“GIVE” เพราะการให้เงิน ไม่เท่าการให้ความรู้ ถอดบทเรียนจากโครงการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดย T-Forest
หากคุณเป็นคนที่ชอบดอกไม้ ชอบงานปัก หรือชอบภาพสไตล์หวานๆ คุณอาจชอบใจที่จะได้รู้จักกับ T-Forest หรือ คุณใบเตย – พนิตตา วัชรนพวิภา ศิลปินและดีไซเนอร์ผู้ที่หวานไปหมดทั้งบุคลิก ท่าทาง รอยยิ้ม และดวงตา ความหวานในตัวเธอนี่เองที่ส่งต่อไปยังผลงานหวานๆ หลากหลายภายใต้แบรนด์ T-Forest
“เตยเรียนจบอาร์ตมา และอยากทำแบรนด์ของตัวเอง ก็เลยเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบและทำได้ ก็ฝึกมาเรื่อยๆ ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นงานวาดภาพประกอบ งานผ้า งานถัก แล้วก็ต่อยอดเป็นงานออกแบบจากดอกไม้ที่เตยชอบ ด้วยความที่คุณพ่อเป็นนักวิชาการการเกษตร และคุณแม่ชอบปลูกต้นไม้ดอกไม้มาก ก็เลยรู้สึกผูกพันกับป่าไม้มาตั้งแต่เด็กๆ”
ด้วยสไตล์หวานๆ และความสามารถที่หลากหลายทำให้คุณใบเตยได้เป็นหนึ่งใน 8 ศิลปินในแคมเปญ “8 ลายเส้น ชัยชนะแห่งการพัฒนา” ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสการดำเนินงานครบรอบ 30 ปีของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยโจทย์ที่คุณใบเตยได้รับคือโครงการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ
“จากที่ได้ศึกษาข้อมูลก็จะมีด้านความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างประเทศ มีความเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ช่วยเหลือกัน ประเทศเขาขาดเหลืออะไร เราก็ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะสุดท้ายผลประโยชน์ก็จะได้ร่วมกัน ซึ่งก็จะนำพาไปสู่ความสุขและสงบของแต่ละประเทศ”
โดยหลักๆ แล้วตัวโครงการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศก็จะเป็นการช่วยเหลือและส่งเสริมกัน เช่น ประเทศจีนได้ส่งต้นชาน้ำมันมาให้ประเทศไทย และถ่ายทอดความรู้ เพื่อที่จะได้เอาไปปลูกและพัฒนาใช้ต่อไป และยังมีโครงการที่ส่งนักศึกษาแลกเปลี่ยนเพื่อศึกษาวัฒนธรรมของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว หรือมาเลเซีย
“โครงการนี้สอนให้เรารู้ว่าการให้เงินก็ไม่เท่าให้ความรู้ ทั้งสอนการขยายพันธุ์พืช ขยายพันธุ์สัตว์น้ำ ปศุสัตว์ ประมง ให้พวกเขาสามารถทำงานหาเลี้ยงตัวเองเป็นอาชีพได้ เป็นแรงบันดาลใจให้เตยได้สร้างสรรค์ผลงานที่ชื่อว่า ‘GIVE’ ขึ้นมา ในผลงานก็จะมีบ้านที่แทนแต่ละประเทศซึ่งมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นการให้แบบสามารถต่อยอดไปได้อีก ไม่ใช่ให้แล้วเสียเปล่า”
คุณใบเตยสร้างงานชิ้นนี้ขึ้นมา เพื่ออยากจะให้คนที่ได้ชมผลงานของเธอเห็นว่า โครงการต่างๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนามีมาอย่างยาวนานมากแล้ว จนปัจจุบันได้งอกเงยเป็นอาชีพและสายใยระหว่างประเทศ ทั้งยังทำให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยด้วยกันหรือประเทศเพื่อนบ้าน การที่เราสามารถแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้หรือทรัพยากรที่เรามี การ “ให้” นี่เองที่เป็นจุดกำเนิดของความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น และร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาประเทศ เพื่อเป้าหมายอันหนึ่งอันเดียวกันคือความร่มเย็นเป็นสุข และอยู่ดีกินดีที่นำไปสู่ความมั่นคงของประเทศต่อไป