ระบบน้ำพุ่ง เพื่อการเกษตร ที่ต่อยอดมาจากระบบน้ำหยด
ระบบน้ำพุ่ง คือระบบอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับให้น้ำพืช ทั้งผักสวนครัว ไม้ยืนต้น ที่ต้องการความชุ่มชื้นเป็นบริเวณกว้าง มากกว่าการให้น้ำด้วย ระบบน้ำหยด ที่เน้นเฉพาะจุดอย่างที่เราเคยนำเสนอไปเเล้วก่อนหน้านี้
การติดตั้ง ระบบน้ำพุ่ง ในแปลงเกษตร สามารถทำได้เองไม่ยุ่งยาก หรือแทบไม่ต้องเดินท่อน้ำใหม่ เพียงแค่เปลี่ยนจากเทปน้ำหยดเป็นเทปน้ำพุ่ง เท่านี้คุณก็จะสามารถให้น้ำต้นไม้ได้อย่างประหยัดเเละเพียงพอในช่วงหน้าเเล้งนี้เเล้ว
อุปกรณ์จำเป็นสำหรับให้น้ำพืชด้วย ระบบน้ำพุ่ง
- ถังน้ำขนาด 2,000 ลิตร
- ถังน้ำขนาด 200 ลิตร
- ปั๊มหอยโข่ง 1 นิ้ว ขนาด 0.5 แรงม้า
- บอลวาล์ว ประมาณ 10 ตัว เพื่อปรับแรงดันในแต่ละช่วงของข้อต่อ
- ท่อพีวีซี 1.5 นิ้ว สำหรับเดินระบบถังสูบและจ่ายน้ำเข้าสู่ท่อน้ำหยด
- ท่อกรองน้ำเกษตร สำหรับกรองหยาบก่อนส่งน้ำเข้าท่อน้ำหยด
- เทปน้ำพุ่ง เลือกระยะรูของการให้น้ำตามลักษณะของพืชเเละการปลูก
- วาล์วน้ำหยด สำหรับต่อเทปน้ำพุ่ง
- ผ้าพลาสติกดำ มีหรือไม่มีก็ได้ ใช้สำหรับคลุมทับหน้าดิน เพื่อป้องกันวัชพืช เเละเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดิน
ข้อดีของระบบน้ำพุ่ง มีดังนี้
- ติดตั้งได้ง่ายเช่นเดียวกับระบบน้ำหยด โดยเจ้าของสวนสามารถทำเองได้ไม่ยุ่งยาก
- ใช้แรงดันน้ำในท่อต่ำกว่าระบบสปริงเกอร์
- ดูแลรักษาง่าย สามารถเปิดล้างตะกอนในท่อกรองเกษตรได้
- สามารถให้น้ำได้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าระบบน้ำหยด เเละประยุกต์ใช้กับการให้น้ำพืชได้หลากหลายชนิด
- ราคาย่อมเยาเมื่อเปรียบเทียบกับระบบการให้น้ำรูปแบบอื่น ๆ อย่างระบบสปริงเกอร์
- เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทย
- ประหยัดน้ำ ใช้ได้ดีในหน้าแล้ง
- ประหยัดเวลา สามารถปล่อยทิ้งไว้และไปทำงานอื่นได้
จึงจะเห็นได้ว่าระบบน้ำพุ่งนี้ ครอบคลุมถึงพืชพันธ์ุที่มีขนาดใหญ่กว่าพืชในเเปลงปลูกที่ใช้ระบบน้ำหยด เเถมยังมีระยะการให้น้ำที่ไปได้ไกลกว่าด้วย
สำหรับขั้นตอนการติดตั้งนั้น ผู้อ่านสามารถย้อนกลับไปดูวิธีการติดตั้งระบบน้ำหยด ซึ่งเราได้เเปะลิงก์ไว้ด้านล่างนี้
ขั้นตอนการติดตั้ง ระบบน้ำหยดเพื่อการเกษตร
เรียกได้ว่าทุกขั้นตอนของระบบน้ำพุ่งนั้น มีลักษณะคล้ายขั้นตอนการติดตั้งระบบน้ำหยดทุกประการ เเต่ต่างกันที่ขั้นตอนหลังการติดตั้งวาล์วน้ำหยดแล้ว ให้คุณเปลี่ยนมาเป็นเทปน้ำพุ่งแทน จากนั้นจึงวางแนวเทปไปตามพื้นที่ระหว่างกึ่งกลางของเเปลงปลูก เพื่อให้ต้นไม้ทั้งสองฝั่งได้รับน้ำอย่างทั่วถึง
หากมองในแง่ของการใช้งานแล้ว การให้น้ำด้วยระบบน้ำพุ่งนี้ เปรียบเทียบได้กับการให้น้ำแบบมินิสปริงเกอร์ที่เดินระบบด้วยท่อ PE (ท่ออ่อน) โดยเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วการเดินระบบด้วยท่อ PE จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มตั้งเเต่การติดตั้งที่สูงกว่าระบบน้ำพุ่งเกือบเท่าตัว แต่ข้อดีของระบบมินิสปริงเกอร์ในท่อ PE คือสามารถถอดล้างระบบได้หากเกิดการอุดตัน ส่วนระบบน้ำพุ่งจะเกิดปัญหานี้ได้ง่ายกว่า หากไม่วางระบบกรองเกษตรให้ดีเสียก่อน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความรอบคอบในการติดตั้งและเลือกใช้
ทั้งนี้เราสามารถเลือกปรับใช้ระบบน้ำพุ่งร่วมกับระบบน้ำหยดได้ โดยการแบ่งโซนที่ใกล้กับปั๊มน้ำให้เป็นระบบน้ำพุ่ง และเมื่อแรงดันที่ปลายทางลดต่ำลงให้เลือกใช้ระบบน้ำหยด ซึ่งจะต้องออกเเบบแปลงปลูกพืชไว้ก่อนการวางระบบ ว่าเราจะปลูกพืชชนิดใดในพื้นที่ก่อนหลัง ซึ่งจะเป็นการช่วยให้เราสามารถปลูกพืชได้หลากหลาย ตามหลักการให้น้ำที่กล่าวไปข้างต้น
ระบบน้ำพุ่งเพื่อการเกษตรทั้งหมดนี้ สามารถประกอบติดตั้งได้ในงบประมาณไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับแปลงปลูกขนาดไม่เกิน 1 ไร่ และสามารถมีอายุการใช้งานได้ราว ๆ 5-10 ปี (เช่นเดียวกับระบบน้ำหยด) ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของระบบท่อต่าง ๆ ที่เลือกนำมาใช้และการหมั้นดูแลรักษานั่นเอง
เรื่องและภาพประกอบ : วุฒิกร สุทธิอาภา