บ้านล้อมสวนกลางกรุงของสถาปนิก ที่เลือกไม้สักถูกด้วงกินจนพรุนมาใช้สร้างบ้าน
โจทย์ของ บ้านโครงสร้างเหล็ก หลังนี้มี 2 ประเด็นหลัก คือ ต้องการขยับขยายบ้านของครอบครัวซึ่งมีลูกวัยซนถึง 3 คน และเลือกใช้ไม้สักอายุกว่า 20 ปีที่มีด้วงเจาะกินเนื้อไม้จนพรุนเป็นวัสดุสร้างบ้าน บ้านโครงสร้างเหล็ก
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Vin Varavarn Architects
บ้านโครงสร้างเหล็ก หลังนี้เป็นของ คุณวิน-หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกแห่ง Vin Varavarn Architects เจ้าของบ้านและผู้ออกแบบซึ่งเล่าถึงที่มาของการสร้างบ้านให้ฟังว่า “อยากให้เด็กๆมีที่วิ่งเล่นกัน ก่อนหน้านี้อยู่บ้านทาวน์เฮ้าส์มาก่อน ตอนสร้างบ้านหลังนั้นก็เป็นช่วงที่กลับมาจากเมืองนอก พอมีลูกก็เลยไม่มีพื้นที่ส่วนตัวของเด็กๆ การทำบ้านหลังนี้จึงไม่ได้นึกถึงตัวเองสักเท่าไร จะนึกถึงลูกมากกว่า” บ้านโครงสร้างเหล็ก
เพื่อให้ลูกๆได้มีที่วิ่งเล่นที่ปลูกต้นไม้ สิ่งแรกที่คุณวินคำนึงถึงก็คือสวน เนื่องจากต้องการเก็บต้นไม้เดิมเอาไว้ด้วย สวนจึงเป็นศูนย์กลางของบ้าน ทุกห้องต้องเห็นวิวสวน เห็นเด็กวิ่งเล่นอยู่ในสวน และมีบ้านโอบล้อมสวนเอาไว้บนพื้นที่ทั้งหมด 237 ตารางวา
ช่วงที่เริ่มออกแบบ คุณแม่คุณวินเข้ามาคุยเรื่องต้นสักที่ปลูกในสวนป่าที่จังหวัดกำแพงเพชรนานกว่า 20 ปีแล้ว เมื่อลองไปตัดมาเช็กดูก็พบว่ามีด้วงป่ากินเนื้อไม้จนพรุนไปหมด พอนำไปเสนอขายให้โรงไม้ ก็ไม่มีเจ้าไหนรับซื้อเลย
“เราก็มาคิดว่าจะทำให้ไม้ที่มีปัญหานี้ดูน่าสนใจขึ้นให้ได้ ลองมาปรึกษากับคุณสพโชค ซึ่งเป็นผู้รับเหมา (เคยมีผลงานเป็นผู้รับเหมาโครงการ The Jam Factory) ก็พบว่ามีความเป็นไปได้ เพราะเราไม่ได้ต้องการให้วัสดุดูเนี้ยบ แต่ต้องอยู่ได้นาน และมีคาแร็กเตอร์ในแบบของตัวเอง ไม้ ปูน เหล็ก ก็เลยกลายเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการทำบ้านหลังนี้”
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาไม้สักมีรูพรุนคือ ตัดไม้ให้มีหน้ากว้างแคบแบบไม้ระแนง แล้วนำมาคัดแยกว่าแผ่นไหนมีรูพรุนมากน้อย จากนั้นเลือกมาใช้งานในส่วนต่างๆของบ้าน โดยแผ่นไม้ที่ไม่มีรูก็ใช้ปูพื้น แม้บางแผ่นจะเห็นส่วนกระพี้ไม้ แต่คุณวินก็ไม่ได้ติดใจ ส่วนแผ่นไม้ที่มีรูก็นำมาทำเป็นไม้ระแนง บานเฟี้ยม และฝ้าซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสัมผัสโดยตรง และมีการโป๊อุดรูบางส่วน
บ้านโครงสร้างเหล็กทรงกล่องที่เรียบง่าย บางส่วนมีลูกเล่นเป็นผนังปูน อาทิ ผนังปูนที่ติดกับสนามใช้บังที่จอดรถเป็นคอนกรีตที่กะเทาะผิวหน้าให้ขรุขระ เพื่อช่วยสร้างแสงเงาของระนาบแนวตั้งให้น่าสนใจรับกับพื้นผิวของหินในสวน ขณะที่ผนังคอนกรีตในส่วนนั่งเล่นมีการก่ออิฐแล้วเทหล่อคอนกรีตเป็นชั้นๆ โดยใช้สูตรผสมคอนกรีตที่เข้มข้นต่างกันหลายแบบ ค่อยๆ ก่อจนเกิดเป็นริ้วสีเทาที่ดูอ่อนโยนอยู่ในความดิบและแข็งกระด้างของผนังคอนกรีตผืนใหญ่
การวางผังบ้านยังมีความจงใจให้พื้นที่ภายในและภายนอกเชื่อมต่อกันทางสายตาอีกหลายจุด อาทิ สิ่งแรกที่พบเมื่อเปิดประตูเข้ามาคือคอร์ตต้นไม้กลางตัวบ้าน ก่อนจะมีทางสัญจรนำไปยังส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และแพนทรี่ขนาดใหญ่แบบโอเพ่นแปลน ที่มีสวนขนาบอยู่ทั้งสองด้าน ลักษณะเหมือนเป็นพื้นที่ภายในและภายนอกที่สลับกันไปมาอยู่ตลอดเวลา บริเวณโถงเข้าบ้านที่มีคอร์ตต้นไม้ภายในยังมีบันไดระแนงเหล็กและไม้ที่นำไปสู่ชั้น 2 ซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนนั่งเล่น ห้องกิจกรรมเด็ก และห้องนอนของทุกคนที่แยกกันอย่างเป็นสัดส่วน
คุณวินและลูกสาวคนโตเข้ามาทักทายกันในช่วงเย็นหลังกลับมาจากโรงเรียน
“ลูกๆ เข้ามาอยู่แล้วมีความสุข ทำให้พวกเขาอยากอยู่บ้านมากขึ้น ก็รู้สึกว่าเราได้ทำในส่วนที่รับผิดชอบได้สำเร็จในระดับหนึ่ง” คุณวินทิ้งท้ายบทสัมภาษณ์ไว้ ก่อนที่ตอนเย็นเราจะได้เห็นลูกทั้ง 3 คนของคุณวินกลับมาจากโรงเรียน แล้ววิ่งเล่นปีนต้นไม้กันอย่างสนุกสนาน รวมไปถึงได้ใช้งานห้องกิจกรรมของเด็กจริงๆ ด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มอันสดใส
ความอบอุ่นในบ้านทรงกล่อง (บ้านและสวน : พ.ย. 2562)
ผู้รับเหมา: SPC Technocons
เจ้าของ: หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ และครอบครัว
ที่ตั้ง : กรุงเทพมหานคร
เรื่อง : สมัชชา วิราพร
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล