รายการค่าลดหย่อนภาษีประจำปี 2561
ถึงเวลาที่มนุษย์เงินเดือนหรือบุคคลธรรมดาผู้มีรายได้อย่างเรา ๆ ต้องทำหน้าที่พลเมืองที่ดีกันแล้วนั่นคือ เตรียมตัวยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2561 ในช่วงต้นปี 2562 ซึ่ง วันนี้ my home จะหยิบเฉพาะหัวข้อค่า ลดหย่อนภาษี 2561 มาให้อ่านกันก่อน
ส่วนเรื่องการคำนวณอัตราภาษีแบบขั้นบันไดและการหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นั้น เดี๋ยวพี่ฮอลล์จะสรุปมาให้อ่านกันอีกทีนะคะ เพราะยังอยู่ในหลักการเดิม มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมไม่มากนัก ส่วนเรื่องค่าลดหย่อนภาษีนั้น รัฐบาลได้อนุมัติค่า ลดหย่อนภาษี 2561 เพิ่มเติมอีกหลายประเภท จึงขอรวบรวมมาให้อ่านกันเพื่อให้เราได้ใช้สิทธิที่มีอย่างเต็มที่ค่ะ
มาเริ่มที่ความหมายของ ” ค่าลดหย่อนภาษี “ กันก่อนเลยดีกว่าค่ะมันคือ “รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว” ซึ่งมาจากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
ซึ่งหลายคนมักจะสับสนความหมายของค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายนั้นกฎหมายจะกำหนดมาให้หักตามประเภทของเงินได้ นั่นคือเราต้องรู้ว่าเรามีรายได้ประเภทไหน และรายได้ประเภทนั้นหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร ซึ่งการหักค่าใช้จ่ายนั้นจะมีทั้งหักได้แบบเหมาตามที่กฎหมายกำหนดและตามที่จ่ายจริง ซึ่งเรื่องนี้จะมาสรุปให้อ่านกันอีกที เอาล่ะมาดูกันดีกว่าว่า ค่าลดหย่อนภาษี2561 มีอะไรกันบ้างขอสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มนะคะ
กลุ่มที่ 1 : ค่าลดหย่อนกลุ่มภาระติดตัวคุณ
1.ค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาท เป็นค่าลดหย่อนสำหรับคนมีเงินได้ทุกคน ที่ยื่นแบบแสดงรายการ แค่เพียงเรายื่นแบบแสดงรายการก็สามารถใช้สิทธิค่าลดหย่อนนี้ได้เลย
2.ค่าลดหย่อนคู่สมรสจำนวน 60,000 บาทเป็นค่าลดหย่อนของคู่สมรส (ตามกฎหมาย) กรณีที่คู่สมรส (สามีหรือภรรยา) ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้และเลือกยื่นแบบแสดงรายการรวมกันในการคำนวณภาษี เราจะได้สิทธิค่าลดหย่อนส่วนเพิ่มเติมจากส่วนนี้ทันที
3.ค่าลดหย่อนบุตรจำนวน 30,000 บาท โดยคำว่า “บุตร” หมายถึง บุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ คนละ 30,000 บาท ซึ่งในกรณีที่เป็นบุตรโดยกฎหมายสามารถหักได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ในกรณีที่เป็นบุตรบุญธรรม หรือ มีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรชอบด้วยกฎหมายจะหักได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน (นับเฉพาะที่มีชีวิตอยู่) โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20
- ถ้าอายุอยู่ในระหว่าง 21-25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
- บุตรต้องมีเงินได้ในปีไม่เกิน 30,000 บาท (ยกเว้นกรณีเงินปันผล)
**โดยปี 2561 นี้ มีการ UPDATE เพิ่มตัวค่าลดหย่อนบุตร ในกรณีที่มีลูกคนที่ 2 เป็นต้นไปจะได้รับสิทธิเพิ่มอีก 30,000 บาทต่อคนรวมเป็น 60,000 บาท ถ้าใครที่มีลูกคนที่สองเป็นต้นไปตั้งแต่ต้นปี 2561 ก็จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เลยจ้า
4. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตรตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทโดยมีเงื่อนไขดังนี้
- ต้องจ่ายเป็น “ค่าฝากครรภ์” และ “ค่าคลอดบุตร”
- จำนวนเงินสูงสุดต่อครรภ์ คือ 60,000 บาท
- ถ้าจ่ายสำหรับการคลอดบุตรคนเดิม แต่จ่ายมากกว่า 1 ปี (ท้องปีนี้ คลอดปีหน้า) ให้ลดหย่อนตามปีที่ใช้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท
- ใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
5. ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่เราและพ่อแม่คู่สมรส คนละ 30,000 บาท ถ้าหากเราหรือคู่สมรสมีคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท เราก็จะมีสิทธิหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูได้คนละ 30,000 บาท นั่นหมายความว่าถ้าเราเลี้ยงดูถึง 4 คนก็จะได้รับสิทธิสูงสุดถึง 120,000 บาท เลยทีเดียว แต่มีเงื่อนไขนิดนึงในกรณีของพ่อแม่ของคู่สมรสที่จะนำมาลดหย่อนนั้น เราจะสามารถนำมาลดหย่อนได้ใน กรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้เท่านั้นนะคะ
