อิฐโบราณทำมือฝาแฝดที่พลัดพรากของอิฐมอญ
ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมานี้จังหวัดอ่างทอง เป็นจังหวัดที่ผมเดินทางไปมาหาสู่บ่อยมากอันเนื่องมาจาก มาหาบ้านสวยๆเพื่อนำมาลงให้คุณผู้อ่านที่รักได้ชื่นชมกัน ทำให้ได้รู้จักกับอิฐโบราณฝาแฝดของอิฐมอญที่คล้ายกันมาก แต่ก็มีความแตกต่างอยู่หลายอย่างด้วยกัน
อิฐโบราณ
จังหวัดอ่างทองนอกจากจะมีวัดสวยๆให้เที่ยวชมอย่างเช่นวัดไชโย วัดม่วงแล้ว ยังมีศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ หมู่บ้านทำกลองยาวอันมีชื่อเสียงของอ่างทองอยู่หลังตลาดป่าโมก มีอีกอย่างที่ผู้คนทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบคือ ที่จังหวัดอ่างทองนี้ขึ้นชื่อมากในเรื่องของการทำอิฐโบราณประดับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เพราะเชื่อกันว่าดินจากท้องนาที่จังหวัดอ่างทองนั้นดีและเหมาะกับการทำอิฐมากที่สุด อิฐโบราณ
จังหวัดอ่างทองถือได้ว่าเป็นแหล่งซื้อขายอิฐประดับที่ใหญ่ระดับต้นๆของประเทศเลย ไม่ว่าใครจะอยู่ภาคไหนของประเทศล้วนต้องสั่งซื้ออิฐจากที่ จ.อ่างทองทั้งนั้น และเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอิฐกว่าสี่สิบโรงเลยทีเดียว มาอ่างทองคราวนี้ผมเลยถือโอกาสพาคุณผู้อ่านมาเยี่ยมชมโรงงานผลิตอิฐโบราณทำมือกันครับ อยู่ที่อำเภอเมืองอ่างทองนี่เอง เป็นโรงงานเก่าแก่กว่า 70 ปีที่ส่งต่อมาถึงทายาทรุ่นที่ 3 และกำลังจะส่งต่อรุ่นที่ 4ในลำดับต่อไป คือบริษัทโรงงานทำอิฐ ม.อ.ท.1 เมืองอ่างทอง จำกัด
คุณอุไร บุญประดับ ทายาทรุ่นที่ 3 เล่าให้ฟังว่า “ในสมัยก่อนนั้นที่ยังไม่มีเครื่องจักรอย่างปัจจุบันนี้เวลาจะนำดินเหนียวจากท้องนามาใช้ต้องใช้จอบตะกุยดินเข้ากองแล้วฉีดน้ำจากนั้นก็จะใช้คนย่ำ เมื่อได้ความเหนียวเนียนที่ต้องการแล้ว นำมาคลุกเคล้ากับแกลบและกรวดซึ่งทั้งสองสิ่งนี้คือส่วนผสมหลักในการทำอิฐโบราณประดับ ดินท้องนาที่นำมาทำอิฐนั้นเป็นดินชนิดเดียวกันกับที่นำมาทำบ้านดิน
การทำอิฐในสมัยก่อนลำบากมาก ปัจจุบันเริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทุ่นแรงทำให้ประหยัดเวลาในการผสมและนวดดิน เมื่อก่อนนี้เมื่อนำดินอัดใส่บล็อกแล้วต้องตากที่ลานตากไม่มีหลังคาวันดีคืนดีฝนตกวิ่งเก็บกันวุ่นวาย ภายหลังจึงทำเป็นโครงหลังคาเปลี่ยนจากตากแดดมาเป็นผึ่งลมแทนต้องใช้เวลานานกว่าตากแดด” ที่โรงงานนี้ไม่ได้ทำแค่อิฐโบราณประดับอย่างเดียว ยังมีอิฐโชว์ลายต่างๆไม่ว่าจะเป็นลายบานชื่น ลายเอส ลายมะลิ ลายการบินซึ่งเป็นงานที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นแรกๆของการสร้างโรงงาน หากแต่ว่าการทำอิฐโบราณประดับทำมือนั้นเป็นการนำความรู้ที่ได้จากการทำอิฐมอญมาปรับเปลี่ยนและประยุกต์ขึ้นมาใหม่เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งสวยงามกว่าอิฐมอญ ถือว่าเป็นการพัฒนาและต่อยอดทางความคิดที่ดีทีเดียว
มาดูกันครับว่าเค้ามีขั้นตอนการผลิตอิฐโบราณประดับทำมือกันอย่างไร
- เริ่มจากนำดินที่ผ่านการคลุกเคล้าและผสมแกลบแล้วมาใส่ลงไปในบล็อกแล้วปาดให้เรียบ
- นำไปวางบนลานกว้างที่จัดพื้นที่ไว้สำหรับตากดินที่ขึ้นรูปแล้ว ทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 1 อาทิตย์ จึงนำไปเข้าเตาเผาสุมรุมด้วยฟืนเพื่อไล่ความชื้นไปประมาณ 15 วัน
- จากนั้นรอให้อิฐที่เผาไฟเสร็จแล้วเย็นจึงนำออกจากเตาเผาเพื่อรอส่งจำหน่าย
เป็นวิธีการทำที่ฟังดูแล้วว่าง่ายแต่พอลองทำจริงแล้วจะรู้ว่าแต่ละขั้นตอนนั้นต้องใช้เวลาในการทำพอสมควรทีเดียว รูปแบบของอิฐโบราณนี้จะคล้ายกับ อิฐมอญ มากขั้นตอนการทำก็คล้ายกันจะต่างกันก็ตอนเผา เพราะอิฐมอญจะเผาด้วยแกลบเวลาและอุณหภูมิที่ใช้ในการเผาก็จะต่ำกว่าเหมาะที่จะนำไปเป็นอิฐก่อฉาบมากกว่าที่จะนำมาเป็นอิฐโชว์ ส่วนอิฐโบราณประดับนั้นจะเผาด้วยฟืน ด้วยอุณหภูมิที่สูงใช้เวลาการเผานานกว่า คุณสมบัติพิเศษจะมีความแกร่งของอิฐมากกว่าอิฐมอญ มีพื้นผิวที่เป็นธรรมชาติเหมาะมากกับการนำมาก่อเพื่อโชว์พื้นผิวเพิ่มเสน่ห์และสไตล์ให้กับบ้านแสนรักของคุณ และถ้าหากคุณกำลังมองหาแหล่งอิฐประดับไม่ว่าจะโชว์แนว โชว์ลาย เพื่อบ้านของคุณแนะนำที่จังหวัดอ่างทองเลยครับไม่ผิดหวัง
ขอบคุณ
โรงงานบริษัทโรงงานทำอิฐ ม.อ.ท.1 เมืองอ่างทอง จำกัด
คุณชัชวาล – คุณอุไร บุญประดับ
โทร. 035 611730 , 08 1907 9679
เรื่อง : ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
ภาพ : ธนกิตต์ ขำอ่อน
เรื่องที่น่าสนใจ