ทบทวนทางเลียบฯ – ทำความเข้าใจ “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” กับแบบ “ทางเดินริมน้ำ” อื่นๆ ทั่วโลก
หากใครยังจำได้ “ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ” หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อโครงการ “ ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ” นั้นได้เงียบหายไปจากความสนใจของสังคมพักใหญ่ แต่ก็เหมือนกับแม่น้ำสายใหญ่ที่ไม่เคยหยุดไหลหล่อเลี้ยงมหานคร ข่าวเรื่องการก่อสร้างทางเลียบฯ นั้นเพิ่งเวียนกลับมาในกระแสอีกระลอก เมื่อสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครเปิดเผยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่าสภากรุงเทพมหานครมีมติอนุมัติโครงการพร้อมด้วยแบบพร้อมประมูลแล้ว เหลือเพียงรอให้คณะรัฐมนตรีเซ็นอนุมัติเพื่อจัดหาผู้ก่อสร้างเท่านั้น
จึงมีเสียงคัดค้านสวนขึ้น เมื่อสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดยนายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ออกหนังสือแถลงการณ์คัดค้านโครงการทางเลียบฯ พร้อมกับความร่วมมือจากองค์กรวิชาชีพฯ และเครือข่ายจำนวน 32 องค์กรเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 ด้วยเหตุผลที่ว่า ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา นั้นจะมีผลกระทบมากมายทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และผังเมือง
เราจึงน่าจะกลับมาทบทวนความทรงจำกันอีกครั้ง ว่าโครงการที่ว่านี้นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไรในปัจจุบันและแตกต่างอย่างไรบ้างไหมกับโครงการริมน้ำในที่อื่นๆ ทั่วโลก
ทางเลียบฯ แค่ 1 ใน 12 แผน
“โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” หรือชื่อเล่นที่คนรู้จักว่าโครงการ “ ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ”เป็นโครงการที่ริเริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2558 โดยแรกเริ่มนั้นถูกระบุว่าจะถูกสร้างให้เป็นทางเลียบแม่น้ำสำหรับรองรับจักรยาน (Bike Lane) รวมถึงพื้นที่ชมทัศนียภาพริมแม่น้ำ การพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย และการจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพและนันทนาการ
แต่เมื่อผ่านการดำเนินการ ทางเลียบฯ นั้นได้เป็น 1 ใน 12 แผนงานใหญ่ของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาภายใต้ชื่อ “Chaophraya for All” อันได้แก่
- ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา
- ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน
- พัฒนาท่าเรือ
- พัฒนาศาลาท่าน้ำ
- พัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ
- พัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่
- ปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์
- พัฒนาพื้นที่ชุมชน
- อนุรักษ์พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน
- พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ
- พัฒนาจุดหมายตา (แลนด์มาร์ก) ริมแม่น้ำ
- พัฒนาสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ทั้งโครงการกินพื้นที่ริมแม่น้ำ 2 ฝั่ง ความยาวรวมทั้ง 2 ฝั่ง 57 กิโลเมตร เริ่มที่สะพานพระราม 7 ไปจนถึงสุดเขตทิศใต้ของกรุงเทพฯ
