ความงามในความคลุมเครือของ “แบบบ้านปูนเปลือย ” หลังนี้
“อะไรที่ทำให้เราเชื่อว่า ‘บ้าน’ ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ผมไม่เชื่อเท่าไร แต่ผมเชื่อว่าด้วยความเป็นมืออาชีพของสถาปนิก บ้านที่สร้างขึ้นก็คือการปรับแต่งรูปแบบการอยู่อาศัยโดยตัวสถาปนิกนั่นเอง”
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: SO Architect
คุณโอ๋ – อุกฤษ ยี่สารพัฒน์ เจ้าของบ้านเอ่ยถึงแนวคิดเรื่องการสร้างบ้านของเขาระหว่างที่พาเราเดินดูรอบๆ บ้านซึ่งตั้งอยู่บนถนนชมดอยอันเงียบสงบ ผิดจากถนนนิมมานเหมินท์อันแสนคึกคักที่อยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่ร้อยเมตร พื้นที่เดิมของบ้านหลังนี้เคยเป็นทุ่งโล่งๆ ที่ชาวบ้านแถวนี้ใช้เป็นทางลัดในการสัญจรจนเกิดเป็นร่องรอยที่เห็นได้ชัดเจน “พอคิดจะทำบ้านก็เลยอยากจะคงสิ่งนี้เอาไว้อยากทำสถาปัตยกรรม ที่พอสร้างเสร็จแล้วชาวบ้านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราได้ทำอะไรเพิ่มลงไปในพื้นที่ ทั้งการปล่อยให้วัชพืชขึ้นตามธรรมชาติ และความตั้งใจที่จะเปิดพื้นที่ให้เข้า – ออกได้แบบสาธารณะทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดบ้านหลังนี้ขึ้น” แบบบ้านปูนเปลือย
คุณตี๋ – ณรงค์ โอถาวร สถาปนิกผู้ออกแบบอธิบายถึงแก่นความคิดในการสร้างบ้านหลังนี้ “ก่อนจะเริ่มสร้างบ้านหลังนี้ เราก็พูดคุยกันมาประมาณ 4 – 5 ปีแล้ว ตอนนั้นโอ๋กำลังสนใจเรื่อง Fuzzy Logic (ตรรกศาสตร์คลุมเครือ) ซึ่งก็คล้าย กับเรื่อง Chaos Theory (ทฤษฎีความอลวน)ที่เราสนใจอยู่ ซึ่งทั้งสองหลักการนี้สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้” คุณตี๋เท้าความให้เราฟังก่อนจะอธิบายต่อไปว่า “Chaos Theory กล่าวถึงลักษณะพฤติกรรมที่เป็นพลวัตร คือเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจดูเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นระเบียบ แต่แท้จริงแล้วในพฤติกรรมนั้นก็มีแบบแผนหรือระเบียบควบคุมอยู่อีกที โดยในที่นี้ Fuzzy Logic ก็เป็นเหมือนสิ่งที่เข้ามาจัดการกับความอลวนตรงนั้นให้ชัดเจนขึ้นเราคิดว่าเจ๋งดีนะ”
เมื่อพูดมาถึงตรงนี้เราคงทำหน้างงๆ คุณตี๋จึงอธิบายเพิ่มเติมว่า “เอาง่ายๆ อย่างคำว่า ‘บ้าน’ แค่ไหนถึงจะเป็นบ้าน เราตั้งใจให้บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนความเป็นสาธารณะ พร้อมๆ กับที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของบ้าน หรืออย่างสวนที่เรากับโอ๋ตั้งใจปล่อยให้วัชพืชขึ้น ซึ่งก็ดูเหมือนจะรก แต่มันคือความงามที่เป็นธรรมชาติ และจะถูกจัดระเบียบได้เองผ่านการสัญจรที่ทำให้วัชพืชเหล่านั้นไม่รกออกมาในพื้นที่ที่ถูกใช้งาน นี่คือนิยามของบ้านหลังนี้ แต่ทั้งนี้การออกแบบก็ยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของ Chaos Theory และ Fuzzy Logic การใช้งานของเจ้าของบ้านและเวลาจะเป็นตัวกำหนดความเป็นไปของบ้าน และทำให้บ้านสมบูรณ์ได้เองในท้ายที่สุด” นั่นทำให้เราเริ่มเข้าใจแนวคิดในการสร้างพื้นที่ซึ่งเรียกได้ว่า “ไม่คุ้นชิน” แต่ “น่าใช้” และ “ลงตัว” ตามที่คุณโอ๋อยากให้เป็นทางเข้าของบ้านหลังนี้ซ่อนตัวอยู่ในซอกด้านข้างอาคารที่พาเราเดินเข้าไปสู่สวน ก่อนนำเข้าสู่บริเวณห้องนั่งเล่นของตัวบ้าน สังเกตได้ว่าบ้านหลังนี้จะเน้นการเผยพื้นผิวของวัสดุให้เห็นอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นอิฐบล็อกหรือปูนเปลือย ด้วยความที่คุณโอ๋ต้องการให้วัสดุ “เป็นอย่างที่มันเป็น”
ห้องรับแขกของบ้านหลังนี้จึงเป็นโถงสูงที่ใช้งานร่วมกันได้หลายฟังก์ชัน ไม่ว่าจะเป็นทำงานรับประทานอาหาร ทำครัว หรือแม้แต่สังสรรค์ “ผมชอบที่ตรงนี้เป็นเหมือนพื้นที่ Festiveของบ้าน คือเวลาที่เพื่อนมาเยอะๆ โต๊ะยาวตัวนี้ก็เรียกได้ว่าเหมาะทีเดียวครับ แต่เวลาอยู่กับแฟนหรืออยู่คนเดียว ผมก็มานั่งกินอะไรตรงนี้เหมือนกัน” อีกห้องหนึ่งที่ตั้งอยู่ชั้นล่างบริเวณด้านหลังก็คือห้องทำงานของคุณโอ๋ “จริงๆ ผมชอบพื้นที่เล็กๆแค่นี้ แต่ด้วยความที่เป็นบ้านก็เลยมีพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเข้ามา ถ้าถามว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นของผมจริงๆก็คงเป็นห้องนี้ การออกแบบชั้นล่างจะทำให้เหมือนจมลงไปในพื้นที่ครึ่งระดับ ในส่วนนี้มีทั้งการถมดินและขุดลงไปเล็กน้อย เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวโดยไม่ต้องมีฉากกั้น”เมื่อขึ้นไปบนชั้นสองจะพบกับห้องนอนของคุณโอ๋กับแฟน ก่อนที่จะเป็นห้องน้ำที่เน้นความโล่งและเปิดรับวิวจากภายนอก ภายในห้องนอนใช้กระจกบานใหญ่ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ โดยออกแบบให้มีผนังภายนอกอีกชั้นหนึ่ง จึงทำให้ห้องนอนมีแสงเข้ามาอย่างพอดี ไม่ร้อนจนเกินไปทั้งยังได้รับแสงลักษณะนี้ตลอดทั้งวันผ่านการสะท้อนของผนังภายนอก จึงไม่รู้สึกว่าบ้านทึบตันด้วยระยะห่างระหว่างผนังกับบานกระจกด้านข้างห้องนอน ยังเป็นทางออกไปสู่ดาดฟ้าซึ่งมีลักษณะคล้ายอัฒจันทร์
อัฒจันทร์ “ตรงนี้ตั้งใจให้เป็นพื้นที่สังสรรค์กับเพื่อนๆ ยิ่งถ้าเป็นฤดูหนาวที่เชียงใหม่ก็น่าจะออกมาปิ้งบาร์บีคิวกันใช่ไหมล่ะครับ” คุณโอ๋เล่าให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม บ้านหลังนี้มักปล่อยให้วัสดุเป็นไปตามธรรมชาติ เช่น ปล่อยให้วัชพืชเติบโต หรือแม้แต่ปล่อยให้เกิดรอยสนิมขึ้นบนบานประตูเหล็กตรงทางเข้าบ้าน สิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นข้อบกพร่องหากเลือกมองผ่านภาพจำเดิมๆ แต่คุณโอ๋กลับมองต่างออกไป “คนก็ถามนะว่าใช้กระจกเยอะๆ จะเป็นอะไรไหม กระจกอยู่ใกล้พื้นจะมีรอยมีคราบเยอะไหมคราบสนิมตรงนี้จะจัดการอย่างไร ยิ่งส่วนที่เป็นหญ้าเป็นวัชพืชนี่ถามบ่อยเลยว่าไม่ปลูกอะไรหน่อยหรือ สิ่งที่เราคิดก็คือ ทำไมจะไม่ได้ล่ะ บ้านหลังนี้มีคำว่า Why not มากกว่าคำว่า Why มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ถ้าจะใช้กระจก มันจะไม่ใส มันจะมีคราบบ้าง ก็จะเป็นไรไป เพราะก็ยังปิดกั้นอากาศได้เหมือนเดิม มองผ่านได้เหมือนเดิม แล้วร่องรอยพวกนี้ก็ดูเป็นเรื่องสวยงามได้เหมือนกัน ดีเสียอีกจะได้ไม่รู้สึกเกร็งมาก ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติบ้าง มันก็อยู่ที่วิธีมอง เพราะสเปซที่ดีของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น บ้านหลังนี้มีอะไรแบบนี้อยู่เยอะ แต่ถ้าใครได้ลองมาอยู่ก็จะพบว่าจริงๆมันก็ดีเหมือนกันนะ”
ความประทับใจอีกอย่างที่เรามีต่อบ้านหลังนี้ก็คือเรื่องของ “แสง” เพราะบ้านหลังนี้มีเสน่ห์ที่เปลี่ยนไปตามเวลาไม่ว่าจะเป็นยามเช้าที่มีแสงแดดอ่อนๆ สาดเข้ามาภายในบ้านเพื่อปลุกความกระปรี้กระเปร่า แสงแดดยามบ่ายที่ทอดผ่านแมกไม้ลงมาในแต่ละบริเวณ หรือแสงเย็นที่เกิดเป็นลำแสงสร้าง ปรากฏการณ์อันน่าสนใจยามตกกระทบผนังกระจกในห้องนอน สิ่งเหล่านี้ล้วนผ่านการออกแบบมาอย่างใส่ใจแทบทั้งสิ้น “ด้วยความที่เป็นคนชอบให้แสงมีลำดับของการเข้าถึงพื้นที่แบบที่ไม่ได้สว่างจนเกินไป แสงจึงมักจะเข้ามาสู่ภายในบ้านในรูปแบบที่ต่างกัน” และสิ่งนี้ก็ทำให้บ้านมีบรรยากาศที่หลากหลาย แม้จะเป็นมุมเดียวกัน ที่เห็นได้เด่นชัดก็คือในห้องนั่งเล่นที่แต่ละช่วงเวลามีบรรยากาศแทบไม่ซ้ำกันเลย
เจ้าของ : คุณอุกฤษ ยี่สารพัฒน์, คุณหฤทัย วงค์นาง
ออกแบบ : คุณณรงค์ โอถาวร
เรื่อง:“วุฒิกร สุทธิอาภา”
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล
เรื่องที่น่าสนใจ