โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ จากผืนดินแห้งแล้ง…สู่ความเขียวชอุ่ม
ในหนังสือชุด Garden & Farm ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน เรามีคอลัมน์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่พาไปศึกษาดูงานตามที่ต่าง ๆ ซึ่งใน Garden & Farm Vol.10 โรงเรือนข้างบ้าน เราออกเดินทางไป โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ อีกหนึ่งสถานที่คุ้นตาสำหรับผู้ที่ใช้เส้นทางผ่านจังหวัดเพชรบุรีเป็นประจำ
ในอดีตผืนดินแห่งนี้เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง เพาะปลูกไม่ได้ผล แต่ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนพื้นที่ 250 ไร่ ของโครงการในปัจจุบันจึงงดงามด้วยทิวเขาเขียวชอุ่ม มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แปลงผักกว้างสุดลูกหูลูกตา แปลงนาทดลอง คอกปศุสัตว์ กังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า ฯลฯ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้ และศึกษาดูงานด้านการเกษตรที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
ย้อนกลับไปช่วงปลายปี พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงซื้อที่ดินบริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี 120 ไร่ จากราษฎรด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ปีถัดมาทรงซื้อแปลงติดกันอีก 130 ไร่ รวมทั้งหมด 250 ไร่ และมีพระราชดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร สภาพดินเดิมเป็นดินทรายและหินลูกรัง ขาดแคลนแหล่งน้ำ ทำให้การเพาะปลูกไม่ดีนัก การฟื้นฟูและพัฒนาที่ดินระยะแรกได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และชาวบ้านในพื้นที่ เมื่อสาธารณูปโภค แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรเริ่มเข้ามาถึง ผืนดินก็ค่อย ๆพลิกฟื้นอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านที่เคยละทิ้งถิ่นฐานก็กลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมอีกครั้ง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
สำหรับชื่อโครงการอันมีเอกลักษณ์และจดจำง่ายนั้นมีที่มาจากหัวมันเทศที่มีชาวบ้านนำมาทูลเกล้าฯถวาย พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพนักงานนำไปวางไว้บนตาชั่งในห้องทรงงานบนพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวลา เมื่อเสด็จกลับมาอีกครั้งทรงพบว่าหัวมันเทศที่วางนั้นแตกใบอ่อนขึ้นมา จึงมีพระราชดำริว่าหัวมันเทศวางไว้บนตาชั่งไม่มีดินและน้ำยังงอกได้ ที่ดินแปลงนี้ก็น่าจะปลูกมันเทศได้ จึงพระราชทานต้นมันเทศจากเรือนเพาะชำมาปลูกไว้ที่นี่ และพระราชทานชื่อ “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ”
เราเดินทางมาถึงที่นี่แต่เช้าตรู่สัมผัสกับอากาศเย็นสบาย ทิวทัศน์เขียวชอุ่มรอบตัว ทำให้แทบนึกภาพไม่ออกเลยว่าที่นี่เคยประสบปัญหาความแห้งแล้งมาก่อน เพียงครู่เดียวก็มีเจ้าหน้าที่พาเยี่ยมชมโครงการ คุณสมยศ สาระเพ็ชร์ นักวิชาการเกษตร โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ อธิบายว่างานหลักของที่นี่เน้นการเกษตร แบ่งเป็นสองส่วน คือ ปลูกพืช ทั้งพืชไร่ ไม้ผล พืชผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ป่า อีกส่วนคือเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ไข่ โคนม รวมทั้งยังเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองของเพชรบุรี เช่น ชมพู่เพชร สับปะรดเพชรบุรี ยางนา เป็นต้น
“สภาพดินที่นี่มีหลายเนื้อ ทั้งดินทราย ดินทรายปนดินเหนียว ส่วนมากไม่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยหลักการแล้วเราจะต้องปรับสภาพดินให้ดีก่อนปลูก แต่ในความเป็นจริงการปรับปรุงดินต้องใช้เงินมหาศาล ปีเดียวก็ยังไม่เห็นผล ดังนั้นถ้ามัวแต่ปรับปรุงดินก็ไม่มีรายได้ การทำเกษตรที่นี่จึงต้องปรับสภาพดินไปพร้อมปลูกพืชไปด้วย แต่จะเน้นพืชที่ดูแลง่ายอยู่กับสภาพพื้นที่ได้ดี ทำให้ประสบผลสำเร็จ”
“รายได้จากผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดต้องเลี้ยงตัวเองได้ ไม่รวมค่านำชมหรือตั๋วเข้าโครงการ เพราะเราต้องทำให้เป็นรูปธรรมว่าทำได้จริง ที่นี่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีหรูหรา คนที่มาดูงานหรือเกษตรกรสามารถนำไปทำตามได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผลผลิตต้องปลอดสารพิษ ต้นทุนต่ำ ทั้งหมดเราส่งขายที่ร้านโกลเด้น เพลซ ทุกสาขา ผ่านการควบคุมด้วยมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices)”
เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางโครงการจัดกระเช้าผลผลิตต่าง ๆ เป็นต้นว่าผัก ผลไม้ นม ไข่ไก่ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นประจำทุกวันพุธ สำหรับการเที่ยวชมโครงการไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปด้านใน หากต้องการค่อย ๆ ซึมซับบรรยากาศ แนะนำให้ปั่นจักรยาน ซึ่งมีบริการให้นักท่องเที่ยวยืมได้ฟรี หรือนั่งรถนำชมก็มีเจ้าหน้าที่บรรยายพร้อมเกร็ดความรู้ดี ๆ แต่หากมาเป็นหมู่คณะหรือต้องการข้อมูลทางการเกษตรควรติดต่อเข้ามาล่วงหน้า ภายในโครงการเต็มไปด้วยทัศนียภาพที่สวยงาม ชวนให้เพลิดเพลินไม่น้อย สามารถแวะชมตามจุดต่างๆ ทั้งหมด 25 จุด แต่ละจุดมีป้ายกำกับ พร้อมคำอธิบายความรู้แบบง่าย ๆ
การดำเนินโครงการที่เน้นความเรียบง่าย สร้างองค์ความรู้ที่ไม่ซับซ้อนแต่เห็นผล พื้นที่บางส่วนมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนงานวิจัย เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำโครงการ 1 ไร่ 1 แสน และแปลงปลูกหม่อน บริษัทเอกชนบางแห่งเข้ามาวิจัยการปลูกผัก ทดสอบสายพันธุ์พืช มีแปลงสาธิตที่ให้ทั้งความรู้ วิธีการ และรายละเอียดให้ผู้ที่สนใจมาศึกษาดูงานนำไปปรับใช้ได้
โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ไม่เพียงแต่มีทัศนียภาพสวยงาม และมีความรู้มากมายให้เข้าไปเก็บเกี่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความไม่ย่อท้อ สะท้อนถึงความเรียบง่าย พอเพียง และแม้ในพื้นที่ยากลำบากที่สุด พระองค์ก็ไม่เคยทอดทิ้งราษฎร ที่นี่จึงเป็นเสมือนตัวแทนของพระองค์ที่พระราชทานความรู้ และอาชีพให้เป็นสมบัติของแผ่นดินสืบไป
โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ
เปิดทุกวัน เวลา 9.00-16.30 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 032-472-700 – 1
อีเมล์: [email protected]
ว็บไซต์ www.chmrp.com
เรื่อง เกซอนลา
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
เรื่องที่น่าสนใจ