โดยมีจุดประสงค์หลักโดยรวมคือ การสร้างพื้นที่สาธารณะที่กรุงเทพฯ ขาด เพื่อการเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาที่เท่าเทียมกันสำหรับคนทุกคน รวมถึงเป็นการแก้ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ริมน้ำ ที่สำรวจแล้วระบุว่ามากถึงราว 138 ไร่ นอกจากนั้นก็เพื่อการเชื่อมต่อการคมนาคมให้ครบทุกด้านทั้งรถ ราง เรือ คนเดิน และจักรยาน และเพื่อการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมริมสองฝั่งให้สวยงามและเหมาะแก่การเป็นพื้นที่หย่อนใจของผู้คน
ที่หย่อนใจ 10 เมตรในแม่น้ำ
โดยในระยะแรกสุด โครงการทั้ง 12 ข้อจะเริ่มที่การสร้างทางเลียบแม่น้ำก่อน คือ 1.เริ่มจากช่วงสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทานในฝั่งพระนคร 2.จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัดในฝั่งธนบุรี 3.ช่วงจากกรมชลประทานถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในฝั่งพระนคร และ 4.จากคลองบางพลัด ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในฝั่งธนบุรี
เมื่อ Phase นี้แล้วเสร็จ ทางเลียบฯ จะมีระยะทางรวมฝั่งละราว 7 กิโลเมตร รวม 2 ฝั่งราว 14 กิโลเมตร ใช้งบประมาณราว 8000 ล้านบาท โดยจากแบบที่เผยแพร่นั้น เป็นทางเดินและทางจักรยาน ประกอบไปด้วยสวนและพื้นที่หย่อนใจ บนโครงสร้างคอนกรีตที่ยื่นลงสู่แม่น้ำ ความกว้างฝั่งละ 6 จนถึงไม่เกิน 10 เมตร และมีเสาคอนกรีตคู่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร เป็นโครงสร้างรองรับ ในขณะที่ผิวทางเดิน จะสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2.25 เมตร และจะอยู่ต่ำกว่าสันเขื่อนเฉลี่ย 1.25 เมตร
ซึ่งได้รับการยืนยันว่า แบบดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการไหลของน้ำ จะทนต่อการพังทลายไม่กักเก็บขยะ และจะไม่บดบังทัศนียภาพรอบริมน้ำและโบราณสถานเดิมแต่อย่างใด และทางเส้นนี้ จะเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการพักผ่อนและกิจกรรมริมแม่น้ำ อันจะช่วยช่วยเชื่อมโยงผู้คนและเมืองเข้าด้วยกัน
ทำไมต้องทางเลียบฯ
อย่างไรก็ตามในด้านของผู้คัดค้าน มีข้อกังวลหลายประการจากหลายฝ่าย
ทั้งเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากโครงสร้างนั้นปักลงสู่ผืนแม่น้ำโดยตรงทั้ง 2 ฝั่ง
ผลกระทบด้านการระบายน้ำที่ไม่ชัดเจนว่าโครงสร้างนั้นจะไม่ขัดขวางการระบายน้ำได้จริงหรือไม่
ผลกระทบด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตต่อผู้อยู่อาศัย ที่ไม่แน่ชัดว่าผู้อยู่อาศัยริมน้ำจะได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนมากน้อยเพียงใด
และรวมไปถึงผลกระทบด้านมุมมอง โดยเฉพาะเมื่อทางเลียบฯ ถูกลากผ่านพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สิ่งก่อสร้างใหม่นั้นจะประนีประนอมกับพื้นที่อันเปราะบางเหล่านั้นได้ดีเพียงใด
แต่ที่สำคัญ คือหลายเสียงคัดค้านนั้นต่างตั้งคำถามร่วมกันถึงความเฉพาะเจาะจงของคำตอบ ว่าหากโจทย์คือความต้องการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ การแก้ปัญหาผู้บุกรุกพื้นที่ริมน้ำ หรือการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและขยะจากชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา คำตอบนั้นจำเป็นต้องมีหรือเป็น “ทางเดินริมน้ำ” ตั้งแต่แรกหรือไม่
อีกทั้งยังมีคำถามถึงการไม่ได้แสดงถึงความเชื่อมโยงกับโครงการ หรือแผนแม่บทการพัฒนาใหญ่เท่าที่ควร รวมถึงการตั้งคำถามต่อระยะเวลาในกระบวนการการวิจัยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกระบวนการการมีส่วนร่วมก่อนนำไปสู่การพัฒนาแบบ ว่าทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็วซึ่งอาจไม่ครอบคลุม แต่นอกจากนั้นคือ การขาดการประชาสัมพันธ์แผนแม่บทที่ชัดเจน รวมถึงข้อมูลสำคัญโดยละเอียดให้สาธารณะชนทราบ หรือมากกว่านั้นคือการมีส่วนร่วมตัดสินใจ อันอาจนำไปสู่การขาดความชอบธรรมในการพัฒนาโครงการดังกล่าว
