3rd PLACE ARE ALL AROUND
คำว่า “Third Place” อาจไม่ใช่คำจำกัดความที่หลายคนคุ้นเคย แต่จริง ๆ แล้วมันอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นบ้านเพื่อนสนิท ร้านกาแฟที่คุณชอบไปนั่งทำงาน หรือแม้กระทั่งพื้นที่สังสรรค์ของชุมชน เราจึงอยากชวนคุณไปเยี่ยมชมพร้อมกับเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจจาก 4 ไอเดีย 4 สไตล์การสร้างสรรค์พื้นที่ต่างสเกล ตั้งแต่พื้นที่บ้านไปจนถึงพื้นที่ส่วนรวมให้กลายเป็น “สเปซที่สาม” สุดโดนใจ
——————————————————–
– OUR KICHEN IS YOUR THIRD PLACE –
/ ครัวมัลติฟังก์ชันไม่ได้เพอร์เฟ็กต์แค่สำหรับปาร์ตี้ส่วนตัว แต่ยังเป็น Third Place
แสนอบอุ่นสำหรับ “เพื่อน” ไปจนถึง “เพื่อนของเพื่อน” ของพวกเขาอีกด้วย /
room ตอบรับคำเชิญไปงานปาร์ตี้เล็ก ๆ บนคอนโดมิเนียมวิวสวยย่านทองหล่อของสองสถาปนิกและดีไซเนอร์หนุ่มไฟแรง ไอเดียไร้ลิมิตภายในพื้นที่จำกัด ทำให้ที่นี่เพียบพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตตามแนวคิดของคนรุ่นใหม่
คุณลุค – “ผมว่าคนรุ่นเราทำงานหนัก และใช้เวลาในการอยู่นอกบ้านมากเกินไป ถึงจุดหนึ่งเราเลยย้อนกลับมาให้ความสำคัญกับบ้านมากขึ้น บ้านจึงไม่ใช่แค่ที่นอนเฉย ๆ แต่เป็นทั้งที่ทำงานและใช้ชีวิตด้วย เรียกว่าเป็นการผสมผสานระหว่างบ้านและที่ทำงานเข้าด้วยกัน โดยเพิ่มพื้นที่สังสรรค์หรือ Third Place เข้าไปด้วย”
เมื่อการทำอาหารเป็นส่วนประกอบหลักในไลฟ์สไตล์ของทั้งคู่ พื้นที่สังสรรค์ที่เพิ่มขึ้นมาได้รับการผนวกรวมเข้ากับ “ครัว” ภายใต้แนวความคิดแบบ “มัลติฟังก์ชัน” ผสมผสานฟังก์ชันสำหรับการทำอาหาร การทำงาน และความบันเทิงเข้าด้วยกันอย่างลงตัว โดยออกแบบเคาน์เตอร์ครัวไม้บิลท์อินยาวเกือบ 8 เมตร ขึ้นพิเศษให้เป็นครัวระดับมืออาชีพ และเป็นจุดศูนย์กลางของบ้านทั้งในด้านรูปแบบและการใช้งาน
คุณกั๊ก – “เราทั้งคู่ชอบวัตถุที่เป็นแมส ตอนออกแบบเรารวมเคาน์เตอร์ครัวและโต๊ะอาหารให้อยู่ในชิ้นเดียวกัน เป็นทั้งที่ทำอาหาร กินข้าว ทำงาน เป็นบุฟเฟ่ต์เคาน์เตอร์เวลามีปาร์ตี้ผมว่าดีไซน์อะไรที่เป็นชิ้นใหญ่ ๆ ในคอนโดมิเนียมจะทำให้สเปซดูมีมูลค่า ซึ่งครัวนี้พวกเราทำอาหารได้ทุกสไตล์ แม้จะไม่มีเตาแก๊ส แต่ผมก็ทำกะหล่ำปลีผัดน้ำปลาในตู้อบได้ พยายามประยุกต์จากอุปกรณ์ที่เรามี”
คุณกั๊กและคุณลุคสนุกกับการเป็นเจ้าภาพงานปาร์ตี้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นปาร์ตี้เล็ก ๆ สำหรับเพื่อนสนิทตั้งแต่ 5 – 6 คน ไปจนถึงปาร์ตี้คริสต์มาสขนาด 50 คน ครัวจึงเชื่อมต่อกับพื้นที่ห้องนั่งเล่นและระเบียงเอ๊าต์ดอร์ในรูปแบบเลย์เอ๊าต์แบบวงกลมเหมือนโดนัท โดยมีห้องน้ำอยู่ตรงกลาง ทางสัญจรโปร่งโล่งเชื่อมโยงถึงกันได้ตลอด ช่วยให้สามารถรองรับความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มผู้มาเยือนได้ดี
คุณกั๊ก – “บางงานเรามีแขกห้าสิบคน ซึ่งก็ไม่ได้สนิทหรือรู้จักกันทั้งหมด ตอนวางเลย์เอ๊าต์เราจึงออกแบบให้มีทั้งพื้นที่สวนตรงระเบียงทางเข้าสำหรับคนที่ชอบปลีกวิเวกดูวิวของเมืองยามค่ำคืน พอเดินเข้ามาในบ้านก็เจอเคาน์เตอร์ขนาดใหญ่เป็นสเตชั่นอาหารเครื่องดื่ม หรือจะแยกย้ายไปนั่งโซฟาดูทีวีก็ได้”
