PAKKRET HOUSE บ้านที่กล้าหันหน้าประจันทิศตะวันตกอย่างสง่าผ่าเผย
นี่คือ แบบบ้านอิฐ ที่กล้าหันหน้าประจันทิศตะวันตกอย่างสง่าผ่าเผย ที่เรากล่าวแบบนั้นก็เพราะว่ากำแพงขนาดมหึมาความสูง 7.5 เมตร ที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าบ้าน ‘Pakkret House’ หลังนี้ นอกจากจะมีฟังก์ชันไว้ “บังแดด” ยามบ่ายที่จัดว่าร้อนเอาเรื่อง มันยังถูกซอยเป็นริ้ว ๆ ให้ปริออกจากกันเพื่อเหตุและผลบางประการ ดังคำอธิบายของ เชิงชาย เรียวเรืองแสงกุล สถาปนิกจาก Archimontage Design Fields Sophisticated ผู้ออกแบบที่ว่า
“เราจงใจสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นลานที่มีชีวิตที่เกิดจากแสงธรรมชาติในตอนกลางวัน และหลังตะวันตกดินพร้อมกันไป”
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Archimontage Design Fields Sophisticated
จุดเริ่มของเรื่องทั้งหมดมาจากความต้องการขยับขยายพื้นที่พักอาศัยเพิ่มเติม โดยมีข้อแม้ว่าบ้านใหม่ต้องตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านหลังเดิม นำมาสู่การเลือกที่ดินแปลงติดกันซึ่งมีขนาด 96 ตารางวา ตั้งอยู่หลังตลาดสหกรณ์ 3 ย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
บ้านความสูง 2 ชั้นหลังนี้มีขนาดพื้นที่ใช้สอย 420 ตารางเมตร ภายในประกอบไปด้วยห้องนอน 4 ห้อง กระจายตำแหน่งอยู่ทั้งชั้นบนและชั้นล่างของบ้าน คละด้วยห้องรับแขก ส่วนรับประทานอาหาร และแพนทรีใต้เพดานสูงที่ชั้นล่าง ส่วนห้องครัวนั้นผู้ออกแบบวางตำแหน่งไว้อยู่ด้านหลังของบ้าน ติดกับส่วนเก็บของ ส่วนซักรีด และลานซักล้าง โดยที่พื้นที่ใต้ระเบียงใหญ่ด้านหน้าของบ้านฝั่งที่ติดกับบ้านหลังเก่าคือที่จอดรถที่สามารถจอดได้ 2 คัน
เมื่อไม่อาจเลี่ยงข้อจำกัดของพื้นที่ตั้งซึ่งบริบททางกายภาพบังคับให้สถาปนิกต้องวางตัวบ้านให้หันหน้าไปทางตลาดซึ่งเป็นด้านทิศตะวันตก ทางเข้าหลักของบ้านซึ่งวางตัวขนานไปกับด้านยาวของที่ดินจึงไม่อาจเลี่ยงการปะทะกับแสงแดดยามบ่ายไปโดยปริยาย ข้อกำจัดดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการออกแบบกำแพงขนาดมหึมาสูง 7.5 เมตรเป็นผนังรับแรงปะทะของแดดบ่ายโดยตรง ไม่ให้เข้ามารบกวนการใช้พื้นที่ภายในส่วนใช้งานหลักของบ้าน
ครั้นจะวางกำแพงเรียบราบเป็นระนาบเดียวกันหนึ่งผืนก็ดูจะธรรมดาเกินไป สถาปนิกจึงออกแบบแผงบังแดดขนาดใหญ่กรุด้วยกระเบื้องดินเผาสีน้ำตาลส้ม ความสูงเสมอหลังคาชั้นบน กินพื้นที่จนเกือบเต็มความกว้างของหน้าบ้าน โดยทุกแผงทำมุมเฉียงต่างองศา ต่างขนาดความหนา วางยื่นเหลื่อมบังกันแบบกึ่งไร้ทิศทาง บ้างแยกจากกันในระยะห่างไม่มากนัก แต่เรียงเป็นระนาบเดียวกัน เพื่ออนุญาตให้แสงแดดจากภายนอกลอดผ่านมาถึงลานนั่งเล่นได้บ้าง ส่วนด้านล่างแผ่นหลังคาแขวนไว้ด้วยดวงโคมดวงน้อยจำนวนมากร้อยเป็นคลื่นเอาไว้เป็นองค์ประกอบสำคัญ
ด้วยการออกแบบลักษณะนี้ ทำให้นอกจากแผงหรือผนังอิฐทั้งหมดจะเป็นกันชนอีกชั้นหนึ่งเพื่อกันแดดเข้ามาพาดเลียพื้นและผนังด้านในแล้ว ยังสามารถรับน้ำหนักแผ่นหลังคาโปร่งแสงผืนใหญ่ที่พาดทับอยู่ด้านบนสุดของบ้าน และผนังที่บิดองศาต่างกันนี้ยังทำให้เกิดรูปแบบและลวดลายของแสงเงาที่ปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ดังคำที่สถาปนิกเปรียบเปรยว่า “เป็นระบำแดดที่อาศัยบ้านเป็นฉาก โดยมีผนังสูงผิวตารางดินเผาเป็นตัวปรุงแต่งเรื่องของวันเวลาที่ดำเนินไป”
“ลักษณะของบ้านถูกห่อไว้ด้วยจริตของความดิบของวัสดุที่นำมาใช้ ตั้งแต่กระเบื้องดินเผาที่กรุรอบแผงบังแดดด้านหน้าที่ใช้จำนวนมหาศาล เพื่อขับให้บุคลิกของบ้านเป็นไปตามความต้องการของเจ้าของ”
“ผิวคอนกรีตเปลือยถูกฉาบแต่งไปทั่ว พื้นกรวดโรยบนลานกึ่งด้านในพร้อมตราประทับรูปกลม ซึ่งสะท้อนกับดวงไฟดาวที่แขวนอยู่ด้านบนให้รับรู้กันและกัน รวมทั้งเหล็กและไม้ที่วางพักไว้ระหว่างสิ่งเหล่านี้ เพื่อส่งให้อารมณ์ของบ้านไปถึงที่สุด บันดาลปากเป็นคำอุทานเชิงชื่นชมต่อการสร้างบริบทใหม่แก่ชาวบ้านละแวกนั้นอยู่เสมอ ๆ”
ออกแบบ: Archimontage Design Fields Sophisticated
สถาปนิกโครงการ: Cherngchai Riawruangsangkul, Thanakit Wiriyasathit, Tanakul Chookorn
วิศวกรโครงสร้าง: Chaianuchit Srihard
ก่อสร้าง: Channarong Prangsorn
.
ภาพ: DOF Sky|Ground
เรียบเรียง: ND24