NESCAFÉ Blend & Brew X MRT Wat Mungkorn MRT สถานีวัดมังกร โดย NESCAFÉ
เยาวราช ย่านที่ขึ้นชื่อทั้งเรื่องอาหาร บรรยากาศ และวัฒนธรรมชุมชนคนจีนที่ใหญ่ที่สุดของเมืองกรุงเทพ เพิ่งจะได้ต้อนรับ MRT สถานีวัดมังกร
ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับ “วัดมังกรกมลาวาส” หรือที่รู้จักในชื่อ “วัดเล่งเน่ยยี่” พร้อมๆ กับอีก 3 สถานีใหม่ในย่านเมืองเก่า คือสถานีสามยอด สถานีสนามไชย และสถานีอิสรภาพ ภายใต้บริบทนี้ NESCAFÉ Blend & Brew เข้าสร้างสรรค์ตัวสถานี และเปิดตัวอย่างน่าตื่นตา ด้วยการชูเอกลักษณ์และสีสันจากวัฒนธรรมจีนจากบริบทรอบข้าง ดึงเข้ามาสร้างเป็นงานศิลปะและงานออกแบบในสถานีอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ชั้นบนสุดแรกเข้าสถานี ไปจนถึงชานชาลาสู่รถไฟฟ้าใต้ดินในชั้นล่างสุด
นอกจากเราจะได้เห็นการใช้สีแดง สีทอง ที่สื่อถึงวัฒนธรรมจีนอย่างถ้วนทั่วในสถานี เรายังจะได้เห็นภาพมังกร นก หงส์ เสือ พืชพันธุ์ในจินตนาการ ผสมผสานไปกับภาพผู้คนทั้งไทย จีน ตะวันตก ที่หลอมรวมอยู่ใน “ชุมชนคนรักกาแฟ” จากคอนเซ็ปต์และการออกแบบโดย NESCAFÉ Blend & Brew เพื่อเชิดชูวัฒนธรรมการดื่มกาแฟ และความหลอมรวมทางวัฒนธรรมของผู้คนและชุมชนที่เก่าแก่ที่สุดชุมชนหนึ่งของเมืองกรุงเทพ
องค์ประกอบที่น่าสนใจนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ทางเข้าสถานี อันจะพบเห็นลวดลายการตกแต่งในทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นพื้น ผนัง หรือฝ้าเพดาน “ท้องมังกร” บริเวณฝ้าบันไดเลื่อนนำผู้คนลงสู่ดินแดนสมมุติที่มีกาแฟเป็นปัจจัยหลอมรวม บรรยากาศที่ผู้คนจะได้พบตลอดทั่วทั้งสถานี ยังประกอบด้วยเมล็ดกาแฟซึ่งถูกนำมาโดยนกนานาชนิด ถูกกลั่นผ่านไอน้ำจากลมหายใจมังกร กลายเป็นกาแฟหอมกรุ่นในมือของผู้คนหลากเชื้อชาติ ทั้งคนและสัตว์วิเศษ จึงสื่อสารถึงกันผ่านวัฒนธรรมกาแฟเป็นศูนย์กลาง โดยนอกจากภาพภายในจากฝีมือศิลปิน หลายจุดในสถานียังมีการใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือเทคโนโลยีการซ้อนภาพเคลื่อนไหวลงไปบนสถานที่จริง ให้ผู้คนได้เล่นผ่านแอพลิเคชัน มังกรและบรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้นก็จะขยับอยู่ในมือของผู้เข้าชมได้ราวกับมีชีวิตจริงๆ
โดยทั่วไป สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินนั้นไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าทางผ่านจากสถานที่หนึ่งไปสู่อีกสถานที่หนึ่ง มีลักษณะเหมือนกันหมดทุกที่ เพราะสถานีนั้นมีไว้ก็เพื่อเพียงพาผู้คนไปถึงจุดหมาย และไม่จำเป็นจะต้องสร้างความจดจำเกี่ยวกับกับสถานที่นั้นให้ผู้ที่ผ่านไปมา
“ชุมชนคนรักกาแฟ” จากฝีมือของ NESCAFÉ Blend & Brew นี้ คิดต่างออกไป ด้วยการเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างเอกลักษณ์ให้กับสถานีอันเปรียบเหมือนประตูสู่ย่าน ที่นอกจากจะสร้างภาพจำให้สถานี ตอกย้ำให้เอกลักษณ์ของย่านนั้นแข็งแรงยิ่งขึ้น ยังเป็นเหมือนการนำงานศิลปะเข้ามาใกล้ชิดผู้คนในละแวกยิ่งขึ้น เป็นงานศิลปะที่ผู้คนจะสามารถเที่ยวชมได้ทุกวัน ไม่จำเป็นต้องเข้าแกลอรีหรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะ และยังเป็นงานศิลปะที่มีเรื่องราวใกล้ชิดกับตัวพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวการเดินทางของเมล็ดกาแฟ สู่แก้วที่ใช้ดื่มเป็นชีวิตประจำวัน และเรื่องราวความหลอมรวมอขงชุมชนและวัฒนธรรม ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองกรุงเทพอีกด้วย