ชาวประมงรุ่นใหม่กับปูที่หายไป ก่อนก่อตั้งชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปู ปากน้ำชุมพร - บ้านและสวน

ชาวประมงรุ่นใหม่กับปูที่หายไป ก่อนก่อตั้งชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปู ปากน้ำชุมพร

“วางอวนไว้ 3 วันแล้วมีปูติดมา 2 ตัว อวนตั้ง 10 ผืน 20 ผืนแต่แทบจะจับปูไม่ได้เลย” จากคำบอกเล่าของน้องอุ้ม สาวน้อยวัย 23 ปี ที่เคยเจอวิกฤตปูกำลังจะหายไปจากปากน้ำชุมพร ทั้งๆ ที่ผืนทะเลตรงนี้เคยอุดมไปด้วยสัตว์ทะเลน้อยใหญ่

น้องอุ้มเล่าให้เราฟังว่า เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วตอนออกเรือไปหาปลาจะมีปูติดมาประมาณ 70 กิโลกรัม แต่เมื่อประมาณปีที่แล้วกลับไม่มีปูติดอวนมาเลยสักตัว จึงทำให้น้องอุ้มและพ่อเริ่มฉุกคิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับพยายามหาทางออกให้กับปัญหานี้ เป็นที่มาของ ชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปู ปากน้ำชุมพร 

น้องอุ้ม ผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปู

น้องอุ้มยังบอกกับเราว่า “แต่ก่อนไม่เคยคิดเลยว่าจะมีวันที่ปูหมดทะเล ยอมรับว่าขายหมด ทั้งปูตัวเล็ก และปูที่มีไข่นอกกระดอง จนสุดท้ายมันเริ่มวิกฤต เพราะไม่มีให้จับเลย จึงคุยกับพ่อว่า บ้านป้าที่เพชรบุรีเขาก็ทำธนาคารปูกัน เราลองทำกันดูไหม” นั่นคือจุดเริ่มต้นของชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปู ปากน้ำชุมพร ซึ่งหลังจากสองพ่อลูกคุยกัน จึงได้เริ่มจากบ้านตัวเองก่อน แล้วจึงชวนเพื่อนฝูง ในละแวกบ้านเดียวกันมาลองทำธนาคารปูกัน โดยมีบ้านของน้องอุ้มเป็นศูนย์กลาง

หนึ่งกำลังของสาวน้อยวัย 19 ปีในตอนนั้น ความรู้ด้านการประมงที่แทบเป็นศูนย์แต่ยังโชคดีที่ครอบครัวของเธอทั้งพ่อและแม่เป็นลูกน้ำเค็มโดยแก่นแท้ และพ่อของเธอคือที่ปรึกษาที่ดีในการแนะนำวิธีเพาะเลี้ยงปูไข่ที่รอดชีวิตจากอวนประมงให้ฟักตัวจนสามารถนำไปปล่อยกลางทะเลได้

หลังจากทำได้ไม่นานก็เริ่มเห็นผล ชาวประมงเพื่อนบ้านเห็นว่าการทำธนาคารปูนี้ช่วยให้ปูมีให้จับทุกเดือนจึงทำให้เพื่อนชาวประมงคนอื่นๆ เริ่มให้ความสนใจและให้ความร่วมมือมากขึ้นในการทำธนาคารปู โดยแต่ละบ้านที่ออกไปออกเรือมา ถ้ามีปูตัวไหนที่มีไข่นอกกระดองก็จะเอามาฝากไว้ที่นี่ หลังจากนั้นรอจน “ซูเอี๊ยะ” หรือตัวอ่อนของปูหลุดออกจากตัวแม่ แล้วจึงนำไปปล่อยกลางทะเล ส่วนแม่ปูก็นำไปขายสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้กับครอบครัวและชุมชน

“ทุกวันตอนเย็นๆ ช่วง 5 โมงเย็น 6 โมงเย็น เด็กวัยรุ่นกลุ่มเพื่อนน้องชายก็จะมาช่วยขับเรือเพื่อนำ ซูเอี๊ยะ ไปปล่อยในทะเล เป็นแบบนี้ทุกวันค่ะ เพราะถ้าปล่อยไว้นานจะทำให้มีซูเอี๊ยะตายและมีกลิ่นเน่า เราจึงต้องออกไปปล่อยทุกวัน ตอนไปปล่อยก็จะตักน้ำทะเลกลับมาด้วยเพื่อให้ปูในธนาคารได้ฟักตัวในสภาพน้ำที่เหมาะสม จะใช้น้ำรอบๆ บ้านที่เป็นน้ำกร่อยก็ไม่ได้” น้องอุ้มเล่าถึงกิจวัตรประจำวันที่เธอและวัยรุ่นในระแวกเดียวกันร่วมกันทำและเราได้เห็นภาพเหล่านั้นในวันที่ไปเยี่ยมชมธนาคารปูแห่งนี้

ซูเอี๊ยะ หรือตัวอ่อนปู ที่จะนำไปปล่อย
ระหว่างนั่งเรือออกไปปล่อยซูเอี๊ยะ
ปล่อยซูเอี๊ยะลงสู่ทะเล

จากความร่วมแรงร่วมมือกันที่ละนิดของคนในชุมชนของน้องอุ้ม  ทำให้ทุกวันนี้ทะเลเริ่มกลับมาสมบูรณ์ ชาวประมงก็มีรายได้ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในแบบที่ไม่รบกวนธรรมชาติจนเกินไป

สำหรับใครที่อยากมาท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เรียนรู้เกี่ยวกับธนาคารปู สามารถติดต่อเข้าไปที่
ชมรมอนุรักษ์พันธุ์ปู ปากน้ำชุมพร โทร. 085 068 1057

 

เรื่อง: Tatsareeya S.
ภาพ : เอกรัตน์ ปัญญะธารา