ฝ่าวิกฤตหน้าร้อนกับคัมภีร์แต่งบ้านเย็นฉ่ำสุดประหยัดค่าไฟ - บ้านและสวน

ฝ่าวิกฤตหน้าร้อนกับคัมภีร์แต่งบ้านเย็นฉ่ำสุดประหยัดค่าไฟ

หน้าร้อนมาไวแบบนี้ เห็นทีจะยังอยู่กับพวกเราไปอีกนาน เชื่อว่าหลายคนก็คงเริ่มรู้สึกกันได้แล้วว่าเพียงแค่ช่วงแรก ๆ อุณหภูมิก็เริ่มสูงจนชวนหงุดหงิด แต่จะทำอย่างไรให้พื้นที่พักผ่อนในบ้านของเราหลอดโปร่ง ผ่อนคลาย สร้างความสุนทรีย์ในหัวใจให้ผู้อยู่อาศัย ลองมาดูเทคนิคลดร้อนซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตั้งแต่การปรับพื้นที่บ้านไปจนถึงการเลือกเครื่องใช้ในบ้านกันเลย

เทคนิคลดร้อนสำหรับบ้านหลังใหม่

สำหรับคนที่เริ่มสร้างบ้านใหม่พอดีคุณมีข้อได้เปรียบตรงที่สามารถวางพื้นฐานเพื่อลดความร้อนตั้งแต่แรกได้ดั่งใจ ซึ่งอากาศเมืองไทยอย่างที่เราหลายคนตระหนักกันดีว่าไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ดังนั้นหากยังพอมีโอกาสปรับโครงสร้างบ้าน วิธีเหล่านี้ถือว่าได้ผลที่สุด นั่นคือ

  • เหนือ VS ใต้ : บ้านควรหันไปยังสองทิศทางนี้ตามสะดวก เพื่อลดการปะทะกับความร้อนแรงแผดเผาของดวงอาทิตย์โดยตรง
  • ระบายลม : การวางประตูหรือหน้าต่างที่อยู่ในแนวรองรับซึ่งกันและกัน ทั้งด้านหน้าและหลัง จะช่วยทำให้เกิดความหมุนเวียนของกระแสมในบ้าน ซึ่งดีกว่าบ้านที่ติดตั้งหน้าต่างเฉพาะหน้าห้อง แต่ด้านหลังปิดทึบ ว่าแล้วก็ลองปรับตำแหน่งหน้าต่างในห้องนั่งเล่นหรือบริเวณที่เป็นโถงกลางของบ้านดู

รู้จักวัสดุลดความร้อน

ที่จริงแล้ววัสดุลดความร้อนของบ้านนั้น มีให้เลือกหลากหลายอย่างตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างบ้านเลยทีเดียว ดังนั้นเพื่อช่วยเสริมอุณหภูมิในบ้านให้สมดุล และอยู่ในความควบคุมของเรา ก็ควรพิถีพิถันในการเลือกสักหน่อย สำหรับใครที่มีบ้านอยู่แล้ว อาจลองพิจารณาเพื่องการปรับเปลี่ยนจุดต่าง ๆ ดูก็ได้

  • หลังคาระบายความร้อน : หลังคาคือจุดแรกและจุดสูงสุดของบ้านซึ่งปะทะกับแสงอาทิตย์โดยตรง และยังเป็นจุดที่สะสมความร้อนเอาไว้ได้ง่ายที่สุด ดังนั้นวัสดุที่เหมาะสมที่สุดมักเป็นวัสดุตระกูลกระเบื้องที่มีความเย็นในตัวเองโดยธรรมชาติ และสะท้อนแสงได้ดี อีกทั้งการออกแบบหลังคาในทรงจั่ว ยังช่วยกระจายความร้อนได้ดีกว่าหลังคาแบนด้วยนะ ดังนั้นถ้าใครชอบบ้านสไตล์โมเดิร์นทรงสี่เหลี่ยมต่าง ๆ อาจต้องพิจารณาเรื่องวัสดุอื่น ๆ เสริมเป็นพิเศษ
  • ฉนวนกันความร้อน : เป็นปราการสำคัญประจำบ้านที่ห้ามมองข้ามเด็ดขาด เพราะฉนวนกันความร้อนมีบทบาทต่ออุณหภูมิของบ้านเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังสามารถติดตั้งได้ตั้งแต่ฝ้าเพดานไปจนถึงผนังบ้าน ควรเลือกฉนวนกันความร้อนที่มีค่าการต้านทานความร้อนสูง (R) และค่าการนำพาความร้อนต่ำ (K)
  • อิฐมวลเบา : นอกจากช่วยลดรายจ่ายในการสร้างบ้านได้แล้ว อิฐมวลเบายังเป็นตัวช่วยให้บ้านเย็นน่าอยู่ด้วย เพราะตัวอิฐนั้นมีคุณสมบัติกระจายอากาศได้ดีกว่าอิฐประเภทอื่น ๆ ลดการสะสมความร้อนภายในบ้าน สำหรับคนที่กังวลเรื่องการตอกตะปูเพื่อตกแต่งบ้านในภายหลัง เพียงแค่ต้องเลือกพุกให้เหมาะสมก็เป็นอันใช้ได้
  • ช่องลม : เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการหมุนเวียนอากาศภายในตัวบ้านโดยตรง ซึ่งการมีช่องลมนั้น นอกจากจะช่วยถ่ายเทอากาศแล้ว ยังส่งประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเป็นการถนอมโครงสร้างบ้านและสร้างสุขอนามัยที่ดีของคนในครอบครัวด้วย สำหรับการติดตั้งช่องลมนั้นสามารถวางได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะบริเวณใต้หลังคาและฝ้าเพดานจะช่วยเร่งระบายความร้อนในบ้านได้รวดเร็วที่สุด

เทคนิคลดร้อนสำหรับบ้านหลังเก่า

ใครที่มีบ้านอยู่ก่อนแล้วมาลองตรวจสอบกันว่าในบ้านของตัวเองมีตัวช่วยระบายความร้อนในโครงสร้างของบ้านกันแล้วหรือยัง ถ้าพบว่ายังมีบางจุดที่ไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าไรนัก ลองมาปรับแก้ไขด้วยสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

  • หน้าต่างและประตูบานเกล็ด: หน้าต่างหรือประตูมีหลากหลายแบบให้เลือก ซึ่งเราเชื่อว่าบางคนอาจดูแค่ดีไซน์โดยไม่ได้คำนึงมาก่อนว่าประตูแต่ะแบบนั้นก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันด้วย โดยเฉพาะประเภทที่เป็นบานเกล็ดถือเป็นเพื่อนคู่หูสำหรับบ้านในประเทศเขตร้อน เพราะช่วยตัดแสงแรง ๆ และระบายอากาศได้อย่างดี
  • พลังงานแสงอาทิตย์ : ในเมื่อแดดเจ้ากรรมแรงจัดได้ทุกวันแบบนี้ก็จัดแผงโซล่าเซลล์ไปเลย เพราะเมื่ออากาศไม่เป็นใจ เชื่อว่าหลายบ้านเลือกแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือเปิดเครื่องปรับอากาศและพัดลมกันถี่ขึ้น ดังนั้นแผงโซล่าเซลล์จึงเป็นตัวช่วยให้ทุกบ้านสามารถประหยัดค่าไฟได้ และเดี๋ยวนี้ก็ติดตั้งไม่ยากเลย ลองปรึกษาช่างใกล้ ๆ บ้านกันดู
  • ฝ้าและชายคา : อันที่จริงแล้วในส่วนเหล่านี้ทำงานสัมพันธ์กับฉนวนกันความร้อนซึ่งหลักในการเลือกก็คล้ายคลึงกัน คือควรเลือกแบบที่มีค่าการต้านทานความร้อนสูง (R) และค่าการนำพาความร้อนต่ำ (K) ปัจจุบันยังมีฝ้าที่มีรูระบายอากาศสำเร็จรูปวางจำหน่ายด้วย อีกทั้งมีเทคโนโลยีต่าง ๆ ของแต่ละแบรนด์ที่ชูจุดขายออกมาได้อย่างน่าสนใจ
  • สี : รู้หรือไม่ว่าสีสามารถส่งผลต่ออุณหภูมิได้เช่นกัน…ซึ่งการเลือกใช้สีขาวหรือสีโทนอ่อนทั้งภายในและภายนอกบริเวณบ้านจะช่วยสะท้อนแสงได้ดีกว่าสีเข้ม ถ้าหากใครอยู่ในพื้นที่ที่มีแดดจัด ลองเลือกสีพิเศษที่มีนวัตกรรมจำพวกเซรามิกเสริมอีกแรง ก็จะทำให้สีของบ้านสะท้อนแสงแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • พื้น : บางครั้งเราอาจมองข้ามพื้นและลืมนึกไปว่าในจุดนี้ก็สามารถเกิดการระบายอากาศได้เช่นกัน โดยเฉพาะการเอกวัสดุที่มีลักณะเป็นรูพรุนในโครงสร้าง เช่น พื้นคอนกรีต หรือพื้นไม้ บางคนอาจเคยสังเกตว่าอาคารสไตล์ Loft มักจะมีความเย็นโดยธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองคือตัวการสำคัญที่ทำให้ห้องเย็นลงนั่นเอง
  • ต้นไม้ : ต้นไม้คือตัวเสริมทางธรรมชาติชั้นเยี่ยม ซึ่งหากคุณมีพื้นที่มากพอ การปลูกไม้ยืนต้นรอบ ๆ รั้วบ้านนั้นจะช่วยปรับอุณหภูมิได้ดีที่สุด หรือถ้าพื้นที่เอื้ออำนวยเฉพาะไม้กระถาง ลองตั้งต้นไม้จำพวกปาล์มหรือหมากต้นเล็ก หรือไม้พุ่มตามแนวระเบียง และพยายามมจัดวางไม้ประดับตามจุดต่าง ๆ ของบ้านให้มากที่สุดก็ช่วยได้เช่นกัน

พัดลมระบายอากาศแบบติดเพดาน
คลิกดูข้อมูลเพิ่มเติม

พัดลมระบายอากาศแบบติดผนัง
คลิกดูข้อมูลเพิ่มเติม

การเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้า

แน่นอนว่าตัวช่วยเร่งด่วนที่สุดซึ่งทำให้พวกเราสามารถฝ่าวิกฤตความร้อนไปได้ก็คือเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่จะเลือกอย่างไรให้เหมาะสม ควรต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ร่วมพิจารณา

  • เปรียบเทียบสมรรถนะของเครื่องใช้ไฟฟ้าในแต่ละรุ่น
  • เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความคงทนแข็งแรง มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
  • เลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 ซึ่งได้รับการรับรองว่าประหยัดไฟฟ้า
  • เลือกขนาดให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่การใช้งาน
  • เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้ามีคู่มือการใช้งานเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด

เลือกเครื่องปรับอากาศให้เหมาะกับขนาดห้องเพื่อการประหยัดพลังงานสูงสุด
คลิกดูข้อมูลเพิ่มเติม

พกพาไปได้ทุกที่ทั่วบริเวณบ้านด้วยพัดลมตั้งพื้นคู่ใจ
คลิกดูข้อมูลเพิ่มเติม

อ่านเทคนิคดี ๆ ที่ครบเครื่องตั้งแต่สร้างบ้านไปจนถึงแต่งบ้านให้เย็นแล้วลองนำไปปรับใช้กันดู รับรองว่าร้อนนี้พื้นที่ในบ้านของคุณจะไม่ร้อนรุ่ม พร้อมฝ่ามรสุมหน้าร้อนตลอดปีของเมืองไทยไปได้อย่างแน่นอน