สำหรับเรื่องเอกสารหลักฐานนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือรับรอง (แบบ ลย.03) ว่าลูกคนไหนเป็นคนเลี้ยงดู และสิทธิในการเลี้ยงดูนั้นจะสามารถใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียว เช่น พี่น้องสองคน คนโตใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อ คนเล็กก็ไม่สามารถใช้สิทธิเลี้ยงดูพ่อแล้ว สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะแม่ หรือถ้าคนโตใช้สิทธิทั้งคุณพ่อคุณแม่ ลูกคนเล็กก็ไม่มีสิทธิแล้วค่ะ
6. ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือคนทุพพลภาพ จำนวน 60,000 บาท ถ้าหากเราเป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือคนทุพพลภาพที่มีใบรับรองแพทย์ เราสามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่นำมาลดหย่อนนั้นต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วย
และในกรณีที่คนพิการหรือคนทุพพลภาพเป็น พ่อแม่ – บุตร – คู่สมรส ของเรา เราสามารถใช้สิทธิได้ทั้งสองส่วนครับ เช่น คู่สมรสไม่มีรายได้และพิการ ก็จะสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาทครับ (มาจาก 60,000 + 60,000 บาท)
กลุ่มที่ 2 : ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
กลุ่มนี้จะเป็นค่าลดหย่อนที่ให้เพิ่มสำหรับกรณีที่มีการจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่างหรือเป็นมาตรการของรัฐที่อยากกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น ดังนี้
1.ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท ที่เราจ่ายไปเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดเพื่ออยู่อาศัย โดยสามารถหักได้ตามที่จ่ายไปจริง และในกรณีที่เป็นการกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ตัวอย่างเช่น หากมีการกู้ร่วมกัน 2 คน จะถือว่าดอกเบี้ยที่สามารถใช้สิทธิได้คือ 100,000 และแต่ละคนจะใช้สิทธิหักลดหย่อนได้สูงสุดคนละ 50,000 บาท อย่าลืมว่า การใช้สิทธิสำหรับกรณีนี้จะบ้านกี่หลังก็ได้ แต่สูงสุดรวมกันแล้วจำนวนเงินต้องไม่เกิน 100,000 บาท
2. ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้เพิ่มสำหรับกรณีคนทำธุรกิจที่มีการจ่ายค่าธรรมเนียมในการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตตั้งแต่ช่วง 1 พ.ย. 2559 – 31 ธ.ค. 2564 ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ประเภทที่ 5-8 (ค่าเช่า วิชาชีพอิสระ รับเหมา และ ธุรกิจอื่น ๆ ) จำนวนไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์นี้
3. ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวไทย ( 55 จังหวัดเมืองรอง) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาท สำหรับค่าลดหย่อนตัวนี้เป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยให้สิทธิตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ซึ่งลดได้เฉพาะส่วนที่เป็นค่าทัวร์ ค่าที่พัก เหมือนเดิมกับกฎหมายเก่า เพิ่มเติมขึ้นมาอยู่ 2 เรื่องนั่นคือ สามารถใช้จ่ายเป็นค่าที่พักกับโฮมสเตย์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการท่องเที่ยว กับเงื่อนไขคือไม่ครบทั่วไทย ได้แค่กลุ่มเมืองรอง 55 จังหวัดเท่านั้นคืออะไรจังกวัด นครศรีธรรมราช อุดรธานี เชียงราย ลพบุรี พิษณุโลก สุพรรณบุรี อุบลราชธานี นครนายก หนองคาย สระแก้ว เลย ตาก ตราด เพชรบูรณ์ จันทบุรี มุกดาหาร นครสวรรค์ ราชบุรี สมุทรสงคราม บุรัมย์ ชัยภูมิ พัทลุง ตรัง ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี สตูล ชุมพร สุโขทัย สุรินทร์ สกลนคร ลำพูน นครพนม อุตรดิตถ์ ระนอง ลำปาง ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ ชัยน่าน น่าน อ่างทอง มหาสารคาม กำแพงเพชร อุทัยธานี นราธิวาส ยะลา พะเยา บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร สิงห์บุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และปัตตานี
4. เงินลงทุนในธุรกิจ Startup 100,000 บาทสำหรับตัวนี้เป็นการสนับสนุนเพ่ิมเติมสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังฮอตฮิตครับ ซึ่งคำว่า ธุรกิจ Startup ที่ว่านี้ หมายถึง
5. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งมีทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ตลอดช่วงเวลาที่เราลงทุนในธุรกิจนั้น
6. ประกอบธุรกิจอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของ สวทช. และผ่านการรับรองจากทาง สวทช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีรายได้จากการประกอบกิจการในส่วนนี้รวมกันไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมด
โดยสิทธิลดหย่อนภาษีนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งถ้าในปีไหนที่เรามีการลงทุนก็สามารถใช้สิทธิในปีนั้น ๆ
ตามไปดูอีก 3 กลุ่มหน้าถัดไปเลยค่ะ