บ้านสามเหลี่ยมบนที่ดินหกเหลี่ยม เชื่อมทุกหลังหากันด้วยหลังคารูปปีกเครื่องร่อน
บ้านสามเหลี่ยมที่มีหลังคาขนาดใหญ่คล้ายปีกเครื่องร่อน พับไปมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมโยงบ้านทุกหลังเข้าด้วยกัน แ
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Stu/D/O Architects
แบบบ้านต่างจังหวัด ที่ผมจะพาไปชมในครั้งนี้ ซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่บนที่ดินประมาณ 2,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดนครราชสีมา ไม่ไกลจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บ้านสวยที่เกิดจากการทดลองนำเสนอสิ่งที่แตกต่างไปจากการรับรู้ที่คุ้นเคย เป็นบ้านที่ออกแบบด้วยเส้นสายของหลังคาทรงสามเหลี่ยมคล้ายกับรูปทรงของ “ปีกเครื่องร่อน”
บ้านสามเหลี่ยมบนที่ดินรูปหกเหลี่ยม
งานสถาปัตยกรรมที่ดีมักมาจากองค์ประกอบที่ดีหลายอย่างรวมกัน อาจเป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดี มีบริบทแวดล้อมที่ดี การวางผัง ที่ถูกต้องเเละสอดคล้องกับการใช้งานจริง ซึ่งมาพร้อมกับการออกแบบอาคารอย่างสวยงาม หรือแม้แต่การเลือกวัสดุได้อย่างเหมาะสม ทนทานต่อการใช้งาน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นมิติที่ซ้อนทับกันอยู่ในงานออกแบบ ซึ่งนอกจากสถาปนิกแล้ว น้อยคนนักที่จะรู้ถึงมิติที่มีความซับซ้อนและหลากหลายดังกล่าว
บ้านหลังนี้จึงมีชื่อว่า “บ้านสามเหลี่ยม” หรือ “Gliding Villa” โดยคุณอภิชาติ ศรีโรจน์ภิญโญ และ คุณชนาสิต ชลศึกษ์ สองสถาปนิกจากบริษัท Stu/D/O Architects เล่าถึงความคิดริเริ่มในการออกแบบบ้านหลังนี้ว่า
“ความท้าทายของการสร้างบ้านหลังนี้เริ่มต้นจากลักษณะของที่ดินที่เป็นรูปหกเหลี่ยม และตั้งอยู่ตรงปลายสุดของถนน มีแนวต่อเนื่องตัดกลางที่ดินพอดี ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักฮวงจุ้ย เราจึงแก้ปัญหาด้วยการวางตัวบ้านแยกออกเป็นสองฝั่ง คือทิศตะวันออก (ขวา) และทิศตะวันตก (ซ้าย) หลบแนวปะทะกับถนนทางเข้า เว้นพื้นที่ตรงกลางให้เป็นสวนขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้บ้านทั้งสองหลัง
“ส่วนทางเข้าบ้านที่อยู่ทางทิศใต้ออกแบบเป็นส่วนบริการและพื้นที่จอดรถ มีกำแพงยาวเป็นแนวกั้นมุมมองระหว่างภายนอกกับภายใน นำเส้นสายของขอบเขตที่ดินเดิมที่เป็นเหลี่ยมมุม มาพัฒนาจนกลายเป็นแผ่นหลังคาทรงเหลี่ยมขนาดใหญ่คล้ายปีกเครื่องร่อน เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มอาคารทั้งหมดเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้คนจดจำบ้านหลังนี้ได้”
ในส่วนของบ้านพักอาศัยสูงสองชั้น แยกออกเป็นอาคารด้านขวาและอาคารด้านซ้าย แต่ละหลังประกอบด้วยห้องนอนใหญ่หนึ่งห้อง ซึ่งอยู่บนชั้นสอง และห้องนอนเล็กอีกสองห้อง มีส่วนรับประทานอาหารและครัวฝรั่งที่ต่อเนื่องเป็นพื้นที่เดียวกันอยู่ภายในบ้าน มีครัวไทยอยู่ด้านนอกติดกับระเบียงขนาดใหญ่สำหรับจัดงานเลี้ยงสังสรรค์เล็ก ๆ ในหมู่เพื่อนฝูงช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
บ้านสามเหลี่ยมล้อมสวนไว้ตรงกลาง