ใครๆ ก็ทำทางเลียบฯ
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งในประเด็นการพัฒนาภูมิทัศน์ให้สวยงาม การสร้างความเชื่อมโยงในด้านการเดินทางและกิจกรรมของคนในเมือง รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องผุ้บุกรุกพื้นที่สาธารณะ
แต่เสียงซึ่งแสดงความกังวลโดยทั่วไป ย่อมเกิดขึ้นจากคลุมเครือจากทั้งข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับ รวมถึงแบบก่อสร้าง ที่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะปรากฏบนแม่น้ำผืนสำคัญนี้อย่างไรบ้างโดยละเอียด
นำมาซึ่งความสงสัยต่อน้ำหนักของเหตุและความจำเป็นในคำตอบเรื่อง “ทางเลียบฯ” ที่จะกระทบไม่เพียงแต่ผู้คนริมน้ำ หรือผู้คนในเมืองกรุงเทพฯ แต่น่ากังวลว่าย่อมส่งผลต่อผู้คนอีกหลายจังหวัดต้นน้ำขึ้นไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางเดินริมน้ำนั้นเป็นงานพัฒนาภูมิทัศน์ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองที่ทำกันโดยปกติในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งพอจะยกตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบ และอาจช่วยเชื่อมโยงภาพให้ตรงกับกรณีของกรุงเทพมหานครได้ ดังต่อไปนี้
Chaopraya For All
กรุงเทพฯ มีปัญหาเรื่องขยะ มลภาวะ การบุกรุกพื้นที่ริมน้ำ และความไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำได้มายาวนาน โครงการ Chaopraya For All หรือ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยภาพรวม หนึ่งในนั้นคือการทาง “ทางเลียบฯ” ริมน้ำให้เป็นพื้นที่พักผ่อน เส้นทางเชื่อมโยงย่าน และเพื่อการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำโดยเท่าเทียมกัน ในขณะที่แบบยังอยู่ในระหว่างพัฒนา และคนยังกังวลถึงความจำเป็นรวมถึงรูปแบบสุดท้ายของทางเลียบฯ ข้อมูลโดยรวมจากสื่อต่างๆ ได้ถูกเปิดเผยให้เราทราบดังนี้
เมือง: กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ขนาดโครงการ / ความยาว : (เฉพาะทางเลียบฯ ช่วงแรก) ยาวฝั่งละประมาณ 7 กิโลเมตร รวม 14 กิโลเมตร กว้างฝั่งละ 6 – 10 เมตร
บริบท / ที่ตั้งเดิม : อยู่ในแถบเมืองเก่า มีชุมชนตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำ มีธุรกิจเอกชนและคอนโดมิเนียมครอบครองพื้นที่ริมน้ำ พร้อมด้วยวัดและโบราณสถาน
ระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้าง : ช่วงรวม 2 ฝั่ง 7 กิโลเมตรแรก คาดว่าจะใช้เวลา 540 วัน
จุดประสงค์: สร้างพื้นที่ริมน้ำที่เข้าถึงได้โดยเท่าเทียม และแก้ปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะ เปลี่ยนเป็นพื้นที่พักผ่อน สันทนาการ ทั้งเดินและทางปั่นจักรยาน
ภาพจาก : เฟสบุคแฟนเพจ Chao Phraya for All
Changsha Xiang River West Bank Commercial & Tourism Landscape Zone
Changsha นับเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจีน และแม่น้ำ Xiang ก็นับเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของเมืองเหมือนกับหลายแม่น้ำในเมืองสำคัญทั่วโลก ในขณะที่นักท่องเที่ยวคุ้นเคยกับสถานที่ท่องเที่ยวคือตัวเมืองเก่า บริเวณที่ตั้งของโครงการนี้ ตั้งอยู่ในอีกเขตที่เป็นดังเขต CBD ของเมือง จุดประสงค์ของโครงการจึงเพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้คนในเมือง เพื่อการพักผ่อน ท่องเที่ยว การกีฬา ในขณะเดียวกันก็เพื่อเพิ่มมูลค่าย่านให้ดูทันสมัย และเป็นสากลมากขึ้น