คุณลุค – “ผมอยากให้พื้นที่นี้อยู่สบาย ไม่ว่าจะสำหรับคนสองคนหรือห้าสิบคน”
คุณลุคปิดท้ายสั้น ๆ แต่สรุปหัวใจหลักในการออกแบบ “Third Place” ในรูปแบบ “บ้าน” ให้เราเห็นภาพได้อย่างชัดเจนที่สุด
TIPS : ในฐานะสถาปนิกและดีไซเนอร์ คุณกั๊กและคุณลุคมีข้อเสนอแนะในการแปลงโฉมครัวพื้นที่จำกัดให้กลายเป็นพื้นที่สังสรรค์
คุณ กั๊ก – “การใช้โคมปรับหัวและหลอดที่สามารถปรับแสง (Dimmer) ได้ จะช่วยให้ Third Place ปรับเปลี่ยนบรรยากาศได้หลากหลาย รวมทั้งการเปิดช่องให้แสงธรรมชาติเข้ามามากที่สุดก็จะทำให้ห้องน่าอยู่มากขึ้น”
คุณลุค – “คอนโดมิเนียมหลาย ๆ ที่มีพื้นที่ระเบียงซึ่งไม่ค่อยได้ใช้มากนัก ผนังก็เปลี่ยนเป็นกระจกบานสไลด์ ถ้าเราสามารถเชื่อมพื้นที่ภายนอกและภายในเข้าด้วยกัน ทำลายกำแพงลงเสีย เราก็จะมีพื้นที่ใช้สำหรับสังสรรค์ได้ทั้งพื้นที่ภายในและภายนอก”
——————————————————–
– RELAXING DAY IN GARAGE –
/ แต่ก่อนคำว่า 3rd place สำหรับผมคือพื้นที่นอกบ้านที่เราออกไปสนุกสนานกับเพื่อน ๆ
จนกระทั่งเมื่อผมสร้างโรงจอดรถนี้เสร็จ จึงได้รู้ว่านี่ต่างหากคือพื้นที่ที่สามของผมจริง ๆ /
ทีมงาน room ทุกคนหลงรักงานออกแบบสวย ๆ โดยเฉพาะงานออกแบบที่เป็นตำนาน ยิ่งวันนี้พวกเราได้มีโอกาสมาถ่ายโรงจอดรถ Ferrari ของคุณกวิลก็ยิ่งทำให้อดตื่นเต้นไม่ได้ เมื่อมาถึงสิ่งแรกที่ทำให้เราประทับใจคือประตูบานเฟี้ยมไม้ขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นทางเข้าที่จอดรถ
“ผมชอบประตูโรงจอดรถนี้มาก ปรับแบบอยู่หลายรอบเหมือนกัน ตอนแรกว่าจะใช้เป็นบานม้วนขึ้นตามแบบโรงรถในบ้านต่างประเทศ แต่ผมว่ามันดูไฮเทคเกินไปไม่เข้ากับรถ Ferrari รุ่นนี้ ซึ่งเป็นรถยุคปี 90 จึงออกแบบให้เป็นประตูไม้บานเฟี้ยมบนเฟรมเหล็กสีดำที่ดูโมเดิร์นแต่ไม่ล้ำยุคจนเกินไปแทน”
ภายในโรงจอดรถมีพื้นที่ขนาดกว้างสามารถจอดรถได้ 2 คันพอดี แต่คุณกวิลเลือกจอดรถเพียงคันเดียว เท่านั้น เพื่อเหลือพื้นที่ไว้สำหรับนังเล่นหรือจัดปาร์ตี้กับเหล่าเพื่อน ๆ ที่แวะเวียนมาหาบ่อย ๆ ภายในโรงจอดรถแห่งนี้จึงไม่ได้เต็มไปด้วยเครื่องมือซ่อมแซมรถแต่อย่างใด แต่กลับรายล้อมด้วยของสะสม และของใช้ในการจัดปาร์ตี้เป็นส่วนใหญ่
“เดิมทีผมอยากทำโรงจอดรถเป็นแบบธรรมดาทั่ว ๆ ไป แต่ได้รับคำแนะนำจากเพื่อน ๆ ว่า ทำไมไม่ลองทำเป็น Living Garage ละ จะได้สนุกกับสิ่งที่เรารักเราชอบได้ทั้งวัน ผมชอบไอเดียนี้นะ ตอนแรกก็ทำเป็นห้องสี่เหลี่ยมจอดรถได้สองคัน ให้เพื่อนที่เป็นสถาปนิกเขียนแบบขึ้นคร่าว ๆ พอทำจริงก็มีหลากหลายไอเดียเพิ่มเข้ามา แต่สุดท้ายมาลงตัวที่การเพิ่มมุมห้องกระจกมีระเบียงเชื่อมต่อกับสระน้ำข้างบ้าน เพื่อเชื่อมต่อกับสะพานเดิมของศาลากลางน้ำที่ทำไว้นานแล้ว ให้สามารถใช้ประโยชน์จากของเดิมได้เต็มที่ยิ่งขึ้น”
นอกจากนี้ คุณกวิลยังให้สำคัญกับการออกแบบระบบไฟเป็นพิเศษ โดยเลือกใช้ระบบไฟแอลอีดี ที่สามารถตั้งโหมดการทำงานได้หลากหลายตามความต้องการ ปรับแสงสีตามธีมต่าง ๆ ได้จากโทรศัพท์มือถือ เปลี่ยนบรรยากาศให้ภายในโรงจอดรถยามค่ำคืนดูสวยงามเหมาะเป็นวันแห่งการพักผ่อนจริงๆ
“ในทันทีที่โรงจอดรถสร้างเสร็จ บ้านหลังนี้กลายเป็นจุดนัดพบของเพื่อน ๆ พวกเรามักมารวมตัวกันที่นี่บ่อย ๆ เพราะโรงจอดรถแยกออกจากตัวบ้านพอสมควร เวลามารวมกลุ่มกันก็ไม่รบกวนคนอื่นในบ้าน และที่สำคัญรอบ ๆ โรงจอดรถยังมีพื้นที่ว่างพอให้พวกเราได้สนุกสนาน ไม่ว่าจะลานจอดรถ ศาลากลางน้ำ และมุมระเบียงริมน้ำ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้สนุกกับทุกพื้นที่ในโรงจอดรถได้จริง ๆ”
เมื่อถามถึงความเป็นสถานที่ที่สามของบ้านหลังนี้ คุณกวิล ตอบปิดท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า
“บ้านของผมเป็น 3rd Place ของผมด้วย ในช่วงชีวิตนี้ผมมีครอบครัวที่น่ารักอยู่ที่บ้าน อยากอยู่กับพวกเขาตลอดเวลา แต่บางครั้งผมก็อยากมีพื้นที่ส่วนตัวได้ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบบ้าง โรงจอดรถแห่งนี้จึงเป็นเสมือนจุดที่ลงตัวในชีวิตของผม เพราะได้พักผ่อนในสภาพแวดล้อมที่เราชอบ และอยู่ใกล้ ๆ ครอบครัวที่ผมรักตามต้องการ”
TIPS : หากมีพื้นที่หน้าบ้านมากพอ การทำโรงจอดรถแยกออกจากตัวบ้านเป็นทางเลือกที่ดี เพื่อช่วยให้คุณจอดรถได้สะดวกสบาย มีความคล่องตัวมากกว่าหากคุณต้องการปรับเปลี่ยนการใช้งานในอนาคตซึ่งมีหลักการในการต่อเติมดังนี้
- พื้นที่จอดรถที่เหมาะสมสำหรับการจอดรถ 1 คัน ควรมีขนาดอย่างน้อย 3.60 x 7.20 เมตร
- ถ้าต้องการพื้นที่เก็บของด้วย ควรเผื่อขนาดพื้นที่ให้กว้างขึ้นประมาณด้านละ 0.50 เมตร
- หากต้องการโรงจอดรถที่สามารถเข้าไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ ต้องคำนึงถึงระบบระบายอากาศและกันความร้อนด้วยโดยเฉพาะหลังคา ไม่ควรใช้เมทัลชีทเพียงอย่างเดียว แต่ควรทำฝ้าเพดานและช่องระบายอากาศระหว่างฝ้าและหลังคาเพื่อระบายความร้อนไว้ด้วย
- อย่าลืมติดตั้งปลั๊กไฟและก๊อกน้ำให้อยู่ใกล้โรงจอดรถ เพื่อความสะดวกในการซ่อมบำรุงและทำความสะอาด
——————————————————–
– MAKE IT WORK ! IN COWORkING SPACE –
/ การทำงานอิสระคงไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องการสังคม
และคงจะดีไม่น้อยถ้าพื้นที่การสังสรรค์และทำงานสามารถอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ /
ในยุคแห่งเทคโนโลยีที่ทำให้การมีธุรกิจของตัวเองเป็นเรื่องง่ายดายอย่างไม่เคยมีมาก่อน ตัวเลขคนทำงานอิสระเติบโตอย่างก้าวกระโดด ออฟฟิศหรูหราใหญ่โตอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่การทำงานที่บ้านหรือร้านกาแฟก็ใช่ว่าจะเวิร์คในทุกกรณี Third Place ที่พร้อมสำหรับเป็นทั้งพื้นที่ทำงานและพื้นที่ทางสังคมของบรรดาฟรีแลนซ์ทั้งหลายจึงกลายเป็นที่นิยมทั่วโลกอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อกระแส Coworking Space เริ่มฮ็อตฮิตในบ้านเรา เราจึงไม่พลาดตามไปอัพเดตหนึ่งใน “พื้นที่ทำงานร่วม” ล่าสุดใจกลางกรุง
