สวนป่าร้อนชื้น ที่ผสานอดีตและปัจจุบันให้เข้ากันอย่างลงตัว - บ้านและสวน

สวนป่าร้อนชื้นที่ผสานอดีตและปัจจุบันให้เข้ากันอย่างลงตัว

DESIGNER DIRECTORY :

ออกแบบ :  คุณวรวุฒิ แก้วสุก โทรศัพท์ 06-1946-6662
ภูมิสถาปัตยกรรม: คุณเชาวรินทร์  อินทร์สุเทพ และคุณรัฐกานต์ เจือกุนทร


 

เนื้อหาจากนิตยสารบ้านและสวนเดือน ธ.ค.62

สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ สำนักพิมพ์บ้านและสวน

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงานบ้านและสวนแฟร์ 2019 ที่ผู้เข้าชมงานให้ความสนใจกันมากก็คือ “สวนโชว์” ซึ่งในปีนี้ออกแบบโดย คุณวุฒิ – วรวุฒิ แก้วสุก นักออกแบบสวนชื่อดังที่มีผลงานออกแบบสวนโชว์ในงานบ้านและสวนแฟร์มาแล้วหลายครั้ง สวนป่าร้อนชื้น

โดยครั้งนี้ออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ “Living Transformed Garden” นำเสนอแนวคิดการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ พร้อมกับการดัดแปลงของเดิมที่มีอยู่ให้เกิดการใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ จริงๆ แล้วกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต เพียงแต่ในปัจจุบันถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้น ทำให้มนุษย์ต้องรู้จักปรับตัว โดยที่เรายังอยู่กับ “สิ่งเดิม” ในพื้นที่เดิม แต่ “ไม่เหมือนเดิม” ด้วยการออกแบบให้อาคารสิ่งปลูกสร้างมาแทนพื้นที่เดิมที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติ รวมถึงการนำความเคลื่อนไหวของน้ำมาใช้ ทั้งน้ำตก ลำธาร และบ่อน้ำ เพื่อสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่งแม้แต่วินาทีเดียว สวนป่าร้อนชื้น

อาคารก่ออิฐฉาบปูนที่ปลูกบนเนินเขาในป่า เป็นตัวแทนของสิ่งก่อสร้างยุคเก่ารุ่นปู่ย่าตายาย ราย ล้อมด้วยพืชพรรณน้อยใหญ่ดูร่มรื่น
มุมมองจากทางเข้าด้านหน้าสวนโชว์ เอกลักษณ์ในงานออกแบบของคุณวุฒิคือการทำทางเดินสัญจรชื่อมต่อกันทั้งสวน สามารถเดินเข้าชมได้ทั่วบริเวณและได้มุมมองที่หลากหลาย

คุณดอย – เชาวรินทร์  อินทร์สุเทพ ผู้ช่วยของคุณวุฒิ เล่าถึงแนวคิดในการออกแบบให้ฟังว่า “หลังได้รับโจทย์จากบ้านและสวน ก็นำมาปรึกษาพี่วุฒิและทีมงานว่าเราจะนำคอนเซ็ปต์นี้มาทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร เรามองคำว่า ‘Transform’ ออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ การใช้งานของมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ วัสดุอุปกรณ์ภายในบ้าน รวมไปถึงการใช้ชีวิต เราอาจทำโต๊ะขึ้นมาตัวหนึ่งจากประตูเก่าของเดิม ก็เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนสิ่งหนึ่งให้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ส่วนที่สองคือธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็มีการทรานส์ฟอร์มตัวมันเองอยู่ตลอดเวลา”

น้ำตกและลำธารกลางสวนคือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่อยู่ใกล้กับบ้าน แล้วจึงสร้างอาคารคร่อมโดยไม่ ทำลายธรรมชาติ เพื่อเป็นการรักษาของเดิมไว้
กรีนเฮ้าส์หรืออาคารสมัยใหม่ที่ลูกหลานสร้างเพิ่มเติมขึ้นมา โดยยึดรูปทรงมาจากอาคารเดิม แต่ใช้โครงเหล็ก ซึ่งเป็นวัสดุสมัยใหม่ แทนการก่ออิฐฉาบปูนแบบเดิมๆ

ถึงตอนนี้คุณวุฒิกล่าวเสริมว่า “การทรานส์ฟอร์มคือการกลับไปหาสิ่งเก่าๆ ในสมัยเก่าๆ ซึ่งจริงๆ แล้วก็เกิดขึ้นได้กับสวนทุกรูปแบบ แต่เราถนัดสวนป่าร้อนชื้น ก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ของใหม่กับของเก่าผสมกันให้ได้ เลยคิดถึงเรื่องของการดำรงชีวิต  อายุขัย ธรรมชาติ และสิ่งต่างๆ รอบตัว แล้วนำทั้งหมดนี้มาผสมผสานกัน เรากำลังพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ เริ่มจากมนุษย์เข้าไปบุกไปสร้างสิ่งต่างๆก่อน อยู่อาศัยจนเป็นปู่ย่าตายายและสิ้นอายุขัยไป ทิ้งให้บ้านร้าง ธรรมชาติก็เกิดการเปลี่ยนแปลง หินถล่ม ดินทลาย หินหล่นไปกองบริเวณบ้านเกิดเป็นน้ำตก เป็นสิ่งต่างๆ หลังจากนั้นลูกหลานที่เคยจากไปก็คิดถึงอดีต อยากกลับไปอยู่ในที่ที่ปูย่าตายายเคยอยู่ อยากรักษาของเดิมไว้ และสร้างของใหม่เพิ่มให้เชื่อมต่อกัน เป็นความแตกต่างที่ผสมผสานให้กลมกลืนกันไปครับ  

มุมนี้ผู้ออกแบบตั้งใจสื่อถึงความทรุดโทรมตามกาลเวลา ในช่วงที่บ้านร้าง ธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง ดินถล่ม หินร่วงลงมาทำให้บ้านได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
บริเวณมุมหลังคาด้านบนแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเช่นกัน เมื่อหินถล่มลงมาทับถมกัน เกิดเป็นน้ำตกเล็กๆ พืชพรรณเจริญเติบโตงอกงาม แม้จะรุกล้ำเข้ามาในส่วนของบ้านแต่ก็เป็นความงามที่สรรค์ สร้างโดยธรรมชาติ และควรเก็บรักษาไว้

“เราสมมติให้บ้านหลังนี้สร้างอยู่บริเวณเนินเขาริมหน้าผาใกล้น้ำตกและลำธาร หลังจากที่บ้านไม่มีใครอยู่ เกิดการพังทลายของดินตามธรรมชาติ หินก็ลงมากองที่บางส่วนของบ้าน บนหลังคาบ้านเกิดเป็นน้ำตกเล็กๆ หลังจากที่ลูกหลานกลับมาอาศัยอยู่อีกครั้ง ก็สร้างอาคารใหม่ขึ้นมาให้เชื่อมต่อกับอาคารเดิม เอาของใหม่ซึ่งเป็นการทรานส์ฟอร์มมาสวมกับของเก่า ทั้งการอยู่อาศัย เรื่องของฟังก์ชันการใช้งาน รวมถึงวัสดุต่างๆ นำมามิกซ์แอนด์แมตช์กัน โดยอาศัยธรรมชาติเป็นตัวผสมผสาน เพื่อให้ตัวสถาปัตยกรรมของยุคสมัยเก่าและสมัยใหม่ผสานเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เราไม่จำเป็นต้องรื้อ เราสามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างสวนที่เป็นธรรมชาติได้โดยไม่ทำลายธรรมชาติ มีความร่มรื่น มีความสุข มีชีวิตของตัวมันเอง อันนี้คือสิ่งที่เรียกว่าทรานส์ฟอเมชั่น และเป็นโจทย์ที่เป็นที่มาของสวนโชว์ในปีนี้ครับ”

บางทีของเก่าของเดิมบางอย่างก็ยังมีประโบชน์และมีคุณค่าทางจิตใจ ควรเก็บรักษาไว้ หรืออาจประยุกต์ดัดแปลงให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ ในขณะที่โลกเราเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน การผสมผสานสิ่งเก่าและใหม่ให้อยู่ร่วมกันได้ ก็นับว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจและเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

คุณรัฐกานต์ เจือกุนทร คุณวรวุฒิ แก้วสุก และคุณเชาวรินทร์ อินทร์สุเทพ 3 บุคคลสำคัญผู้มี ส่วนในการออกแบบและจัดสวนโชว์ครั้งนี้

ขอขอบคุณ ผู้สนับสนุน

Living Transformed Garden
สิ่งเดิมที่ไม่เหมือนเดิม  (สวนสวย ธันวาคม 2562)

เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : ฤทธิรงค์  จันทองสุข, อภิรักษ์  สุขสัย, อนุพงษ์  ฉายสุขเกษม