บ้านโมเดิร์น ล้อมคอร์ตยาร์ดไว้กลางบ้าน พร้อมมุมพักผ่อนที่โปร่งโล่งร่มรื่น - บ้านและสวน

บ้านโมเดิร์นหลังใหญ่เชื่อมโยงการอยู่ร่วมกันด้วยสวนกลางบ้าน

บ้านโมเดิร์น ที่มองจากภายนอกเห็นเป็นเพียงอาคารทรงกล่องปิดทึบ เเต่ภายในกลับโปร่งสบายด้วยคอร์ตยาร์ดกลางบ้าน ทำหน้าที่เป็นส่วนกลางเชื่อมโยงทุกคนในครอบครัวให้มีกิจกรรมร่วมกัน โดยยังคงไว้ซึ่งความเป็นส่วนตัวเเละไลฟ์สไตล์อิสระของเเต่ละคนเอาไว้เเบบไม่อึดอัด

DESIGNER DIRECTORY: เจ้าของ: ครอบครัวจงหมายลักษณ์/ สถาปนิก : Full Scale Studio โดยคุณอรรถสิทธิ์ กองมงคล

บางจุดของบันไดออกแบบให้มีส่วนที่ยื่นออกมาเป็นเหมือนจุดชมวิว โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กยื่นออกมาจากอาคารประมาณ 3 เมตร (รวมส่วนบันได) โดยสถาปนิกต้องการให้คนมีส่วนร่วมกับพื้นที่สีเขียวตรงกลางมากขึ้นในกิจกรรมและมุมมองที่ต่างกันไป

บ้านสวยหลังนี้ตั้งอยูในเขตอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นของครอบครัวจงหมายลักษณ์ที่มีกิจการสวนส้มในชื่อ “สวนส้มจงลักษณ์” และยังมีไร่หอมหัวใหญ่ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ทุกคนในบ้านจึงมีความใกล้ชิดกับสวนและต้นไม้ โดยมีสมาชิกประกอบด้วยคุณพ่อ คุณแม่ ครอบครัวของลูกสาวและลูกชาย รวมแล้วมีผู้อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่นี้นับสิบคน ดังนั้นเพื่อบรรจุทุกความต้องการของเเต่ละคนได้อย่างครบถ้วน พร้อมเชื่อมโยงความผูกพันระหว่างกันของคนในครอบครัว คุณพ่อ คุณวิเทพ จงหมายลักษณ์ จึงเล่าเเนวคิดความต้องการในฐานะเจ้าบ้านให้ฟังว่า “ทุกคนมีความเห็นว่าอยากจะอาศัยในที่เดียวกัน ใช้พื้นที่ส่วนกลางด้วยกัน แต่ทุกคนยังมีพื้นที่ส่วนตัว” บ้านโมเดิร์น

คอร์ตกลางบ้าน มีเเนวคิดมาจากอยากให้สมาชิกในบ้านสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ได้ทั้งเลี้ยงปลาคาร์ฟ ชมสวน และพูดคุยกันโดยไม่ถูกตัดขาด
การปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ตรงคอร์ตกลางบ้าน ควรเผื่อพื้นที่ระหว่างตัวบ้านเเละคอร์ตยาร์ดอย่างน้อย 3 x 3 เมตร เพื่อให้มีสเปซระหว่างอาคารบ้านพักกับกิ่งก้านที่อาจจะแผ่ขยายในอนาคตเมื่อต้นไม้เติบโต

ครอบครัวใหญ่ที่รักต้นไม้

จากความต้องการที่เจ้าของบ้านบอกเล่าไว้ข้างต้นนั้น ได้รับการสานต่อโดย คุณอรรถ – อรรถสิทธิ์ กองมงคล สถาปนิกแห่ง Full Scale Studio ภายใต้คอนเซ็ปต์เเละเเนวคิดโดยเขาได้เล่าว่า

“ทุกคนในบ้านนี้รักธรรมชาติ จึงคิดจะนำพื้นที่สีเขียวมาเป็นจุดเชื่อมโยงสมาชิก เกิดเป็นคอร์ตตรงกลางขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์กลางของบ้านสำหรับทำกิจกรรม เรายังตีความคอร์ตนี้เป็นเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา สามารถมาใช้ประโยชน์ได้”

จากภายนอกของตัวบ้านที่มีลักษณะเป็นกล่องคอนกรีตผสมไม้สไตล์โมเดิร์นเเบบปิดทึบ เราเเทบเดาไม่ออกเลยว่าพื้นที่ภายในบ้านจะมีลักษณะเป็นเช่นไร จนกระทั่งได้เข้ามาด้านใน จากประตูหน้าบ้านเข้าไปยังตัวบ้าน ผ่านโถงหน้าบ้านทะลุไปเห็นต้นไม้ใหญ่ ด้านขวาเป็นส่วนปรุงอาหารและห้องนั่งเล่นท่ามกลางบรรยากาศโปร่งโล่ง ซึ่งมีผลมาจากการออกแบบให้มีคอร์ตสวนอยู่กลางบ้าน ทำหน้าที่นำเเสงธรรมชาติเข้ามาสู่พื้นที่ภายในได้อย่างทั่วถึง พร้อมวิวสวนเขียวชอุ่มของยอดไม้ที่ปลูกไว้ตรงกลาง ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของบ้านก็สามารถสัมผัสกับความร่มรื่นนี้ได้

ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เลือกนำมาปลูกไว้ตรงคอร์ตกลางนั้นคือ พะยอมแดง ซึ่งนับว่าเป็นไม้หายาก ร้อยต้นจะมีสัก 2 ต้นที่มีดอกสีแดง เเละด้านนอกโดยรอบยังมีพะยอมขาว และแดง ชนิดละ 2 ต้น และกระบกอีก 3 ต้น ทั้งหมดนี้คุณรัชนีภรรยาเจ้าของบ้านเป็นผู้หามาปลูกเอง โดยเฉพาะพะยอมเเดงกลางบ้าน ด้วยลักษณะของลำต้นที่มีฟอร์มสวย พร้อมใบสีเขียวอ่อน จึงดูเข้ากันได้อย่างดีกับบ้านสไตล์โมเดิร์นหลังนี้

มุมมองจากชั้นดาดฟ้าลงมาเห็นบ้านทั้งหมด ตรงกลางเป็นคอร์ตกลางปลูกพะยอมแดง พร้อมบันไดที่สามารถขึ้นไปยังชั้นต่าง ๆ  โดยจากมุมนี้จะมองเห็นได้ทั้งวิวต้นไม้รอบบ้านที่เจ้าของเลือกมาปลูกเอง รวมถึงจุดไฮไลต์อย่างวิวดอยสุเทพในวันอากาศปลอดโปร่ง
พื้นที่ใช้งานบนดาดฟ้า ส่วนหนึ่งแบ่งเป็นมุมสังสรรค์โดยไม่ต้องรบกวนพื้นที่ส่วนตัวภายใน ติดตั้งกระจกนิรภัยเป็นราวกันตกเพื่อให้ดูโปร่งตา
รูปแบบของบันไดรอบบ้านได้แรงบันดาลใจมาจากพื้นที่ลาดชันตามธรรมชาติของเชียงใหม่ ออกแบบให้กว้างและค่อยเดินขึ้นไปโดยไม่ชันมาก
ชั้นล่างบางส่วนที่เปิดโล่งทำหน้าที่คล้ายใต้ถุนของเรือนไทย เพื่อให้อากาศไหลเวียนได้ดีและยังนำแสงเข้ามาสู่คอร์ตชั้นล่าง

สระว่ายน้ำตั้งอยู่ทางทิศเหนือ เป็นอีกจุดหนึ่งที่สมาชิกชอบมาใช้งาน บางครั้งยังใช้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในหมู่เพื่อนฝูงด้วย

บันได ชายคา และใต้ถุน

จุดเด่นของบ้านหลังนี้คือ บันได ที่อยู่ล้อมไม้ใหญ่อีกที ส่วนหนึ่งทำหน้าที่เหมือนชายคาขนาดใหญ่ ขนาดขั้นละ 1.20×1.20 เมตร ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากความลาดเอียงของพื้นที่เชิงเขาตามธรรมชาติ เพื่อลดทอนแสงและความร้อนไม่ให้ปะทะเข้าสู่ตัวอาคารได้โดยตรง รวมทั้งยังทำหน้าที่พาสมาชิกในบ้านออกมาพักผ่อนนอกบ้าน เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ทั้งเดินชมสวน ดูแลปลาคาร์ปในบ่อ และเป็นทางเดินภายนอกไปสู่ดาดฟ้าเพื่อรับวิวในยามเย็น

อีกทั้งการกำหนดให้แปลนบ้านเป็นรูปวงกลมลื่นไหลคล้ายการเดินในแกลเลอรี่เช่นนี้ เกิดมาจากการที่สถาปนิกต้องการเชื่อมโยงพื้นที่ภายในอาคารให้มีลักษณะกึ่งภายนอก โดยพาผู้อาศัยมาพบปะกันในพื้นที่ส่วนกลาง เเถมยังสามารถชื่นชมพื้นที่สีเขียวได้แบบใกล้ชิดไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ยังได้นำแนวคิดใต้ถุนอย่างบ้านไทยสมัยก่อน มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบด้วย ซึ่งสอดคล้องกับงานสถาปัตยกรรมเเนวโมเดิร์นเเบบ Le Corbusier เนื่องจากหนึ่งในกฎ 5 ข้อนั้นคือ การยกอาคารให้ลอย มีน้ำหนักเบา เป็นเเนวคิดที่เหมาะอย่างยิ่งกับสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างบ้านเรา ในการช่วยให้ลมไหลเวียนถ่ายเทได้ดีขึ้น ทั้งยังใช้พื้นที่ด้านล่างของอาคารเป็นที่พักผ่อน เเละใช้งานอเนกประสงค์ได้

การตกแต่งของห้องนอนสอดแทรกการใช้หินอ่อนและแสงแบบ In Direct สร้างบรรยากาศน่าพักผ่อนมากยิ่งขึ้น
การออกแบบพื้นที่ส่วนตัวแบ่งพื้นที่ด้วยประตูเลื่อนแบบพาร์ทิชั่น โดยด้านในสุดเป็นห้องน้ำ พื้นที่แต่งตัว และเตียงนอน ผนังเป็นไม้สักทำสี
พื้นที่แต่งตัวขนาดใหญ่ที่ใช้งานต่อเนื่องจากห้องนอน
ออกแบบให้มีสวนแนวตั้งในห้องน้ำเเทบทุกห้อง เพื่อดึงธรรมชาติเข้ามาสู่ตัวบ้านได้อีกทาง
หากออกแบบให้มีสวนเเนวตั้งในห้องน้ำ เเนะนำให้ทำช่องแสงไว้ด้านบนเพื่อให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี โดยเลือกพรรณไม้ที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ ทนทาน ดูเเลง่าย ส่วนการให้น้ำสามารถใช้ระบบน้ำหยดผสมกับระบบสเปรย์ เมื่อต้นไม้บางส่วนตายไปก็หาต้นอื่นมาทดแทนได้
บรรยากาศในห้องนอนของคุณเบนและคุณแนนต่างจากส่วนอื่นของบ้าน โดยการนำสีดำเข้ามาตกแต่งในบางส่วนตามความชอบ และเป็นการเชื่อมโยงไปสู่ห้องน้ำสีดำภายใน
ห้องน้ำสีดำที่ดึงธรรมชาติเข้ามาผสมความอบอุ่นจากไม้ พร้อมการกำหนดให้มีช่องแสงเข้ามาด้านบนสวนแนวตั้ง นอกจากจะเหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ ยังช่วยเพิ่มเเสงสว่าง ปลอดโปร่ง ไม่อับชื้น ดีต่อสุขอนามัยของผู้อยู่อาศัย