GLOWFISH คือออฟฟิศเสมือนจริงสำหรับเหล่าคนทำงานอิสระ ชาว Start-ups หรือผู้เริ่มต้นธุรกิจ ทั้งหลายที่กำลังมองหาพื้นที่ทำงานและติดต่อลูกค้าในค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่า GLOWFISH มีทั้งพื้นที่ออฟฟิศให้เช่าห้องประชุม และพื้นที่ทำงานร่วมกัน มีบริการอำนวยความสะดวกให้เพียบพร้อม เพื่อให้เราสามารถทำงานได้อย่างลื่นไหล ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ทางไปรษณีย์ โอเปอเรเตอร์สัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่แพนทรี่ ฯลฯ
ในพื้นที่เงียบสงบเหมือนเป็นโอเอซิสกลางย่านธุรกิจแสนวุ่นวาย ที่นี่ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิดของ Meet, Think และ Play นอกจากสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานทั้งแบบการประชุมระดมสมองและส่วนบุคคลแล้ว พื้นที่ขนาดกว่า 100 ตารางเมตรนี้ยังเหมาะกับการพบปะสังสรรค์ของผู้คนหลากหลายอาชีพ เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มบุคคลที่มีสังคมการทำงานใกล้เคียงกัน ช่วยให้การทำงานที่นี่แตกต่างจากโฮมออฟฟิศและร้านกาแฟทั่วไป ทั้งยังอาจช่วยให้งานของคุณประสบความสำเร็จในแบบที่คาดไม่ถึงก็ได้!
DID YOU KNOW?
คำว่า Coworking ใช้ครั้งแรกในปี 1999 โดย Bernie DeKoven นักสร้างเกมคอมพิวเตอร์ เพื่ออธิบายถึงการใช้คอมพิวเตอร์ในการช่วยให้งานมีประสิทธิภาพขึ้น ในระหว่างนั้นมีหลายพื้นที่เปิดให้บุคคลหรือทีมงานเล็ก ๆ เข้าไปเช่าใช้ทำงาน แต่ Coworking Space เต็มรูปแบบจริง ๆ นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในเมืองซานฟรานซิสโก ในช่วงปี 2005 – 2006 เมื่อ Brad Neuberg ได้ก่อตั้ง Hat Factory ร่วมกับเพื่อน ๆ 3 คน เปิดบ้านให้กลายเป็นที่ทำงานด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในช่วงเวลากลางวัน แต่ไม่นานก็ต้องยุบไปแล้วกลับมาเปิดใหม่โดยใช้ชื่อ Citizen Space แบบจริงจัง โดยมีพื้นที่ทำงานเต็มที่ ไม่ใช้บ้านของตนเองเหมือนแต่ก่อนการเปิดพื้นที่ทำงานลักษณะนี้จึงกลายเป็นการสร้างกระแสการทำงานแบบนอกสถานที่ไปทั่วโลก ถ้าบอกว่าทุกวันนี้ Coworking Space กลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้วก็คงไม่ผิดนัก เพราะมีทั้งการรวมกลุ่มเครือข่าย แม้แต่นิตยสารและเว็บไซต์มากมายก็ยังนำเสนอไลฟ์สไตล์ของผู้คนในเครือข่ายนี้ ถ้าสนใจลองเริ่มต้นจากการเยี่ยมชม www.deskmag.com
——————————————————–
– INSPIRE THE COMMUNITY –
/ นอกเหนือจากพื้นที่แห่งการสังสรรค์หรือพักผ่อนหย่อนใจ
Third Place อาจเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ พื้นที่แห่งการสร้างโอกาส
หรือแม้แต่เป็นประกายแห่งความหวังของชุมชน /
“ไฟ ฟ้า จันทน์” คือศูนย์กลางการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในชุมชนย่านถนนจันทน์ สีลม ยานนาวา และสาธุประดิษฐ์ ครอบคลุมพื้นที่กว่าพันครัวเรือนใน 25 ชุมชน เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสังคมของ TMB หรือธนาคารทหารไทย
