"เส้ง ซอย 7" ตำนาน เวสป้า เมืองไทย - บ้านและสวน

“เส้ง ซอย 7” ตำนาน เวสป้า เมืองไทย

          หากคุณเป็นคนหนึ่งที่หลงใหลและมีรถเวสป้าในครอบครอง คุณต้องรู้จักผู้ชายคนนี้ “เส้ง ซอย 7” หรือ คุณวีระ ธีรเกตุ ชายไทยเชื้อสายจีนอายุเจ็ดสิบปีต้นๆ ผมขาวท่าทางทะมัดทะแมงสมเป็นนักเลงเวสป้า หรือถ้าพูดให้สุภาพหน่อยก็ต้องบอกว่าเป็นกูรูตัวยงคนหนึ่งของวงการเวสป้าเมืองไทยเลยทีเดียว

เพราะคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงนี้มานานกว่าห้าสิบปี ถือว่าเป็นช่างซ่อมรถเวสป้ารุ่นแรกๆของเมืองไทย ด้วยความที่ฝึกงานตั้งแต่อายุยังน้อย จึงสั่งสมประสบการณ์และผลงานให้เป็นที่ประจักษ์จวบจนถึงปัจจุบัน เรามาทำความรู้จัก เส้ง ซอย 7 ไปพร้อมๆกันเลยครับ

เริ่มรู้จักเวสป้า

“ผมมาจากอำเภอกำแพงแสน สมัยก่อนที่บ้านปลูกยาเส้นขายแต่มันไม่ได้ราคา พ่อแม่เลยพากันย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ตอนนั้นผมอายุ 8 ขวบ ตรงกับช่วงประมาณปี 2500 เรามาอยู่ในซอยโรงหมี่ที่สวนหลวง จุฬาฯ เริ่มเก็บผักขายตามรั้วสนามกีฬาแห่งชาติ ขายเรียงเบอร์ ขายไอศกรีมหวานเย็น และตามพ่อไปขายเต้าฮวย จนวันหนึ่งพ่อผมเห็นว่ามันไม่มีอนาคตก็เลยให้ไปอยู่ร้านขายยา ‘สุรินทร์โอสถ’ จนถึงอายุ 12 ขวบก็ขอออกต่างจังหวัด ไปกับเซลล์ขายยา ส่วนใหญ่ไปทางเรือ นอนบนเรือ มีหัดขับเรือบ้าง หลังจากนั้นก็มาผสมยา โดยมีเภสัชกรประจำร้านเป็นคนบอกให้ทำ จนถึงอายุ 13 ปีพ่อก็พาไปฝากญาติคนหนึ่งซึ่งทำงานที่อู่เวสป้า ป.สหายยนต์ ขณะนั้นอยู่ที่รองเมือง ซอย 5 ที่นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้รู้จักรถเวสป้า ผมไปฝึกเป็นช่างตั้งแต่อายุ 13 ปี ทำอยู่ตั้งนาน เถ้าแก่ก็ยังไม่สอนและไม่ปล่อยงานสักที อาจเห็นว่าผมเป็นเด็กแต่ด้วยความอยากรู้และอยากเป็นงานตามประสาเด็ก ตอนนั้นพอถึงเวลาเลิกงานคนอื่นเขากลับบ้านกันหมด เถ้าแก่ก็ไปธุระข้างนอก ผมแอบเอารถที่มาซ่อมและรอทำสีมาลองหัดขับ พอหัดเสร็จก็รื้อรถใหม่เพื่อรอทำสี หน้าที่ของเราคือรื้อเครื่องออกมาเพื่อเตรียมล้างเครื่อง ทีนี้พอถึงตอนประกอบผมก็แอบประกอบเครื่องเองอีกโดยไม่มีคนบอกว่าถูกผิดอย่างไร ประกอบแล้วรื้ออยู่อย่างนั้นประมาณ 4 – 5 ปีก็ยังไม่มีใครสอนงานจริงจัง จะว่าไปการเรียนรู้ในแบบสมัยก่อนนั้นต้องอาศัยวิธีครูพักลักจำเอาเอง มีอยู่วันหนึ่งเถ้าแก่สั่งช่างใหญ่ให้ประกอบเครื่องรถที่เสร็จแล้วเพื่อจะส่งมอบลูกค้าในตอนเช้า แต่ช่างก็ไม่ยอมประกอบ พอทุกคนกลับบ้านหมดผมก็แอบมาประกอบ รุ่งเช้ามาเถ้าแก่ถามว่าใครประกอบ แต่ไม่มีใครยอมรับ จนผมถามกลับไปว่า ‘ประกอบแล้วใช้ได้หรือเปล่า’ เถ้าแก่บอกว่า ‘ใช้ได้ แล้วใครประกอบ’ ผมเลยบอกไปว่า ‘ผมประกอบเอง’ แกก็โมโหว่ายังไม่ได้สอนแล้วมาทำได้ยังไง หลังจากนั้นผมก็แอบดูช่างรุ่นพี่ทำงาน ไม่ว่าจะประกอบเครื่อง ล้างเครื่อง ตั้งไฟ ดูว่าเขาทำกันยังไง มาระยะหลังงานเยอะขึ้นแต่ช่างน้อย เขาถึงให้เราลองทำ เราก็ทำได้ จึงได้เป็นช่างเต็มตัวและทำมาเรื่อยๆ

เวสป้า

“ช่วงนั้นมีบริษัทเคี่ยนหงวน (ประเทศไทย) แผนกมอเตอร์ ได้นำเข้าเวสป้ามาขายในเมืองไทย ที่นี่มีศูนย์บริการรับซ่อมด้วยแต่ไม่ได้ทำสี ลูกค้าบางคนอยากเปลี่ยนสี จึงส่งมาทำสีที่อู่ที่ผมทำงานอยู่ ในสมัยนั้นช่างในอู่เมื่อเป็นงานแล้วก็จะมีลูกค้าเป็นของตัวเอง พอมีรถจากบริษัทเคี่ยนหงวนเข้ามาจึงไม่มีคนสนใจ ผมก็เลยได้ทำ แต่มีรถอยู่รุ่นหนึ่งช่วงนั้นมีปัญหาคือเบรกไม่อยู่ ช่างที่บริษัทก็แก้ไม่หาย ส่งมาที่อู่ก็แก้ไม่หาย เถ้าแก่เลยบอกว่า ‘เส้ง เอ็งลองเอาไปทำดูว่ารถใหม่นำเข้าทั้งคันทำไมถึงมีปัญหาแก้ไม่หาย’ ผมเลยจับรถตะแคง ถอดสายเบรกดึงออกมา ก็เห็นว่าปลอกนอกของเบรกมันเกินมาตรฐานขดอยู่ในตัวถังใต้ท้องรถ เลยทำให้เบรกแข็งเหยียบแล้วไม่อยู่ ผมเลยตัดปลอกนอกให้เหลือพอดีกับมาตรฐาน เถ้าแก่เห็นปุ๊บเดินมาเขกหัวเลยว่า ‘รถใหม่ๆไปตัดของเขาได้ยังไง’ ผมก็เถียงว่า ‘ของมันยาวไป แล้วให้ทำยังไงตัดไปแล้ว เถ้าแก่ลองไปขี่ดูเอาเองว่าใช้ได้ไหม’ สักพักเถ้าแก่กลับมาบอกว่า ‘เอ็งรู้ได้ยังไงว่าต้องแก้ตรงนี้’ ผมก็ตอบแกว่า ‘ก็เห็นแก้กันทุกอย่างแล้วไม่หาย ผมก็เลยต้องเสี่ยงลองทำแบบนี้’ ปรากฏว่ารถที่มีปัญหาเรื่องเบรกในล็อตนั้นแก้ด้วยการตัดปลอก หลังจากนั้นรถใหม่ๆจากบริษัทที่มีปัญหาก็ถูกส่งมาที่ ป.สหายยนต์หมด แต่ไม่มีคนทำ เถ้าแก่จึงให้ผมทำรถที่มาจากบริษัทคนเดียว แล้วรถที่ส่งมาไม่ใช่คันสองคัน ผมก็แย้งไปอีกว่าถ้าเป็นอย่างนี้บริษัทจะเสียหายนะ เพราะรถที่ออกจากห้างต้องซ่อมและดูแลที่ห้างห้างนั้น เจ้าหน้าที่ของเคี่ยนหงวนในตอนนั้นคือคุณบรรจบ จึงขอจากเถ้าแก่ว่าให้ผมไปนั่งที่บริษัทสัก 3 เดือน พออยู่ได้สองเดือนก็ขอกลับอู่ เพราะว่ามันเบื่อ ไม่มีอะไรทำ ผมเป็นคนที่อยู่เฉยๆไม่เป็น”

 

จุดเริ่มต้นของ “เส้ง ซอย 7”

“หลังจากอยู่กับเคี่ยนหงวนได้ระยะหนึ่ง ผมเกิดเบื่อเพราะไม่มีงานทำ เลยขอกลับมาอยู่ที่อู่เหมือนเดิม คุณบรรจบก็เรียกให้ไปพบ แล้วให้นำรถจากบริษัทกลับไปทำที่บ้าน เนื่องจากช่างที่บริษัททำไม่ทัน ผมก็บอกแกว่าไม่เอาหรอกทุนก็ไม่มี จะเอาเงินที่ไหนไปสั่งอะไหล่ คุณบรรจบบอกว่า ‘เอ็งเอารถไปทำนะ แล้วไปเบิกอะไหล่ที่ร้านไทยเจริญ เดี๋ยวพี่จัดการเรื่องเงินเอง จะเอาชิ้นไหนตัวไหนไปบอกที่ร้าน’ จนรถเสร็จแกก็ถามผมว่าแล้วจะคิดราคายังไง ผมก็ตอบว่า ‘ไม่รู้ ผมคิดไม่เป็น’ จนแกโทร.ไปถามเถ้าแก่ผมว่าคิดราคาเท่าไหร่ดี นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องการคิดราคาค่าซ่อมรถ พูดง่ายๆว่าผมคิดบวกไม่เป็น คือบวกราคาค่าอะไหล่ ค่าแรง

เวสป้า

“จนวันที่กลับมาอยู่ที่อู่เดิม ลูกค้าเก่าๆที่ผมเคยดูแลก็ถามหาผมว่าหายไปไหนมา ผมก็เคลียร์และซ่อมให้ลูกค้าเก่าจนครบทุกคน ทีนี้รถรุ่นใหม่ที่เคี่ยนหงวนสั่งมาล็อตใหม่เกิดมีปัญหาน้ำมันซึม ก็เลยส่งมาที่ ป.สหายยนต์วันละสิบคัน เป็นสปรินต์หัวโต รุ่นแรก ทางเถ้าแก่ก็ส่งให้ช่างใหญ่ที่อู่ทำปรากฏว่าทำไปแล้วแก้ไม่หาย ผมจึงได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาว่าทำไมน้ำมันถึงซึมออกมาได้ทั้งที่เป็นรถใหม่ ก็ได้พบว่าประเก็นฝาเสื้อลูกลอยมันบาง พอลองใส่ไปสองชั้นมันก็ยังซึมอยู่ ผมก็เลยไปร้านขายซีลรถยนต์แถวบรรทัดทอง เอาประเก็นเก่าไปให้เขาเทียบดู ซื้อมาเป็นสิบตัว เพราะขายยกชุดแล้วเอามาใส่เข้าไปแทนอันเก่า ปรากฏว่าใช้ได้ไม่ซึม แต่ด้วยความสงสัยและยังไม่มั่นใจว่ามันจะใช้ได้จริงไหม ผมก็ลองตัดซีลไปแช่น้ำมันเบนซินทิ้งไว้ว่าจะดูว่าซีลมันจะเน่าหรือเปล่า จะเปื่อยไหม สุดท้ายใช้ได้ ทางบริษัทก็ส่งรถมาเพิ่ม ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือฝาเสื้อลูกลอยชุดนี้มาผิดจากรุ่นอื่นซึ่งบล็อกมันจะลึก แต่รุ่นใหม่ที่มาครั้งนี้บล็อกมันตื้นใส่ประเก็นหนาไม่ได้ จึงใส่ประเก็นบาง มันเลยทำให้น้ำมันซึม จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ลูกค้าและเคี่ยนหงวนเกิดความเชื่อใจ เริ่มมีบริษัทที่ขายเวสป้าเจ้าอื่นๆมาขอตัวให้ไปอยู่ด้วยที่ละสามสี่เดือน และลูกค้าเริ่มติดเราแล้ว จึงมีความคิดที่จะเปิดอู่แต่ก็ไม่มีทุน ก็ได้เพื่อนที่ฝึกงานอยู่ด้วยกันมาร่วมกันเปิดอู่ เพราะว่าพ่อแม่เขามีเงิน เราจึงเปิดอู่อยู่ที่สี่แยกวัดดวงแข เปิดได้ปี กว่าก็ไปไม่รอด คือลูกค้าเยอะแต่คนทำไม่มี ทำให้อู่ต้องหยุดกิจการ ผมออกมามีเวสป้าเก่าๆคันหนึ่ง กลับมาอยู่บ้านพ่อตาที่จุฬาฯ ซอย 7 ก็คิดว่าจะเปิดอู่ที่นี่ เพราะมีที่ว่างเหลืออยู่ ที่นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘เส้ง ซอย 7’ จนถึงวันที่จุฬาฯเอาที่คืน อู่มีอันต้องปิดไปและถึงจุดอิ่มตัวในอาชีพด้วย จึงล้างมือจากวงการเวสป้า แต่ก็ยังซ่อมบำรุงรักษารถของตัวเองอยู่ เป็นสมบัติชุดสุดท้ายที่เหลืออยู่ตอนนี้สามคัน วันดีคืนดีก็ขี่ไปต่างจังหวัด ขี่เล่นกินลมไปเรื่อยๆ”

จากประสบการณ์ที่ผ่านการลองผิดลองถูกเรียนรู้ด้วยตัวเองแบบครูพักลักจำ และจากการสังเกตทำให้ทุกวันนี้ เส้ง ซอย 7 ยังคงมีลูกค้ารุ่นเก่าตามมาให้ซ่อมรถเวสป้าถึงบ้าน แม้ว่าจะร้างลาจากวงการไปแล้ว แต่หากมีเวลาว่างเขายังคงขี่เวสป้าสปรินต์ไฟเหลื่อมไปหัวหิน ไปกำแพงแสน ไปส่งหลานๆ เหมือนเมื่อครั้งหนุ่มๆ เพราะเวสป้ามันอยู่ในสายเลือดไปแล้ว

 

ขอขอบคุณ
คุณวีระ ธีรเกตุ (เส้ง ซอย 7)

เรื่อง : ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข


เรื่องที่น่าสนใจ