Citizen of Nowhere แบรนด์ที่หยิบของซึ่งใครมองว่าเห่ย มาออกแบบให้คนเห็นแล้วร้องเฮ้ยช่างคิด
ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบผู้ก่อตั้ง 56thStudio ตอบคำถามที่เราขอให้เขาช่วยนิยามความหมายของคำว่า “Eco-chic” แนวคิดหลักของงานบ้านและสวนแฟร์ midyear 2020 ในมุมมองส่วนตัวเขาออกมาได้อย่างน่าสนใจ Citizen of Nowhere
ศรัณย์บอกว่าทั้งคำว่า Eco และ Chic ต่างก็เป็น “อัตวิสัย” หรือ Subjective หมายถึง ต่างคนก็ต่างมุมมอง ต่างความคิด ซึ่งไม่มีผิดเเละไม่มีถูก ทว่าสิ่งที่ตอกย้ำความคิดดังกล่าวของศรัณย์ให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ก็คือผลงานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ของเขา ซึ่งต่างจากความหมายของคำว่า อัตวิสัย ที่เป็นนามธรรมโดยสิ้นเชิง Citizen of Nowhere
การหยิบของธรรมดา ๆ หน้าตาบ้าน ๆ มาอาบน้ำแต่งตัวใหม่ ภายใต้แบรนด์ “ Citizen of Nowhere ” คือภาพสะท้อนที่เรากำลังจะพูดถึงบทบาทอีกด้านของศรัณย์ ในฐานะ “คนกลาง” ที่เชื่อมโยงสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม
เพราะใครจะคิดว่าเสื่อซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จักสานลวดลายบ้าน ๆ หรือตะกร้าพลาสติกที่พบเห็นตามตลาดขายส่งผลไม้ จะกลายมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเอกสีสันจัดจ้า ดูโดดเด่นเป็นพิเศษเมื่อถูกจัดวางหรือตั้งอยู่ในบ้าน ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เเก่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้อีกมิติหนึ่ง หรือสามารถพลิกเเพลงฟังก์ชันใหม่ ๆ ให้แก่ของใช้สไตล์ไทย ๆ ที่คุ้นเคย เป็นมากกว่าหน้าที่เดิมที่เคยถูกกำหนดมา
“Cheap Ass Elites” เก้าอี้จากลังพลาสติกใส่ผลไม้ ผลงานที่กระตุกความสนใจผู้คนจนสร้างชื่อเสียงให้ศรัณย์ เย็นปัญญา เป็นที่รู้จัก | https://www.56thstudio.com/cheap-ass-elites-part-2
“เสื่อ” ใช่ว่าจะมีไว้ใช้ปูพื้นสำหรับรองนั่ง เเละ “ตะกร้า” ใช่ว่าจะมีหน้าที่ไว้ใช้เพียงบรรจุผลไม้
“ทุกอย่างที่ผมทำ เรา Empower แบบ Underdog (หมารองบ่อน) เรารู้สึกว่าคนที่อยู่ชายขอบไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมแบบไหนก็เป็นคนที่ควรจะได้รับแสงสปอร์ตไลท์ ของที่คนมองว่าเชย มองว่าถูก มองว่าเห่ย เราหยิบมาใช้เสมอ หรือต่อให้ไม่ใช่งานหัตถกรรม ตะกร้าพลาสติก หรือสตรีทเฟอร์นิเจอร์ นี่คือสิ่งที่อยู่ในความสนใจของเราตลอดมา
“แต่สำหรับงานหัตถกรรม ยิ่งค้นลึก ๆ จะยิ่งพบว่า พวกเขามีความเป็น Underdog มาก ๆ เสื่อชาวบ้านผืนละไม่กี่บาท ทำก็ยาก แล้วก็ยังมีคอรัปชั่นอะไรมากมายในเชิงระบบ อะไรที่เป็น Underdog Culture มันคือสิ่งที่องค์กรนี้ หรือองค์กรใดก็แล้วแต่ มีหน้าที่ Empower มัน สำหรับเราอะไรที่คนมองว่าเห่ย เราจะพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่าจริง ๆ เเล้ว มันไม่ได้เห่ยนะ”
Eco Chic ตามสไตล์ของใครของมัน แต่ Eco Chic ในความหมายของศรัณย์ ต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคม
“Chic เป็นคำที่ Subjective คำว่า Chic สำหรับอีกคนอาจไม่ Chic สำหรับอีกคนก็ได้ ส่วน Eco ก็เป็นคำที่ Subjective เพราะแต่ละคนก็ตีความคำว่า Eco ไม่เหมือนกัน บางคนยังคิดว่า Eco ต้องมาจากธรรมชาติล้วน ๆ
“แต่สำหรับผม Eco มาจาก Ecology หรือว่า Environmental friendly คุณจะตีความคำว่า Eco Chic อย่างไรก็ได้ แต่สำหรับผม ถ้ามัน Benefit ต่อสิ่งแวดล้อม คน หรือสังคม นั่นคือ Eco ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อคน ไม่ว่าของชิ้นนั้น ๆ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร คุณค่าของมันก็ยังมีอยู่ ผมให้คุณค่ากับสิ่งที่มัน Contribute กับโลก หรือสังคม มากกว่าหน้าตา”
Citizen of Nowhere ขี้หงุดหงิด ปะทะ ความ Eco โดยไม่ได้ตั้งใจ
“Citizen of Nowhere เกิดมาโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจให้เป็น Eco หรือเป็น Social Enterprise อะไรทั้งสิ้น มันเกิดมาจากความหงุดหงิดว่า ทำไมชาวบ้านที่เป็น Makers หรือ Crafters ทำงานหัตกรรมถึงไม่รวยเสียที มันเกิดจากการตั้งคำถามแล้วพบคำตอบว่า มันเป็นเรื่องการสร้างระบบเกื้อหนุนกันระหว่างต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
“แต่บังเอิญสิ่งที่พวกเขาทำนั้นมาจากธรรมชาติ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของพวกเขา วัสดุที่ใช้ก็เป็นวัสดุธรรมชาติ นั่นคือความบังเอิญ แต่จริง ๆ แล้วความตั้งใจหรือบทบาทของเราคือการสร้างแพลตฟอร์มที่ยั่งยืน สนับสนุนชาวบ้าน ช่วยให้เขามีออเดอร์ตลอดทั้งปี ไม่ถูกกดราคา และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าของพวกเขา ที่สำคัญชาวบ้านที่ได้เรียนรู้งานจากเรา เขาสามารถนำกลับไปต่อยอดการทำงานได้และยั่งยืนกว่า”
พบกับ Citizen of Nowhere แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่ ศรัณย์ เย็นปัญญา หยิบของทั่วไปซึ่งใคร ๆ อาจมองว่า “เห่ย” มาออกแบบให้ทุกคนเห็นชีวิตที่สอง แล้วร้อง เฮ้ย ! โคตรเจ๋ง ได้ที่โซน บ้านและสวน Home Ideas : ECO VILLAGE ในงานบ้านและสวนแฟร์ midyear 2020 “ECO-chic” ที่ ไบเทค บางนา วันที่ 7-16 สิงหาคม 2563 นี้