“โครงการ ‘ไฟ ฟ้า’ สอดคล้องกับปรัชญา Make THE Difference ของทีเอ็มบี โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนลุกขึ้นมาเป็นผู้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลง ผ่านความรู้ทาง
ศิลปะและทักษะการดำรงชีวิต”
คุณนพวรรณ แสงธีรกิจ ผู้อำนวยการกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืนของ TMB เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นว่า โครงการไฟ ฟ้า เลือกกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเด็ก ๆ ช่วงอายุ 12 – 17 ปีจากชุมชนที่มีรายได้ครัวเรือนต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท เพราะเด็กวัยนี้ถือเป็นช่วงจุดเปลี่ยนของชีวิต และในขณะเดียวกันก็เป็นวัยที่สามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง
TMB จึงคาดหวังจะให้ไฟ ฟ้าเป็นเหมือน Third Place ที่มีคุณภาพ นอกเหนือจากบ้านและโรงเรียน เมื่อเด็ก ๆ ในชุมชนมาสมัครเป็นเด็กไฟ ฟ้าแล้ว พวกเขาสามารถมาใช้ห้องสมุด และเรียนคลาสต่าง ๆ ได้ตามความพอใจ โดยมีคุณครูไฟ ฟ้า และศิลปินอาสาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาให้ความรู้ เป็นเวลา 3 ปี ปีละ 2 วิชา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด มีให้เลือกทั้ง
คลาสเรียนศิลปะ ดนตรี เต้น และแฟชั่นดีไซน์ ซึ่งเป็นวิชาที่จัดขึ้นให้เข้ากับบริบทชุมชนที่มีอุตสาหกรรมเสื้อผ้าอยู่มาก
“ไฟ ฟ้าเป็นทางเลือกให้เยาวชนได้มาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะไปใช้เวลากับแหล่งมั่วสุมหรืออบายมุขต่าง ๆ ที่มีทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนลุกขึ้นมาเริ่มเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือ เราให้ความรู้ทางศิลปะและทักษะต่าง ๆ มีเวทีให้เด็กแสดงออกมาร่วมแสดงความคิดสร้างสรรค์ เราอยากให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะเริ่มต้นเป็นผู้ให้อย่างมีคุณภาพ และเป็นผู้จุดประกายให้ผู้ใหญ่ในชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลงด้วย”
นับตั้งแต่ปี 2010 ที่ไฟ ฟ้าเปิดศูนย์แรกที่ถนนประดิพัทธ์ต่อด้วยประชาอุทิศ ที่นี่คือศูนย์ล่าสุดซึ่งได้ LUMP สตูดิโอสถาปนิกสุดแนวอาสามาแปลงโฉมตึกห้องแถวเก่าให้กลายเป็นโรงเรียนสีสันสดใสโดดเด่น แต่ไม่แปลกแยกจากชุมชน นอกจากศูนย์การเรียนรู้ในย่านต่าง ๆ แล้ว TMB ยังมีโครงการเคลื่อนที่อย่าง “ไฟ ฟ้า อินอะบ็อกซ์” ซึ่งเปิดโอกาสให้เพื่อนพนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมพัฒนาชุมชนอีกด้วย ถ้าสนใจลองติดตามกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ www.tmbbank.com/fai-fah
DID YOU KNOW?
“ไฟ” สื่อถึงพลังที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็ก ๆ รอวันได้รับการค้นพบ ส่วน “ฟ้า” คือสีประจำองค์กรของ TMB “ไฟ ฟ้า” จึงเป็นเหมือนพื้นที่ที่อบอุ่น ปลอดภัยและพร้อมให้เด็ก ๆ ทุกคนแสดงพลังและศักยภาพของพวกเขาอย่างเต็มที่