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการออกแบบสวนสวยขนาดใหญ่ตรงกลางระหว่างบ้านพักทั้ง 2 หลัง ซึ่งคุณธีรชัย ธรวงศ์ธวัช ภูมิสถาปนิกจากบริษัท Field Landscape Studio เล่าว่า
“เราตั้งใจใช้พื้นที่สวนและต้นไม้น้อยใหญ่มาเป็นตัวช่วยบดบังมุมมองและสร้างความเป็นส่วนตัวให้บ้านทั้ง 2 หลัง ขณะเดียวกันยังอยากให้ดูเป็นสวนของบ้านหลังเดียวกันอยู่ จึงออกแบบเป็นลักษณะเนินดินสลับสูง – ต่ำ แทนที่จะใช้กำแพงหรือระแนงไม้แบบที่เราคุ้นเคย บ้านจึงดูไม่อับทึบ ประกอบกับการยกระดับความสูงของฝ้าหลังคาชั้น 2ถึง 4.50 เมตร ลมธรรมชาติจึงพัดผ่านเข้ามาในบ้านได้อย่างทั่วถึง อยู่สบายตลอดปี”
แม้เส้นสายของบ้านหลังนี้จะดูเฉียบคมแข็งแรง ผนวกเข้ากับความเรียบง่ายไร้การประดับ-ประดาในสไตล์โมเดิร์น แต่สถาปนิกได้พยายามใช้พื้นที่สีเขียวโดยรอบมาช่วยลดความแข็งกระด้างดังกล่าวลง โดยออกแบบให้ภายในบ้านมีช่องเปิดขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมต่อบรรยากาศทั้งภายในและภายนอกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร่วมกับการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ฝ้าไม้สักสีเข้ม ผนังและพื้นจากหินทราเวอร์ทีนสีครีมอ่อน ระเบียงนอกบ้านที่ปูท่อนไม้เก่าขนาดใหญ่ ช่วยให้บ้านดูอบอุ่นน่าอยู่ยิ่งขึ้น บ้านสามเหลี่ยมหลังนี้ จึงเป็นตัวอย่างของการประกอบปัจจัยหลากหลายมิติเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว จนกลายมาเป็นพื้นที่แห่งความสุขนั่นเอง
“ใช้พื้นที่สวนและต้นไม้น้อยใหญ่มาเป็นตัวช่วยบดบังมุมมองและสร้างความเป็นส่วนตัวให้บ้านทั้งสองหลัง ขณะเดียวกันยังอยากให้ดูเป็นสวนของบ้านหลังเดียวกันอยู่ จึงออกแบบเป็นลักษณะเนินดินสลับสูง – ต่ำ แทนที่จะใช้กำแพงหรือระแนงไม้แบบที่เราคุ้นเคย”
Design Detail
สถาปนิกเลือกใช้หลังคาโครงสร้างเหล็ก เพื่อเพิ่มระยะยื่นของแนวหลังคาให้มากขึ้น จากมุมนี้เราจะเห็นระยะยื่นของหลังคาออกมาจากเสาถึง 9 เมตร เพิ่มระยะยื่นของหลังคาด้วยโครงสร้างเหล็ก เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น นอกจากการออกแบบให้บ้านมีการระบายอากาศที่ดีแล้ว ระยะยื่นของหลังคาที่เหมาะสมยังช่วยป้องกันความร้อนที่เข้าสู่อาคารได้มากขึ้น
โดยระยะหลังมานี้ หลายคนนิยมใช้โครงสร้างหลังคาเหล็กกันมากขึ้น เพราะมีข้อดีคือน้ำหนักเบา ก่อสร้างได้เร็ว การขึ้นรูปและระยะยื่นสามารถทำได้มากกว่าหลังคาโครงสร้างคอนกรีตแบบเดิม การดูแลรักษาก็ง่ายกว่า ทั้งยังสามารถรื้อถอนหรือติดตั้งโครงหลังคา และวัสดุกรุใหม่ได้เสมอเมื่อเกิดปัญหารั่วซึม
ทั้งนี้ระยะยื่นของหลังคาโครงสร้างเหล็ก ต้องผ่านการคำนวณจากวิศวกรโครงสร้างก่อนขึ้นงานจริงทุกครั้ง เพราะหลังคาจะต้องรองรับน้ำหนักวัสดุ รวมถึงแรงลมปะทะซึ่งจะทำให้เกิดแรงบิดและแรงสั่นสะเทือน อันจะส่งผลต่อความแข็งแรงของบ้านได้
DESIGNER DIRECTORY: สถาปนิก-ตกแต่งภายใน : Stu/D/O Architects / ภูมิสถาปัตย์ : Field Landscape Studio
เรื่อง : ศุภชาติ บุญแต่ง
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน
สไตล์ : วนัสนันท์ ธีรวิฑูร