ธรรมชาติที่อยู่ภายในและภายนอก

นอกจากพื้นที่คอร์ตยาร์ดกลางบ้านเเล้ว พื้นที่พักอาศัยภายในอย่าง ห้องน้ำ ทุกห้องของบ้าน ยังมีสวนแนวตั้งเข้ามาเติมความสดชื่น พร้อมเปิดรับแสงและลมเข้ามาเพื่อสุขอนามัยที่ดีด้วย โดยห้องน้ำในห้องนอนของคุณเบน-คุณฐิติพงษ์ จงหมายลักษณ์ ลูกชาย และคุณแนน – พรพิมล จงหมายลักษณ์ ภรรยา จะมีความต่างตรงที่ตกแต่งให้เป็นสีดำตามความชอบของเจ้าของห้อง

“สำหรับฟังก์ชันในห้องนอน เราให้ความสำคัญกับทุกกิจกรรมเท่ากัน คือส่วนที่นอน ห้องน้ำ และห้องแต่งตัวที่ใหญ่เท่ากันหมด จากประสบการณ์แล้วสุดท้ายห้องแต่งตัวไม่เคยพอ ก็ทำพื้นที่ส่วนนี้ให้เยอะ เน้นห้องน้ำด้วยเพราะทุกคนชอบดึงธรรมชาติเข้ามาใช้ในอาคาร ในห้องน้ำเราจึงเปิดรับทั้งแสงและลม โดยมีกำแพงกั้นเพื่อความเป็นส่วนตัว ด้วยการเลือกใช้พาร์ทิชั่นแบบเลื่อนเพื่อให้พื้นที่ใช้งานส่วนนี้เปิดโล่งได้” คุณอรรถขยายความถึงการออกแบบพื้นที่ใช้งานส่วนตัวของแต่ละครอบครัว

ด้านการตกแต่งเเละเฟอร์นิเจอร์สถาปนิกพยายามสอดเเทรกงานไม้ลงไปในเเทบทุกส่วนของพื้นที่ใช้ทั้งไม้สีเข้มเเละอ่อนตามความชื่นชอบของเจ้าของบ้าน
ภายในบ้านหลังนี้มีพื้นที่ส่วนกลางหลากหลายมุม เพื่อให้สมาชิกในบ้านสามารถมีกิจกรรมทำร่วมกันได้ ถือเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างกัน ตามอย่างที่หัวหน้าครอบครัวต้องการ
เมื่อมองจากภายนอกเข้ามาจะพบกับบ้านทรงกล่องคอนกรีตขนาดใหญ่ที่มีความเป็นส่วนตัวสูง

ส่วนรายละเอียดการใช้วัสดุทั้งหมดใช้ไม้จริงทั้งภายในและภายนอกตามความชอบของคุณพ่อ ประตูทั้งหมดและเฟอร์นิเจอร์ในห้องรับแขกใช้ไม้สนฮิโนกิที่มีสีอ่อนและกลิ่นหอมเฉพาะตัว ฝ้าเพดานและเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ของบ้านเป็นไม้สัก พื้นภายนอกเป็นไม้แดง โดยพื้นชั้น 2 และห้องฟิตเนสเป็นไม้มะค่า แต่ปรับโทนสีไม้บางส่วนให้มีความทันสมัยขึ้นและดูสว่างรับกับรูปแบบของบ้าน ทั้งหมดนี้เป็นดังที่ทุกคนในบ้านให้นิยามไว้ว่า เป็นบ้านของครอบครัวใหญ่ที่แม้จะมีสไตล์ต่างกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น


เรื่อง : สมัชชาวิราพร
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข

อ่านต่อ บ้านทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ปิดทึบด้านหน้า เเต่มีคอร์ตเปิดโล่งสร้างมุมพักผ่อนสีเขียวข้างในบ้าน