เมือง : Changsha ประเทศจีน
ขนาดโครงการ / ความยาว : ความยาว 2.45 กิโลเมตร
บริบท / ที่ตั้งเดิม : พื้นที่โล่งริมแม่น้ำ Xiang ใกล้สวนสาธารณะสำคัญและย่านการค้าในเมือง
ระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้าง : 2017 – ปัจจุบัน
จุดประสงค์: เปลี่ยนพื้นที่ร้างเป็นที่พักผ่อนเพื่อการท่องเที่ยว และเพิ่มมูลค่าพื้นที่การค้าในย่านธุรกิจ
ภาพและข้อมูลจาก: http://landezine.com/index.php/2018/09/changsha-xiang-river-west-bank-commercial-tourism-landscape-zone-by-gvl
Chicago Riverwalk Expansion
แม่น้ำ Chicago เคยเป็นทางน้ำรองรับโรงงานอุตสาหกรรมหนักในเมือง จึงจากที่เคยเต็มไปด้วยมลภาวะ ในช่วงปีหลังเมื่อแม่น้ำได้ถูกบำบัด ได้นำมาซึ่งโครงการการสร้างทางเดินริมน้ำเพื่อเปลี่ยนหน้าที่ของแม่น้ำในเมืองใหม่ ทางเดินนี้เป็นทางที่ยื่นเข้าไปในแม่น้ำเป็นช่วงๆ ต่อเนื่องจากโครงการเดิมที่เสร็จเมื่อปี 2009 จุดประสงค์หลักเพื่อให้คนเดินริมน้ำได้โดยไม่ถูกกีดขวางโดยถนน โดยในระหว่างที่พาดผ่านพื้นที่ทั้งหมด 6 บล็อก แต่ละบล็อกก็จะถูกออกแบบให้มีหน้าที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละจุด เช่น เป็นส่วน Plaza เอื้อเป็นที่นั่งในบริเวณที่มีร้านอาหาร ในบริเวณที่เป็นเวิ้งมีการเปิดให้บริการเช่าเรือคายัค รวมถึงบางช่วงก็เป็นขั้นบันไดให้ชาวเมืองนั่งชมทัศนียภาพริมแม่น้ำได้
เมือง : Chicago สหรัฐอเมริกา
ขนาดโครงการ / ความยาว : ยาว 6 บล็อก หรือประมาณ 1.2 กิโลเมตร กว้าง 7.5 เมตร
บริบท / ที่ตั้งเดิม : สร้างทางเดินยื่นออกจากโครงสร้างเดิมเข้าไปในแม่น้ำ ผ่าในใจกลางตัวเมือง ผ่านย่านการค้าที่พลุกพล่าน
ระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้าง: 2012 – 2016
จุดประสงค์ : เพื่อแทรกพื้นที่โล่งเข้าสู่ใจกลางตัวเมือง แก้ปัญหาทางคนเดินที่ไม่เชื่อมต่อ และเป็นพื้นที่พักผ่อนริมน้ำ
ภาพและข้อมูลจาก: http://landezine.com/index.php/2016/07/chicago-riverwalk-expansion-by-sasaki
Vistula Boulevard
ทางเดินริมแม่น้ำ Vistula แห่งนี้ ตั้งอยู่ระหว่างส่วนเมืองเก่าแก่และเมืองใหม่ พื้นที่แห่งนี้นอกจากจะตอบเรื่องการท่องเที่ยว ก็ยังเป็นที่ที่ให้คนภายในละแวกใช้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ได้ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของลานยังถูกออกแบบให้สามารถรับน้ำท่วมสูงเพื่อสัมพันธ์กับน้ำขึ้น – น้ำลงที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีผนังและขั้นบันไดลดหลั่นลงไปกั้นคล้ายเขื่อน และยังมีการออกแบบที่นั่ง และโครงสร้างเปล่ารองรับกิจกรรม รวมถึงพื้นที่สีเขียว รวมถึงต้นไม้ กระจายไปทั่วทั้งลาน
เมือง: Warsaw โปแลนด์
ขนาดโครงการ / ความยาว : ความยาว 2 กิโลเมตร
บริบท / ที่ตั้งเดิม : ที่เปิดโล่งริมถนนในเวิ้งหนึ่งริมแม่น้ำ Vistula
ระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้าง: 2013 – 2015 (ระยะที่ 1), 2016-2017 (ระยะที่ 2)
จุดประสงค์: เปลี่ยนพื้นที่ที่เคยถูกทิ้งร้าง เป็นพื้นที่เชื่อมโยงคนในเมืองเข้าหากัน ด้วยพื้นที่พักผ่อนริมน้ำ ทางจักรยาน และลานสันทนาการ
ภาพและข้อมูลจาก: http://landezine.com/index.php/2018/02/vistula-boulevards-by-rs-architektura-krajobrazu
เรื่อง: กรกฎา
อ่านต่อ
ข่าวดี ยูเนสโกประกาศกรุงเทพฯและสุโขทัยเป็นเมืองสร้างสรรค์ในปีนี้
CHIANG MAI DESIGN WEEK 2019 ในคอนเซ็ปต์ BETTER CITY, BETTER LIVING