บ้านหลังเกษียณ อยู่สบาย ด้วยการดักลมทุกทิศทาง
บ้านหลังเกษียณ ที่ออกแบบเพื่อตอบความต้องการพื้นฐานของการมีบ้าน ทั้งในเรื่องการสร้างฟังก์ชันการใช้งาน ด้วยการสร้างลำดับให้เป็นไปตามนิสัยตามธรรมชาติของเจ้าของบ้าน และหลักการเพื่อให้บ้านอยู่สบาย ด้วยการดักลมทุกทิศทางของบ้าน
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Research Studio Panin
บ้านหลังเกษียณ เปรียบเสมือนชีวิตบทใหม่ที่หลายคนใฝ่ฝัน หลายคนหวนกลับบ้านเกิดสู่ความสงบที่เติบโตมา หลายคนโดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ เลือกมุ่งหน้าออกสู่ บ้านต่างจังหวัด เพื่อค้นหาหนทางเรียบง่ายอย่างที่ไม่เคยพบเจอในเมืองหลวง เช่นเดียวกับ คุณลิสา ทอมมัส อดีตผู้บริหารผู้อยู่เบื้องหลังเครือโรงแรมชื่อดังของเมืองไทย ที่เลือกเกษียณตัวเองพร้อมกับพาคุณแม่โยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่จังหวัดราชบุรี
“เหมือนรักแรกพบเลยค่ะ เรามาถึงราชบุรีครั้งแรกในช่วงเดียวกันกับตอนนี้ซึ่งเป็นฤดูทำนา ประกอบกับส่วนตัวเป็นคนชอบสีของนาข้าวมาก เป็นสีเขียวที่อธิบายไม่ถูก ทุกครั้งที่ได้เห็นเหมือนกับพลังงานในตัวเราถูกทำให้สงบร่มเย็น”
คุณลิสาเริ่มต้นเล่าถึงความรู้สึกประทับใจแรกพบเมื่อมาเยือนที่นี่ และเลือกจังหวัดราชบุรีเป็นที่ตั้ง บ้านหลังเกษียณ ของครอบครัวหลังนี้ด้วยหลายเหตุผลประกอบกัน ตั้งแต่เรื่องความสะดวกในการเดินทางที่ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ สาธารณูปโภครายล้อมที่ครบครัน และที่สำคัญคือ “เส้นขอบฟ้าของที่นี่เป็นสีเขียว ไม่ได้เป็นตึกระฟ้าเหมือนกับวิวที่ชินตาอย่างที่เห็นจากคอนโดมิเนียมที่เคยอยู่”
ผู้มาสานต่อความฝันของคุณลิสาคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ และคุณธนาคาร โมกขะสมิต สถาปนิกจาก Research Studio Panin ที่เริ่มต้นการออกแบบบ้านหลังนี้ด้วยวิธีการฟัง
“เรารู้สึกดีมากถ้าเราสามารถแปลชีวิตประจำวันทุกแง่ทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นการหมุนตัวของเจ้าของบ้านเป็นอย่างไร เช้าถึงเย็นใช้ชีวิตแบบไหน ออกมาเป็นการวางผังของบ้านได้ โดยค่อยๆ ให้บ้านผุดขึ้นมาจากบทสนทนาระหว่างเรากับเจ้าของบ้าน ถ้าเราสามารถจะทำอย่างนั้นได้ ก็เหมือนกับว่าเราสามารถตอบโจทย์ของเจ้าของบ้านได้ ก็เลยรู้สึกว่านี่เป็นบทเรียนแห่งการถอยที่ดี และรู้จักที่จะฟัง”
บ้านหลังนี้จึงเป็นเหมือนการออกแบบเพื่อตอบความต้องการพื้นฐานของการมีบ้าน ทั้งในเรื่องการสร้างฟังก์ชันการใช้งานด้วยการสร้างลำดับ ให้เป็นไปตามนิสัยตามธรรมชาติของเจ้าของบ้านและหลักการเพื่อให้บ้านอยู่สบายอย่างเรื่อง Cross Ventilation หรือการระบายอากาศแบบให้ลมผ่านอาคาร ด้วยการกำหนดชานกลางบ้านแบบกึ่งเอ๊าต์ดอร์เป็นส่วนแรกของบ้านและเป็นทางเข้าพื้นที่ต้อนรับตรงกลาง ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อผ่านการเป็นพื้นที่ดักลมในทุกทิศทาง และเป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่านระหว่างพื้นที่ภายในกับภายนอกบ้าน โดยไม่ได้มองว่าเป็นเพียงทางผ่านของการสัญจรภายในบ้าน หากแต่มองว่าเป็นพื้นที่ใช้สอยในบ้านอีกส่วนเพื่อให้ผู้อาศัยใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย
ส่วนการวางรูปแบบของอาคารเกิดขึ้นตามรูปแบบของที่ดิน โดยใช้คูน้ำธรรมชาติตามแนวยาวของพื้นที่ซึ่งเป็นบริบทเดิมที่สำคัญเป็นที่ตั้ง เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างตัวบ้านกับคูน้ำด้วยสระว่ายน้ำที่วางขนานกัน ถึงนั่นจะบังคับให้บ้านต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันตก แต่สถาปนิกเลือกแก้ปัญหาความร้อนจากแสงแดดตลอดทั้งวัน ด้วยการให้ชานหรือระเบียงมีระยะที่กว้างขึ้นตามระยะแดด โดยเลือกใช้โครงสร้างอาคารส่วนอยู่อาศัยเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนชายคาและชานบ้านเลือกใช้โครงสร้างเหล็กที่ดูโปร่งเบา และเป็นเสมือนกรอบของการสร้างทิวทัศน์รอบบ้าน
“บ้านหลังนี้จะไม่มีความหมายเลยถ้ามันไม่มีชีวิตประจำวันของคุณลิสา ที่ตื่นขึ้นมาเพื่อสร้างลำดับต่างๆ ของพื้นที่ทั้งในแง่รูปแบบและตัวพื้นที่เอง” ฟอร์มของบ้านจึงเกิดขึ้นตามธรรมชาติของสถานที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติของการอยู่อาศัย โดยในส่วนใช้ชีวิตประจำวันอย่างส่วนครัว ห้องรับประทานอาหาร และห้องนั่งเล่นเป็นส่วนด้านหน้าซึ่งต้องการฝ้าเพดานสูง และบานเกล็ดที่ออกแบบเป็นบานทรงแคบคั่นระหว่างบานเปิดแบบอื่นๆ เพื่อการระบายอากาศที่ดีตลอดช่วงกลางวัน คั่นกลางด้วยโถงทางเข้าหลัก ก่อนส่งต่อไปสู่ห้องนอนส่วนหลังที่ชั้นล่างเป็นของคุณแม่ และชั้นบนเป็นของคุณลิสาซึ่งขึ้นจากบันไดในห้องนั่งเล่น
“เรื่องที่สำคัญตอนนี้คือเรื่องของเวลาค่ะ” คุณลิสากล่าวทิ้งท้าย “เราเลือกว่าจะใช้เวลากับชีวิตของตัวเราเองจริงๆ ทำเพื่อตัวเอง อะไรที่เป็นความสุขในแง่สิ่งที่เราชอบ และการกลับมาอยู่ร่วมกับคุณแม่ เหมือนได้ย้อนกลับไปคิดถึงความรู้สึกของการอยู่บ้านในสมัยยังเด็ก บ้านซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย กลับไปยังสิ่งที่จารึกอยู่ในใจของเรามาตลอด”
สิ่งนี้จึงเป็นเสมือนมิตรภาพที่ส่งต่อจากสถาปนิกสู่ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ผ่านบ้านขนาดพอดีที่สร้างความสุขอย่างยั่งยืน
เจ้าของ : คุณลิสา ทอมมัส
สถาปนิก : Research Studio Panin โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ และคุณธนาคาร โมกขะสมิต
เรื่อง : ณัฐนิช ชัยดี
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์: ทิพยา ตาริชกุล