต่างกัน ดังนั้นหากต้องนำมาใช้ร่วมกัน ผู้ขายก็ไม่สามารถตัดสินใจให้เราได้เลย เพราะต่างก็มุ่งไปที่สินค้าตนเองเท่านั้น
แต่ถ้าเรามีหนังสือที่มีคำแนะนำโดยละเอียดแล้ว ปัญหาต่างๆ ในการออกแบบและติดตั้งระบบให้น้ำก็จะลดน้อยลงอย่างมากครับ
Q10 เรื่องนี้ดูจะเป็นเรื่องยากเกินสำหรับคนทั่วไปหรือไม่ ?
A ถ้าสนใจเรียนรู้ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถเข้าใจเรื่องระบบให้น้ำพืชได้ เพราะหนังสือเล่มนี้ จะเรียบเรียงลำดับเนื้อหาไว้เป็นส่วนๆ เช่น
1. ปูพื้นความเข้าใจเรื่อง ดิน น้ำ และการหาความต้องการใช้น้ำของพืช ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก
2. เรื่องวัสดุอุปกรณ์ของระบบให้น้ำในสวน และการเลือกใช้งาน
3. ขั้นตอนการออกแบบระบบให้น้ำพืชในสวน
4. ตัวอย่างการออกแบบระบบน้ำจากพื้นที่จริง
5. ขั้นตอนการติดตั้งระบบให้น้ำในสวน
6. การประมาณราคา
และเมื่อเข้าใจแล้ว เราจะลงมือทำเองหรือจ้างผู้รับเหมามาทำให้ ก็มีแต่ประโยชน์ที่จะได้รับ
นอกจากนี้ เนื้อหาในเล่มยังเสริมด้วยเรื่องสวนเกษตรในบ้านกับระบบรดน้ำขนาดเล็ก สำหรับผู้ต้องการแบ่งโซนปลูกไม้กินได้ส่วนหนึ่งไว้ในบ้าน รวมถึงมีเรื่องของระบบพ่นหมอก เพื่อเพิ่มความชื้นให้พืชและสร้างบรรยากาศให้สวน เรียกว่าครบครันกันเลยทีเดียวครับ
ได้ฟังอาจารย์ขวัญชัยอธิบายแล้ว เริ่มเข้าใจและเห็นความสำคัญของการติดตั้งระบบนี้ เห็นทีต้องรีบไปหาหนังสือ”ระบบให้น้ำในสวน” มาไว้ในครอบครองซะแล้ว
เรียบเรียง ทิพาพรรณ
ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย