Chiang Mai Design Week 2019 เทศกาลสร้างสรรค์และงานคราฟท์ที่เชียงใหม่

Chiang Mai Design Week 2019 เทศกาลสร้างสรรค์และงานคราฟท์ที่เชียงใหม่

ปะทะลมหนาวตั้งแต่วันนี้ถึง 15 ธันวาคม ด้วยเทศกาลที่รวบรวมเอางานออกแบบสมัยใหม่ งานหัตถกรรมจากช่างฝีมือท้องถิ่น และแนวคิดการพัฒนาผู้ประกอบการ มาแสดงให้เกิดเป็นความเคลื่อนไหวของเมือง ในแนวคิด Better City, Better Living  Chiang Mai Design Week 2019

Chiang Mai Design Week 2019
เศษเหล็กกลายเป็นงานตกแต่งชนเผ่าในจินตนาการโดยศิลปิน ประกิต สีหะวงษ์
เศษเหล็กกลายเป็นงานตกแต่งชนเผ่าในจินตนาการโดยศิลปิน ประกิต สีหะวงษ์
โคมไฟแขวนจากกลุ่ม Naked Studio โดย อ.น้ำฝน ไล่ศัตรูไกล
อีกผลงานจากกลุ่ม Naked Studio

ไฮไลท์ของงานในปีนี้ ยังคงอยู่ที่บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์เช่นเดียวกับปีก่อนๆ ซึ่งมีการจัดแสดงงานทั้งสองฝั่งที่เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาและหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ งานที่น่าสนใจมีอยู่หลายส่วนด้วยกัน หากจะเริ่มต้นด้วยผลงานที่มีสีสันสะดุดตาก็ต้องยกให้ผลงานการนำวัสดุเศษเหล็กเหลือใช้มาสร้างเป็นชนเผ่าตามจินตนาการของศิลปิน ประกิต สีหะวงษ์ ซึ่งตั้งโชว์อยู่ที่ลานภายในหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ ถัดขึ้นไปบนชั้นสองมีงานแสดงการออกแบบโคมไฟของกลุ่ม Naked Studio กับผลงานการออกแบบโคมไฟของดีไซเนอร์ 3 คน ในรูปแบบและผลลัพธ์ที่ต่างกัน

Chiang Mai Design Week 2019
เมื่อเป่าลมใส่ชิ้นงาน กลไกจะบังคับฉากฟองสบู่ให้เปิดออกเกิดเป็นฟองสบู่ประติมากรรมขนาดใหญ่ ผลงานของศิลปินวิทยา จันมา

บางส่วนของผลงานในโครงการ Chiang Mai Clayative ที่มีศิลปินเซรามิค 10 ชาติมาร่วมทำงานกัน

ด้านนอกอาคารมีผลงาน Interactive Installation ของวิทยา จันมา ศิลปินที่จบจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยเรื่องกระแสลมที่อยู่รอบตัวเรา เป็นการแปลงสิ่งที่มองไม่เห็นให้มองเห็น กลายเป็นประติมากรรมชั่วขณะที่เล่นกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ได้อย่างน่าสนใจ รายรอบยังมีนิทรรศการผลงาน Chiang Mai Clayative โครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และศิลปวัฒนธรรมของ 30 ศิลปินเซรามิค จาก 10 ประเทศ มีทั้งส่วนที่ตั้งแสดงอยู่ด้านหน้าลานอนุสาวรีย์ และทางเดินของหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่

นิทรรศการว่า Taiwan Daily Living Craft เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักกับเทคนิคและวัสดุพื้นถิ่นของไต้หวัน
พัดลมจากเครื่องจักรสาน นิทรรศการจาก Taiwan Craft กับงานคราฟท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
หนึ่งรูปแบบการสานของไต้หวันที่นำเสนอได้อย่างชัดเจนใน Taiwan Daily Living Craft
คอลเลคชั่นภาชนะ UTP-Second Layer ทำผิวเคลือบสองชั้นโดย Pili Wu จากไต้หวัน

งานที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่งคืองานแสดงจากไต้หวันที่มีทั้งของชิ้นเล็กอย่างภาชนะต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการผลิตซึ่งถึงพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของช่างฝีมือและนักออกแบบ และงานอีกส่วนที่ว่าด้วยเรื่องการผลิตงานคราฟท์อย่างเครื่องจักสานจากวัตถุดิบท้องถิ่นให้กลายเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ในชื่อนิทรรศการว่า Taiwan Daily Living Craft

Chiang Mai Design Week 2019
ตัวเต็นท์จัดแสดงผลงานในโซน C asean พัฒนามาจากที่พักของผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหว ผลงาน อ.กานต์ คำแก้ว
บอนไซโลหะจาก Juti ในส่วนของงานจากช่างฝีมือ
ประติมากรรมกระถางไม้จามจุรีทรงเหลี่ยม ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอุบะไทย โดยรุ่งนิรันดร์ไม้เก่า ออกแบบโดย ศลิษา วิราพร
นิทรรศการโต๊ะจากสมาคม Design & Objects สร้างสรรค์โต๊ะโดย Saprang บริเวณพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
ท็อปโต๊ะจากงานต่อไม้โดย Nakkid Design Studio
ผลงานออกแบบโต๊ะให้มีการใช้งานแบบที่นั่งได้ด้วยจากดีไซเนอร์เชียงใหม่ ในส่วนนิทรรศการของสมาคม Design & Objects

ด้านหลังหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ มีนิทรรศการ The Artisan ในโซน C asean ซึ่งนำเสนองานของช่างฝีมือท้องถิ่น จากหลากพื้นที่ในเชียงใหม่ มีผลงานประติกรรมแต่งบ้านบอนไซโลหะจาก Juti เป็นชิ้นงานคราฟท์เด่นโซนนี้ ขณะที่ตัวเต็นท์แสดงงานก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเป็นการพัฒนาที่พักของผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวมาเป็นพาวิลเลี่ยนแสดงงาน ผลงานออกแบบของอ. กานต์ คำแก้ว กับโครงสร้างไม้ไผ่รวมกับข้อต่อเหล็กอันแข็งแรง นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการโต๊ะจากสมาคม Design & Objects ที่ชักชวนกลุ่มนักออกแบบในสมาคมมาออกแบบท็อปโต๊ะตามแต่สไตล์และเทคนิคของแต่ละคน งานส่วนนี้เคยจัดแสดงที่ TCDC กรุงเทพเมื่อตอนต้นปีแล้ว แต่มีเพิ่มเติมคืองานจาก 2 ดีไซเนอร์ของเชียงใหม่มาแสดงในการจัดแสดงที่นี่ด้วย

นิทรรศการ Which One? ที่ชวนเราตั้งคำถามถึงงานหัตถกรรมพื้นบ้านกับของใช้สมัยใหม่ จัดแสดงที่ TCDC เชียงใหม่
อันไหนดี แล้วคุณล่ะจะเลือกใช้งานอันไหน ด้วยเหตุผลอะไร ในนิทรรศการ Which One?
ผลงานชุดใหม่โชว์ในงาน Chiang Mai Design Week ด้วยเทคนิคมัดย้อมและ patchwork จาก slowstitch ร้านในโหล่งฮิมคาว อีกพื้นที่ที่แยกไปจากจุดแสดงหลักของงาน

นอกเหนือจากงานที่แสดงในโซนอนุสาวรีย์แล้ว ยังมีงานต่างๆ กระจายอยู่รอบเมือง โดยมีการกระจายสาขาออกไปหลายรูปแบบ อาทิ งานแสดงดนตรี เวิร์คช้อปด้านอาหาร งานสัมมนาเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ รวมไปถึงการออกร้านผลัดเปลี่ยนกันไป เพื่อให้เมืองมีแรงขับเคลื่อนจากหลายๆ ทาง โดยแม่งานใหญ่ของเทศกาล Chiang Mai Design Week 2019 อย่าง TCDC เชียงใหม่ ได้ตั้งใจให้มีโครงการต่างๆ ต่อเนื่องเป็นระยะๆ ไม่ได้เฉพาะแค่งานปลายปีเท่านั้น ตามแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีพื้นฐานจากงานหัตถกรรมอันรุ่มรวยของเชียงใหม่

 

เรื่อง : สมัชชา วิราพร

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข